ข้อ ใด กล่าว ถูก ต้อง เกี่ยวกับ พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ ประเทศไทย

ลักษณะทั่วไปของพายุเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย (Tropical cyclone in Thailand)

พายุหมุนเขตร้อนเป็นคำทั่ว ๆ ไปที่ใช้สำหรับเรียกพายุหมุนหรือพายุไซโคลน (cyclone) ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ แต่อยู่นอกเขตบริเวณเส้นศูนย์สูตร เพราะยังไม่เคยปรากฏว่ามีพายุหมุนเขตร้อนเกิดที่เส้นศูนย์สูตรพายุนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทร หรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26 ํซ. หรือ 27 ํซ. ขึ้นไป และมีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก พายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด บริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ทางตะวันตกของลองจิจูด 170 ํ ตะวันออก เมื่อมีกำลังแรงสูงสุด เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม

  • มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" เกิดมากในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม
  • มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน"
  • บริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ อ่าวเบงกอล เรียกว่า "ไซโคลน"
  • บริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ ทะเลอาระเบีย เรียกว่า "ไซโคลน"
  • มหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกของลองจิจูด 90 ํ ตะวันออก เรียกว่า "ไซโคลน"

พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไป โดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด

ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ซึ่งในย่านมหาสมุทรแปซิ-ฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้

  • พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กม./ชม.)
  • พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กม./ชม.) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กม./ชม.)
  • ไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กม./ชม.) ขึ้นไป

พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย

พายุหมุนเขตร้อนมักเกิดบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือในทะเลจีนใต้ ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน  แต่โดยมาก พายุนี้มักอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นหรือสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเสียก่อน เนื่องจากพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่แผ่นดินจะอ่อนกำลังลงเมื่อปะทะกับลักษณะภูมิประเทศเทือกเขาสูงแถบประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเทือกเขาชายแดนของประเทศไทยเสียก่อน

แต่ก็อาจมีพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในเขตมหาสมุทรอินเดียได้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ค่อยพบว่าเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบ่อยมากนัก หรือที่เคลื่อนเข้ามาก็มักอ่อนกำลังลงมาก เนื่องจากพายุพัดผ่านสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย มีแนวเทือกเขาสูงชัน ทอดตัวยาวตลอดแนว ซึ่งเป็นแนวกันพายุได้ดี  ส่วนทางด้านภาคใต้ ฝั่งทิศตะวันออกไม่มีแนวกำลังดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายจากพายุได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม  ตัวอย่างเช่น พายุใต้ฝุ่นเกย์ ที่พัดเข้าทางด้านภาคใต้ทางด้านฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ทำให้เกิดความเสียหายกับภาคใต้ฝั่งตะวันออกเป็นอย่างมาก

โดยทั่วไปประเทศไทยมักจะได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นมากที่สุด โดยเฉลี่ยปีละ 3 – 4 ลูก  สำหรับการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทยโดยปกติ มักเกิดในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จนถึงเดือนตุลาคม โดยอาจเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย หรือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ดังนี้
1.ช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนเข้าฤดูฝนอาจจะมีพายุไซโคลนจากอ่าวเบงกอล เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านทิศตะวันตก ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันตกของประเทศ
2. ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน อาจจะมีพายุใต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกพัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน
3. ช่วงเดือนกันยายน ถึง ปลายเดือนตุลาคม อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้พัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันออก ภาคกลางภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมทั้งเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
4. สำหรับช่วงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคม มักจะมีความกดอากาศต่ำในตอนล่างของทะเลจีนใต้พัดผ่านเข้ามาในอ่าวไทย ทำให้มีผลกระทบต่อภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก