เพราะเหตุใดชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล และแม่น้ํา จึงมีความเจริญได้รวดเร็ว

ระบบนิเวศที่สมบูรณ์  ทรัพยากรชายฝั่งทะเลหลากหลายที่ประกอบไปด้วย น้ำทะเล ป่าชายเลน ปะการัง หาดทราย ปลาและสัตว์น้ำชายฝั่งนานาชนิด มีบทบาทสำคัญต่อการความเป็นอยู่และการอยู่รอดของชุมชนประมงชายฝั่ง เป็นทั้งแหล่งอาหาร อาชีพประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สร้างมูลค่าให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านและสมาชิกในครอบครัว ทรัพยากรชายฝั่งจึงเป็นที่รักและหวงแหน เพราะอนาคตทั้งหมด ฝากไว้กับทรัพยากรชายฝั่งซึ่งเป็นที่พึ่งแรกและที่พึ่งสุดท้ายของชาวประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ทรัพยากรชายฝั่งยังเกื้อหนุนก่อประโยชน์เพิ่มมูลค่าในด้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนของคน “หาดเจ้าสำราญ”

รู้จักตำบลหาดเจ้าสำราญ

ตำบลหาดเจ้าสำราญ อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ตามประวัติที่เล่าขานกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาชายหาดหัวเมืองเพชรบุรีพร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า “หาดเจ้าสำราญ” 

ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลาดเอียงลงสู่อ่าวไทย มีลำคลองธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่เทศบาล 3 สาย ได้แก่ คลองบางทะลุ คลองหัวตาลและคลองใหญ่  มีถนนกั้นน้ำเค็ม 1 เส้นที่ผ่านมาจากอำเภอบ้านแหลม ผ่านตำบลหาดเจ้าสำราญไปอำเภอท่ายางจนสุดปลายทางที่ชายหาดชะอำ

           รายได้ของคนตำบลหาดเจ้าสำราญมาจากการทำนาข้าว บ่อกุ้ง นาเกลือ ประมงพื้นบ้าน และการประกอบการรีสอร์ทซึ่งมีทั้งรายย่อยรายใหญ่ที่รองรับนักท่องเที่ยว เรียงรายอยู่ตลอดริมชายหาดที่มีระยะทางราว 6 กิโลเมตร  โดยทางตอนบนของตำบลอยู่ในเขตชลประทานพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนา บ่อกุ้ง บ่อปลาและนาเกลือ ส่วนตอนล่างติดชายฝั่งทะเลจะเป็นหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงชายฝั่งขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  ทั้งอวนกุ้ง อวนปู หมึก ปลา หอย และมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 150 ไร่ จากการเก็บข้อมูลของเทศบาลหาดเจ้าสำราญ มีจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวปีละ 33,600 คน ส่วนใหญ่เข้ามาท่องเที่ยวตามปฏิทินเทศกาลต่างๆ ที่มีในพื้นที่ อาทิ เทศกาลตกหมึกช่วงเดือน 9 เทศกาลชมวาฬ (บลูด้า) ทานปูในต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นต้น   

สถานการณ์ปัญหาทรัพยากรชายฝั่งทะเล

          ตำบลหาดเจ้าสำราญ  พบปัญหาทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่ไม่แตกต่างกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอื่นๆ ของประเทศไทย คือ การลดลงของพื้นที่ป่าชายเลน และปริมาณสัตว์น้ำต่างๆ อย่างรวดเร็ว เริ่มเห็นสถานการณ์นี้อย่างประจักษ์เมื่อปี 2553 จากการสังเกตของกลุ่มชาวประมง พบว่าทั้งหมึกกล้วย แมงดา ปูม้า ปลาหน้าดิน และหอย เริ่มลดน้อยลง อันเป็นผลจากการใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างไม่ถูกวิธี การทำลายแหล่งอาศัยและแหล่งหากินของสัตว์น้ำทะเล เรือประมงพาณิชย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการจับปลามากเกินกว่าศักยภาพของธรรมชาติในการสร้างกลับคืน ประกอบกับการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองริมฝั่งทะเล ทำให้มีการปล่อยน้ำเสียและขยะจากชุมชน การทำเกษตรกรรม นากุ้ง บ่อปลาลงสู่ทะเลกันมาก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวประมงชายฝั่งเป็นอย่างมาก     

จากวิกฤตพลิกกลับด้วยการรวมกลุ่ม

          เดือนกันยายน 2555 กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ประมาณ 50 – 60 คนได้รวมกลุ่มปรึกษาหารือ ถึงปัญหาและหาทางออกให้กับตัวเอง และได้ก่อตั้งกลุ่มธนาคารปูม้า ชุมชนหาดเจ้าฯ – แหลมผักเบี้ยขึ้น โดยมีการจดแจ้งจัดตั้งกับสภาองค์กรชุมชนตำบลหาดเจ้าสำราญ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งได้อย่างเข้มข้น ควบคู่กับการสร้างอาชีพเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากปูม้าเป็นที่นิยมในหมู่คนที่ชื่นชอบบริโภคอาหารทะเล เนื้อปูม้าที่สด สมบูรณ์ คุณภาพดีจะมีเนื้อที่แน่นและมีรสหวาน

การดำเนินการของธนาคารปูม้า ชุมชนหาดเจ้าฯ-แหลมผักเบี้ย

ธนาคารปูม้าฯ ขอความร่วมมือกับชาวประมงในหมู่บ้านที่ออกเรือจับปูม้า โดยในแต่ละวันเมื่อกลับเข้าฝั่งจะต้องนำแม่ปูม้าไข่แก่นอกกระดองที่ติดมากับอวนหรือเครื่องมือประมงอื่นๆ มาบริจาคให้แก่ธนาคารปูม้าคนละ 1 ตัว แล้วนำมาปล่อยในถังที่มีออกซิเจนที่มีอยู่ทั้งหมด 53 ถัง เมื่อแม่ปูม้าสลัดไข่ ฟักเป็นตัวอ่อนก็จะปล่อยลูกปูไปตามท่อพีวีซีที่มีการต่อเชื่อมจากบ่อลงสู่ทะเลต่อไป

ปูม้าที่เหมาะสมต่อการนำมาเพาะฟักนั้นควรเป็นระยะไข่ที่มีสีเทาหรือเทาปนดำ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ไข่สุกเต็มที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน แม่ปูม้าจะสลัดไข่ และฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 1 - 2 วัน ถ้าเป็นระยะแม่ปูม้าที่มีไข่สีส้ม แสดงว่ายังเป็นไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 - 5 วัน ซึ่งชาวประมงจะเสียเวลาและสิ้นเปลืองด้านอาหารและค่าบริหารจัดการเพิ่มขึ้นในการดูแลแม่ปูม้า

แม่ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว จะมีตัวอ่อนลูกปูประมาณ 250,000 ถึง 2,000,000 ล้านตัวต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของไข่ที่แม่ปูแต่ละตัวมีอยู่ เคยมีการศึกษาวิจัยพบว่าไข่ปูม้า 1 กรัม มีปริมาณไข่ประมาณ 22,030 ฟอง

เนื่องด้วยธนาคารปูม้ามีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมือในการอนุบาลลูกปู เมื่อแม่ปูปล่อยตัวอ่อนแล้ว ไม่สามารถอนุบาลได้เกิน 1 วัน จำเป็นต้องปล่อยตัวอ่อนลงสู่ทะเลเลย ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการธนาคารปูม้าจึงได้ประสานความร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม ในการดำเนินการอนุบาลลูกปูม้าให้สามารถมีอายุครบ 30 วัน เป็นลูกปูม้าวัยอ่อนซึ่งเมื่อปล่อยลงสู่ทะเลแล้วจะมีอัตรารอดสูงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากขับเคลื่อนธนาคารปูม้าแล้ว ทางกลุ่มได้ขยายผลสู่การทำ “ซั้งกอ” ธนาคารปลา เป็นอีกกิจกรรมของทางกลุ่มในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล

รู้จัก “ซั้งกอ” ธนาคารปลา

"ซั้ง" เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่อดีต เป็นอุบายดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่รวมกันเป็นจํานวนมาก เพื่อความสะดวกในการจับ หรือทําการประมง โดยการนําซั้งกอหรือทุ่นปะการังเทียมไปทิ้งไว้ในทะเล เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก ให้มีโอกาสได้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณ และยังสามารถช่วยป้องกันเรือประมงขนาดใหญ่ เข้ามาทำการประมงในเขตบริเวณชายฝั่ง ด้วยส่วนประกอบหลักๆ ที่ขาดไม่ได้มีอยู่ 4 อย่าง คือ ไม้ไผ่ เชือก ทางมะพร้าว และหินหรือกระสอบทรายหรือปูน ส่วนระดับความลึกนั้น  จุดที่เหมาะสมไม่ควรลึกเกิน 10 เมตร เพราะเป็นระดับที่พอดี หากลึกเกินไปจะทำให้ไม้ไผ่ทั้งลำที่เตรียมมา จมมิดลงไปใต้น้ำ ทำให้ชาวประมงที่มาจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นมองไม่เห็นว่ามีซั้งกออยู่ เมื่อวางอวนหรืออุปกรณ์จับสัตว์น้ำลงไปแล้วอาจจะเสียหายได้

การทำซั้งกอเริ่มจากบั้งท่อนไม้ไผ่ให้เป็นรูทุกๆปล้อง เพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในปล้องไม้ไผ่ จะได้จมง่าย อีกคนใช้เชือกไนล่อนยาว 2 - 3 เมตร ผูกกับโคนไม้ไผ่ ส่วนอีกปลายหนึ่งของเชือกผูกกับหินถ่วงกระสอบทราย แล้วนำทางมะพร้าวจำนวน 2 กิ่งมามัดตรงกลางลำไม้ไผ่ เมื่อเสร็จแล้วจะช่วยกันยกซั้งกอทิ้งลงน้ำ น้ำหนักของหินถ่วง กระสอบทรายจะดึงรั้งไผ่ทั้งลำดิ่งลงสู่ก้นทะเลในลักษณะตั้งตรงกับพื้น ส่วนทางมะพร้าวที่ผูกไว้กลางลำไผ่จะแผ่ออก ภาพของซั้งใต้น้ำจะมีลักษณะคล้ายต้นไม้ มีกิ่งใบ ใช้เป็นที่พักอาศัยของปลานานาชนิด

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

หลังจากที่ได้กิจกรรมเหล่านี้มาได้ระยะหนึ่ง พบว่ามีปริมาณปูม้าเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านสามารถวางอวนจับปูได้ทุกวัน จนเกิดเป็นอาชีพเสริมของชาวประมงอีกช่องทางหนึ่ง เมื่อมาลองคำนวณด้านเศรษฐกิจง่ายๆ ถ้าอัตราการรอดของลูกปูม้าที่ถูกปล่อยลงทะเลอยู่ที่ร้อยละ 1 จะได้ปริมาณปูม้าในทะเลเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,500 - 10,000 ตัวต่อแม่ปูม้า 1 ตัว ถ้ามีแม่ปูไข่นอกกระดอง 30 ตัวต่อเดือน หรือ 360 ตัวต่อปี จะเพิ่มประชากรปูม้าให้กับท้องทะเลได้ประมาณปีละ 600,000 - 7,200,200 ตัว และถ้าชาวประมงจับปูม้าเพื่อขายอยู่ที่ 6 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม และกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวประมงจะมีรายได้จากปูม้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี เป็นดังคำกล่าวที่ว่า “ปล่อยหนึ่ง เกิดแสน กินใช้อย่างยั่งยืน” และคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การที่ทางกลุ่มได้ปล่อยซั้งกอไปจำนวน 300 ต้น ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทั้งปลาอกกะแล้ หมึกกล้วย หมึกกระดองลายเสือ หมึกสาย หมึกหอม หอยกุ๋งกิ๋ง ปูม้า กุ้ง เป็นต้น ชาวประมงหลายรายสามารถตกหมึกได้คืนละกว่า 100 กิโลกรัม ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 110 บาท สามารถสร้างรายได้กว่า 10,000 บาท และขยายสู่การท่องเที่ยวโดยนำเรือรับจ้างพานักท่องเที่ยวออกไปตกหมึก เพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงอีกทาง         จะเห็นได้ว่า การปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเล นอกจากสร้างความมั่นทางระบบนิเวศ  ความมั่นคงทางอาหาร แล้วยังสร้างความมั่นคงในอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพี่น้องเครือข่ายอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง  เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งในร่วมปกป้องทรัพยากรชายฝั่งทะเลควบคู่เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน

ผู้ประสานงาน นางสาวอมรรัตน์   อินทร์มี  โทร. 095-7981089

ผู้เรียบเรียง นางสาวพัชราภรณ์  อยู่ยืน

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก