องค์กร กำหนดราคาน้ำมัน โลก

ทำความเข้าใจราคาน้ำมันดิบอ้างอิง
ที่มาที่ไป BRENT WTI และ DUBAI


น้ำมัน ทรัพยากรล้ำค่าจากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตใต้ผิวดิน เป็นวัตถุดิบและพลังงานสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนการขนส่งสินค้าภายในและระหว่างประเทศ ท่ามกลางอุปสงค์ของผู้บริโภคทั่วโลก น้ำมันกลับถูกผลิตได้ในพื้นที่และปริมาณที่จำกัด ดังนั้น หากอุปทานเกิดความแปรปรวนจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ เศรษฐกิจโลกย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

          ในช่วงปีที่ผ่านมา มีปัจจัยหลายอย่างทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมาก กลายเป็นที่จับตามองของคนทั่วไปเพราะกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ จึงมีข่าวเกี่ยวกับน้ำมันเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง แล้วคำที่เราได้เห็นได้ยินกันบ่อย ๆ ในข่าวอย่าง Brent WTI และ Dubai คืออะไร

ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงและแหล่งผลิต

          ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญของโลกมีอยู่ 3 ราคาตามแหล่งผลิต ได้แก่ น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) น้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)

Brent

          "น้ำมันดิบเบรนท์" มาจากแหล่งน้ำมันในทะเลเหนือที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปยุโรป ราคาน้ำมันดิบเบรนท์นิยมนำไปใช้อ้างอิงในยุโรปรวมไปถึงรัสเซีย

          คุณสมบัติของน้ำมันดิบเบรนท์คือ มีความหนาแน่นน้อย (light) และมีปริมาณกำมะถันต่ำ (sweet) เหมาะกับการนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำมันอื่น ๆ ที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก

WTI (West Texas Intermediate)

          "WTI" มาจากบ่อน้ำมันในสหรัฐอเมริกา ใช้อ้างอิงราคาน้ำมันดิบที่พบในรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก รวมถึงในทวีปอเมริกาใต้ ด้วยการเป็นราคาอ้างอิงของน้ำมันดิบที่มาจากพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ จึงมีความผันผวนไม่มาก

Dubai หรือ Oman

          "น้ำมันดิบดูไบ" ใช้อ้างอิงราคาน้ำมันดิบที่พบแถบตะวันออกกลาง และมักส่งออกในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าตั้งแต่ปี 2556 ประเทศโอมานจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ปริมาณมากกว่าดูไบ แต่ยังคงนิยมเรียกมาตรฐานราคาน้ำมันดิบในภูมิภาคนี้ว่า น้ำมันดิบดูไบ

          น้ำมันดิบดูไบเป็นน้ำมันที่มีความหนาแน่นมาก (heavy) และปริมาณกำมะถันสูง (sour) เหมาะกับการนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเตาที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันหล่อลื่น และยางมะตอย

          ความแตกต่างของราคาของน้ำมันดิบทั้งสามยังสะท้อนคุณภาพของน้ำมัน โดยในทางเทคนิคแล้วคุณภาพของน้ำมันดิบจะพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ (1) ความถ่วงจำเพาะหรือค่า API Gravity ค่ายิ่งสูงยิ่งคุณภาพดี และ (2) ปริมาณกำมะถัน ค่ายิ่งต่ำยิ่งคุณภาพดี ทั้งนี้ น้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ จัดเป็นน้ำมันดิบที่มีคุณภาพสูงเพราะมีค่า API สูง โดยทั่วไปจะเรียกน้ำมันที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ว่าน้ำมันชนิดเบา หรือ light และ มีปริมาณกำมะถันต่ำหรือเป็นน้ำมันชนิดหวาน (sweet) ทำให้น้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ถูกเรียกว่า Light Sweet Crude เหมาะกับการนำมากลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซลคุณภาพสูง ขณะที่น้ำมันดิบดูไบมีคุณภาพด้อยกว่าน้ำมัน 2 ชนิดแรก และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มน้ำมันดิบชนิดหนักปานกลางและเปรี้ยว (Medium Sour Crude) อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบ WTI มีคุณภาพดีกว่าน้ำมันดิบเบรนท์เล็กน้อย เนื่องจากมีค่า API สูงกว่า และมีค่ากำมะถันต่ำกว่า ทำให้ในอดีตราคาน้ำมันเบรนท์เคยต่ำกว่า WTI แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติตลาดน้ำมันด้วยการค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะ Shale oil ในช่วงก่อนยุค 2000s ทำให้อุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ สูงขึ้น ส่งผลให้ราคา WTI ให้ลดลง 

          ประเทศไทยซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดน้ำมันสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดหลักของเอเชีย จึงใช้ราคาอ้างอิงมาจากน้ำมันดิบดูไบ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทั้งสามมีความสอดคล้องกัน 


ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดราคาน้ำมันดิบ

          ราคาน้ำมันดิบถูกกำหนดมาจากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ (1) อุปสงค์ (2) อุปทาน และ (3) ความรู้สึกหรือความกังวล (sentiment) ของตลาด

          อุปสงค์ ปัจจัยหลักนี้เกิดจากเศรษฐกิจโลก ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์และการลดการเดินทางในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้อุปสงค์น้ำมันในช่วงนั้นลดลง และกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อมีการเปิดประเทศ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ความแปรปรวนของสภาพอากาศในปีที่ผ่านมามีผลต่ออุปสงค์ เพราะอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าสร้างความอบอุ่นมากขึ้น

          อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันเช่นกัน อาทิ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่หากแข็งค่าขึ้นอาจทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง เพราะเมื่อแปลงราคาน้ำมันจากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลท้องถิ่นแล้วจะแพงขึ้น ทั้งนี้ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐก็มีส่วน ถ้าประเทศใดมีนโยบายใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น อุปสงค์น้ำมันก็จะลดลง

          อุปทานเกิดจากผู้ผลิตน้ำมันดิบ เช่น กลุ่ม OPEC[1] และกลุ่มนอก OPEC นำโดยสหรัฐฯ และรัสเซีย ทำการเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับคาดการณ์ความต้องการของตลาด ในบางกรณี อุปทานก็ถูกกระทบจากความขัดแย้งภายในหรือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การมีเทคโนโลยีขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงก็สามารถเพิ่มอุปทานได้

          ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของหลายประเทศก็ส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ให้ออกสัมปทานและใบอนุญาตใหม่สำหรับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ

          ความรู้สึกและความกังวลของนักลงทุนในตลาด น้ำมันดิบเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางการเงินที่นำมาซื้อขายในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า (oil futures) ที่อาจไม่มีการส่งมอบน้ำมันดิบกันจริง ๆ ดังนั้น ความรู้สึกหรือความกังวลของนักลงทุน ความผันผวนในตลาดการเงิน ตลอดจนเหตุการณ์อื่น ๆ ในตลาดการเงินอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบด้วย

ผลกระทบจากราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจโลก

          ความผันผวนของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศผู้นำเข้าและส่งออกน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนจะถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการ ก่อให้เกิดเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) สูงทั่วโลก และส่งผลให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างประเทศ ก็จะมีผลต่อการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ทำให้เกิดความต่างของค่าเงินที่เพิ่มมากขึ้น

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาคือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่กำลังร้อนแรง การตัดสินใจนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ลดลงถึง 0.9% และ 1.2% ตามลำดับ จากการคาดการณ์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะชะลอการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง แต่ขณะเดียวกัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับตัวด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ไปแล้วถึง 3 ครั้ง เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ทำให้เงินทุนจากทั่วโลกไหลเข้าสหรัฐอเมริกา เงินดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าต้องเผชิญกับราคาการนำเข้าสินค้ารวมถึงน้ำมันดิบที่สูงขึ้น เงินเฟ้อของแต่ละประเทศก็สูงขึ้นตามไปด้วย

          ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน และอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต การเดินทาง และการขนส่ง ทำให้สินค้าและบริการหลายอย่างทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

 

ข้อมูลอ้างอิง :

Energy Literacy | สถาบันวิทยาการพลังงาน

วิธีการซื้อขายน้ำมัน | ThinkMarkets

มาตรการฝ่าวิกฤตราคาน้ำมัน: บทเรียนจากอดีต…ขีดเส้นสู่อนาคต | ธนาคารแห่งประเทศไทย

Brent Crude vs. West Texas Intermediate: The Differences | Investopedia

Oil prices slide 1% after U.S. Fed raises interest rates | Reuters

[1] ประกอบด้วย อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย เวเนซุเอลา ลิเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอลจีเรีย ไนจีเรีย กาบอง แองโกลา อิเควทอเรียลกินี สาธารณรัฐคองโก


Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก