อะไร คือ สาเหตุ ที่ทำให้ อยุธยากับบริษัท อินเดีย ตะวันออก ของอังกฤษ มีความขัดแย้ง กัน

อดรหัส "ลัทธิจักรวรรดินิยมกับความสำคัญของเมืองจันทบุรี"

     ยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะได้ยินคำว่า "การเข้าครอบครอง" "การเข้าครอบงำ" "การเข้ายึดครองกิจการ" ของต่างชาติ คำต่างๆ เหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงลัทธิจักรวรรดินิยมยุคใหม่ที่คืบคลานเข้ามายึดครองทางด้านเศรษฐกิจแทนการเข้ายึดครองดินแดนซึ่งเป็นของล้าสมัย ถามว่าจุดมุ่งหมายของชาติมหาอำนาจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเหมือนเดิมหรือไม่ คำตอบคือ เหมือนเดิมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติตนเป็นหลัก เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกเท่านั้น
     ลัทธิจักวรรดินิยม คือ การขยายอิทธิพลของชาติหนึ่งเข้าครอบครองดินแดนของอีกชาติหนึ่งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ลัทธิจักรวรรดินิยม เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อประเทศในยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม จำเป็นต้องแสวงหาวัตถุดิบ แหล่งลงทุนตลาดการค้า นอกจากนี้ต้องการแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชาชน พร้อมทั้งต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ เพื่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติตน
     ฝรั่งเศสเป็นชาติหนึ่งในหลายชาติที่เข้ามาแสวงหาอาณานิคมและยึดครองดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดครอง คือ อินโดจีน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับไทย เนื่องจากความไม่แน่นอน และความไม่ชัดเจนในเรื่องเขตแดน หรืออาจจะเป็นความจงใจของฝรั่งเศสที่ต้องการขยายดินแดนให้ได้มากขึ้น จึงทำให้ไทยกับฝรั่งเศสเกิดความขัดแย้งกัน เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรีเป็นประกัน เพื่อให้ไทยปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส คำถามที่ตามมาคือ ทำไมฝรั่งเศสไม่ไปยึดเมืองอื่นเป็นประกัน ทำไม่ต้องยึดเมืองจันทบุรี คำตอบที่พอสันนิษฐานได้คือ เมืองจันทบุรีต้องเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด พอที่จะบีบบังคับให้ไทยยอมปฏิบัติตามคำขาดของฝรั่งเศสได้ บทความนี้จะพาท่านถอดรหัสและวิเคราะห์ว่าเมืองจันทบุรีมีความสำคัญอย่างไร
          1. ความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์  เมืองจันทบุรีมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์เป็นเมืองที่คอยระวังป้องกันการโจมตีของญวน อันมีสาเหตุมาจากเขมร เป็นเมืองที่คอยส่งเสบียงอาหารและเรือรบไปสมทบกองกำลังในการสกัดกั้นญวน ดังปรากฎหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนปลายเมืองจันทบุรีเป็นเมืองที่ใช้เป็นอู่เรือที่สำคัญ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรวบรวมพลพร้อมทั้งต่อเรือรบประมาณ 100 ลำ ในการกอบกู้เอกราชจากพม่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองจันทบุรีมีความสำคัญในการสกัดกั้นญวน เนื่องจากได้เกิดความตึงเครียดระหว่างไทยกับญวน คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ญวนได้ขอเมืองพุทธมาศจากไทย สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ญวนเอาเขมรไปเป็นเมืองขึ้น จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนต้น ญวนเอาเขตแดนเมืองเวียงจันทน์ไปอีก จึงทำให้ไทยหมดความอดทน ใน พ.ศ. 2376 ญวนเกิดกบฎ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าเป็นโอกาสที่จะเอาเมืองเขมรคืนจากญวน จึงโปรดให้พระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกเป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพยกไปตีเมืองเขมร เมื่อตีเมืองเขมรได้แล้วให้ตีเมืองญวนจนถึงเมืองไซ่ง่อน และให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือยกไปตีเมืองเขมรและญวนตามชายทะเล แล้วไปสมทบกับกองทัพบกตีเมืองไซ่ง่อน ในการไปตีเขมรครั้งนี้ได้เกณฑ์เกลือ ข้าวจากเมืองจันทบุรีและเมืองตราด จำนวน 800 เกวียน
     ในช่วงที่พระยาดินทรเดชายกทัพไปตีเขมรนั้น ได้ขอเรือรบไปลาดตระเวณให้ญวนพะว้าพะวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุรักษ์โยธาเป็นแม่กองใต้คุมกำปั่นแกล้วกลางสมุทร เข้ากรมปลัดกรมอาสาจามคุมเรือป้อม 6 ลำ เรือไล่ล่าสลัด 4 ลำ รวม 10 ลำ มีไร่พล 552 คน พร้อมด้วยอาวุธให้ออกมาบรรจบกับเรือลาดตระเวณเมืองจันทบุรีและเมืองตราดซึ่งลาดตระเวณอยู่ที่เกาะกง รวม เป็น 17 ลำ
    นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ที่บ้านเนินวง ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูง มีชัยภูมิเหมาะในการตั้งรับศึกญวน พร้อมกันนั้นได้ให้ จมื่นราชามาตย์ (ขำ) ไปสร้างป้อมที่เขาแหลมสิงห์ 1 ป้อม คือ ป้อมไพรีพินาศและทำการปรับปรุงป้อมเก่า 1 ป้อม คือ ป้อมพิฆาตปัจจามิตร นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ จมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค) ต่อเรือกำปั่นที่เมืองจันทบุรี 2 ลำ ลำแรก ปากกว้าง 10 ศอก ชื่อ แกล้วกลางสมุทร ลำที่ 2 ปากกว้าง 4 วา ชื่อระบิลบัวแก้ว และโปรดให้พระยาอนุรักษโยธาไปต่อกำปั่นที่เมืองจันทบุรีอีก 1 ลำ ปากกว้าง 4 วา 2 ศอก ชื่อ วิทยาคม จากการเดินทางของพวกมิชชันนารีที่ไปชมการต่อเรือของจหมื่นไวยวรนารถได้บรรยายว่าในเวลานั้นยังมีเรือที่กำลังต่ออยู่อีกกว่า 50 ลำ น้ำหนัก 300-400 ตัน เรื่องที่ไทยต่อเรือมากเช่นนี้เข้าใจว่าเตรียมไว้ไม่ให้ญวนมารบกวนเมืองทางแถบนี้
      ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองจันทบุรีมีความสำคัญตรงที่สามารถควบคุมอ่าวไทยที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ และตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ด้วยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรเท่านั้น ดังปรากฏในข้อเขียนของนายฮาโนโตซ์ (M.Hanotaux) สมาชิกสำคัญของพวกอาณานิคม เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ฝรั่งเศส ค.ศ.1894-1895 และ 1896-1898 ได้แสดงความเห็นว่า มาตราการที่ใช้บีบบังคับไทยได้เป็นอย่างดี คือ การยึดเมืองจันทบุรี เพราะเมืองจันทบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอาจเรียกได้ว่าเป็นยิบรอลต้าสยาม ฝรั่งเศสสามารถที่จะบีบกรุงเทพฯ ให้ทำอย่างไรก็ได้ นอกจากนี้ความสำคัญของเมืองจันทบุรีจะเห็นได้จากข้อเขียนของนอรแมน (Norman) สมาชิกของรัฐสภาอังกฤษที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "The People and Politics of the Far East ) ว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่คุมอ่าวไทยและทางเข้าเมืองที่อุดมที่สุดสามเมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองศรีโสภณ ความสำคัญของเมืองจันทบุรีจะเห็นได้อีกประการหนึ่งคือ เมื่อฝรั่งเศสได้ทำการบุกรุกชายแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลไทยวิตกว่าฝรั่งเศสจะส่งกำลังมาบุกรุกทั้งทางบกและทางน้ำ พระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บังคับบัญชาการทหารเรือ จึงได้จัดกำลังทหารไว้ที่เกาะกง 50 คน แหลมงอบ 200 คนและที่แหลมสิงห์ 600 คน เพื่อป้องกันหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกและความปลอดภัยของเมืองจันทบุรี
          2. ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เมืองจันทบุรีมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ 2 ประการคือ
          2.1 เป็นเมืองท่าที่สำคัญของเมืองชายทะเลตะวันออก เมืองจันทบุรีมีลักษณะภูมิประเทศมีชายฝั่งที่เหมาะจะเป็นท่าเรือ ดังจะเห็นได้จากคำบรรยายของมิชชันนารีที่เดินทางมาเมืองจันทบุรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ที่ปากน้ำเมืองจันทบุรีมีท่าเรือ ที่ท่าเรือนี้มีภูเขายื่นออกมาทางทะเลโค้งเป็นวงแหวน เหมาะที่จะเป็นท่าเรือมากทีเดียว ครอว์ฟอร์ด (Crawford) ซึ่งตั้งทูตรัฐบาลอังกฤษ ที่อินเดียตั้งแต่ให้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้บรรยายว่าฝั่งตะวันออกของอ่าว จากเกาะสีชังเรื่อยไปจนถึงเส้นรุ้งที่ 11 องศา มีเกาะใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ทั่วไปตามชายฝั่ง มีช่องทางเดินเรือ และที่ทอดสมอเป็นอย่างดีอยู่ระหว่างเกาะ ฉะนั้นจึงนับเป็นชัยภูมิที่เหมาะจะสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เมืองท่าสำคัญสำหรับพวกพื้นเมืองในถิ่นนี้ได้แก่ จันทบูร และทุ่งใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการค้าพริกไทย การบูร และยาง เมืองสำคัญได้แก่ จันทบูร ซึ่งมีชาวจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ประกอบอาชีพทำสวนพริกไทย เมืองจันทบุรี ตั้งอยู่ถัดขึ้นไปจากปากแม่น้ำเล็ก ๆ ประมาณ 15 ไมล์ มีร่องน้ำลึกเข้าไม่เกิน 5 ฟุต แต่จุดที่ห่างออกไปจากบริเวณนี้ ซึ่งมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลมนั้น มีน้ำลึกพอเพียงที่เรือขนาดใหญ่จะเข้าจอดทอดสมอได้อย่างสบาย ท่าเหล่านี้ชาวสยามไม่อนุญาตให้ผู้ใดแปลกปลอมเข้าไปเป็นอันขาด
     บันทึกของปาลเลกัวซ์ ระบุว่าปีหนึ่ง ๆ มีเรือสินค้าจากจีนเข้าจอดเทียบท่าเมืองจันทบุรีประมาณ 12 ลำเสมอ ครอว์ฟอร์ดรายงานว่าเมืองจันทบุรีมีเรือสำหรับค้าขายกับจีนโดยตรง 1 ลำ ระวางบรรจุสินค้า 4,000 หาบ มีสินค้าจำพวกเหล็ก เหล็กกล้า กระทะ ยาสูบ ฝิ่น ใบเรือ ผ้าแพร ไหมดิบ เครื่องปั้นดินเผา และหมึกจากจีนและยุโรปมาขายในบริเวณนี้ด้วย นอกจากนั้นเมืองจันทบุรียังเป็นเมืองท่าที่นำสินค้าจากเขมรผ่านปราจีนบุรีแล้วนำมาลงเรือสินค้าที่เมืองจันทบุรีเพื่อบรรทุกไปขายยังเมืองจีนอีกทอดหนึ่ง
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองท่าที่เรือสินค้ามาแวะพักก็คือ การค้นพบเรือบางกะไชย 2 ของหน่วยงานโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี ที่จมอยู่บริเวณอ่าวหมูใหญ่ เขตพื้นที่บ้านหินแตก ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จากการขุดค้นสันนิษฐานว่าเรือที่พบเป็นเรือสำเภากวางตุ้ง ได้พบสิ่งของที่เรือลำนี้บรรทุกมา เช่น เศษเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยไทยจำนวน 515 ชิ้น ทองแดงจำนวน 4 ตัน (เฉพาะที่พบในระหว่างเรือ ไม่นับที่กระจายอยู่รอบ ๆ เรือ) หมากปอกเปลือกตากแห้ง พริกไทยจำนวนมาก ปืน 1 กระบอก ไม้แดงจำนวนมาก งาช้าง ตาชั่งจีนทำด้วยสำริด จากตัวอักษรจีนที่ตาชั่งอ่านออกมาจะตรงกับ พ.ศ. 2153 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และจากหลักฐานสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่าเมืองจันทบุรีมีด่านเก็บภาษีในบริเวณนี้คือ ด่านปากน้ำแขมหนู และด่านปากน้ำแหลมสิงห์ จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมืองจันทบุรีต้องเป็นเมืองท่าที่ขนถ่ายสินค้า โดยเรือลำดังกล่าวคงจะเดินทางบรรทุกทองแดงจากจีน ญี่ปุ่น แล้วมาแวะรับไม้แดง พริกไทย หมาก จากเมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองจันทบุรี ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี พ.ศ. 2419
     สำหรับทองแดงเป็นสินค้าที่อยุธยาต้องการนำไปใช้ในการก่อสร้างประดับพระราชวังและวัดต่างๆ ดังนั้นเรือลำนี้คงจะเดินทางจากเมืองจันทบุรีแวะกรุงศรีอยุธยาและเดินทางต่อไปยังเมืองมลายู ดังจะเห็นได้จากรายการสินค้าและเส้นทางการเดินทางของสินค้าที่ปรากฏในจดหมายของริชาร์ด ค้อด ถึงบริษัทอิสอินเดีย เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2159 มีข้อความตอนหนึ่งว่า
    ถ้ามีเรือนำไม้แดงกับหนังสัตว์จากกรุงสยามมาส่งที่ปัตตานีและจากนั้นก็ถ่ายลงเรือที่ไปจากบันตัมแล้วนำไปส่งที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วเรือลำที่มานั้นก็อาจนำสินค้ากลับมาส่งที่บันตัมได้ในราวเดือนพฤศจิกายน" จากหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางชายทะเลตะวันออกที่เชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น กับหัวเมืองมลายู มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
          2.2 เป็นเมืองที่ผลิตสินค้าบริโภคภายในประเทศ และส่งขายต่างประเทศ เมืองจันทบุรีเป็นเมืองผลิตสินค้าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สินค้าที่ผลิตมีทั้งพืชสวน พืชไร่ ของป่า ผลผลิตจากทะเล อัญมณี ดังปรากฏหลักฐานดังต่อไปนี้
               - การค้นพบเรือบางกะไชย 2 ทำให้ทราบว่าเมืองจันทบุรีสามารถส่งไม้แดง หมาก พริกไทย ไปขายภายในประเทศและต่างประเทศแล้ว ในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงรวบรวมพลรวมทั้งเสบียงอาหารและต่อเรือที่เมืองจันทบุรีเพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่า แสดงให้เห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้และผลผลิตต่าง ๆ ที่สามารถนำมาต่อเรือและเป็นยุทธปัจจัยในการกอบกู้เอกราช
              - ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าซ้ายซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการค้าขายกับจีน ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองจันทบุรี เพื่อควบคุมสินค้าของป่าไปขายที่เมืองจีน แสดงให้เห็นว่าเมืองจันทบุรีต้องเป็นเมืองที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งของป่าและเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้าของป่าจากเขมรส่งไปยังเมืองหลวง และต่างประเทศ
               - เอกสารของครอว์ฟระบุว่าทางตะวันออกของอ่าวสยามประมาณเส้นรุ้งที่ 11 และ 12 เป็นบริเวณที่สามารถปลูกพริกไทยได้เป็นอย่างดี ปริมาณพริกไทยทั้งหมดที่ส่งออกไปยังประเทศจีนประมาณ 60,000 หาบ นอกจากนี้ ครอว์ฟฟอร์ดได้บรรยายว่าในดินแดนที่ปลูกพริกไทยยังสามารถผลิตสินค้าอื่น ๆ ได้อีกเป็นอันมาก เช่น รง กานพลู สำหรับกานพลูเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลายในหมู่ชาวจีน
               - ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี พ.ศ. 2419 พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองจันทบุรีและส่งจำหน่ายออกนอกเมือง มี พริกไทย ข้าว กระวาน เร่ว น้ำตาลทราย พุงทะลาย รง แตงอุลิต (แตงโม) เสื่อ กระสอบ ผ้าพื้น ผ้าแพรนุ่ง ผ้าห่อหมาก ผ้าตาสมุก ผ้าราชวัตร ผ้าอาบน้ำ เนื้อไม้ ฟืน ไม้ค้างพลู ไม้ระกำ ไม้ตะเคียน ขี้ผึ้ง เปลือกประโลง ไม้แดง กังแห้ง เยื่อเคย ปลิงทะเล ไต้ ยาสูบ ครา ถั่ว หวายพัศเดา ไม้กระยาเลย ไม้หอม ปูทะเล และพลอย จะเห็นว่าเมืองจันทบุรี เป็นเมืองที่สำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และทางด้านเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นเมืองท่าที่สำคัญของหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เป็นเมืองที่ผลิตสินค้าเลี้ยงประชากรภายในประเทศและส่งขายต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากความสำคัญของเมืองจันทบุรีดังกล่าว ฝรั่งเศสจึงได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน เพื่อให้ไทยปฏิบัติตามสัญญา ฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436
     การเข้ายึดครองเมืองจันทบุรีเพื่อบีบบังคับให้ไทยยอมปฏิบัติตามสัญญา ของฝรั่งเศสดังกล่าวเป็นการกระทำของผู้มีอาวุธในมือกระทำกับชาติที่ด้อยกว่าหมดหนทางต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ไทยได้ใช้สติปัญญา ความอดทน การรู้เขารู้เรา จนสามารถฟันฝ่าปัญหาและรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ เนื่องเพราะพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราช รวมทั้งข้าราชการ ในระดับสูงทุกคนที่ได้เสียสละช่วยกันทำให้แผ่นดินไทยเป็น "ไท" จนทุกวันนี้ (ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ายังเป็นไทหรือไม่) ไม่เช่นนั้นขวานทองเล่มนี้ อาจจะขาดเป็นสองท่อนถ้าหากอังกฤษและฝรั่งเศสสามารถประสานผลประโยชน์ได้สำเร็จหรือขวานทองเล่มนี้อาจจะร้อนรุ่มด้วยไฟสงครามดังที่ประเทศในอินโดจีนได้รับก็ได้ เราอนุชนรุ่นหลัง ควรจำนำอุทาหรณ์ในอดีตมาเป็นเครื่องเตือนสติ โดยอยู่บนหลักการที่ว่า "รู้จักอดีต เข้าใจปัญหา และรู้ทันอนาคต" มาใช้ในการดำเนินชีวิตว่าเราควรยืนตรงจุดไหน ยืนอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร ในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อให้ไทยยังคงดำรงความเป็น "ไท" ต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก