กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงให้ความรู้ เรื่องอะไร

หลังจากได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมากันไปแล้ว บทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้การถอดคำประพันธ์ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ตัวบทที่ยกตัวอย่างมาในวันนี้จะเป็นเรื่องใด ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้วรรณคดีเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ถอดคำประพันธ์

      หัวลิงหมากกลางลิง    ต้นลางลิงแลหูลิง

ลิงไต่กระไดลิง                  ลิงโลดคว้าประสาลิง

      หัวลิงหมากเรียกไม้     ลางลิง

ลางลิงหูลิงลิง                   หลอกขู้

ลิงไต่กระไดลิง                  ลิงห่ม

ลิงโลกฉวยชมผู้                ฉีกคว้า ประสาลิง

ความหมาย กล่าวถึงลิงที่กำลังกระโดดไปตามต้นไม้ต่าง ๆ เพื่อหลอกคู่ของมัน หรือขย่มเล่น ฉีกผลไม้อย่างชมพู่กินตามประสาของลิง ซึ่งในที่นี้มีพันธุ์ไม้ที่ปรากฏในบททั้งหมด 4 ชื่อ คือ 1. ต้นหัวลิง เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง มีสันตรงกลางคล้ายหัวลิง
2. ต้นหมากลางลิง เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง 3. หูลิง เป็นไม้ผลัดใบกึ่งยืนต้นขนาดเล็ก เปลือกของลำต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาลอมเทา
4. กระไดลิง ส่วนต้นลางลิงกับกระไดลิงคือต้นเดียวกัน ลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็งชนิดหนึ่ง เถาแบนยาว – งอกลับไปกลับมาคล้ายขั้นบันได

      กระจายสยายซร้องนาง      ผ้าสไบบางนางสีดา

ห่อห้อยย้อยลงมา                     แต่ค่าไม้ใหญ่สูงงาม

       กระจายสยายคลี่ซร้อง      นงพงา

สไบบางนางสีดา                      ห่อห้อย

ยื่นเลื้อยเฟื้อยลงมา                  โบยโบก

แต่ค่าไม้ใหญ่น้อย                     แกว่งเยื้องไปมา

ความหมาย กล่าวถึงต้นช้องนางคลี่ และสไบนางสีดา ที่ห้อยลงมาเพราะเป็นพืชที่ต้องเกาะติดกับกิ่งไม้ใหญ่ในป่า เมื่อโดนลมพัดก็จะแกว่งไปมา

คุณค่าที่อยู่ในเรื่อง กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

เนื้อหาของวรรณคดีเป็นการบันทึกเรื่องราวการเดินทาง การชื่นชมวิวทิวทัศน์ ทำให้เห็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในธรรมชาติ อีกทั้งได้เรียนรู้พืชพันธุ์ รวมไปถึงสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในแต่ละตอนอีกด้วย นอกจากจะได้คุณค่าในแง่การศึกษาธรรมชาติแล้ว ในวรรณคดียังอุดมไปด้วยคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้คำให้เกิดจินตภาพ ใช้คำที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพตามได้ นอกจากนี้ยังมีการเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นการใช้สัทพจน์ มีการเลือกใช้คำที่มีสระเดียวกัน ให้เป็นสัมผัสในวรรค และการใช้คำเดียวกันในความหมายที่ต่างกัน

ตัวอย่างการเลียนเสียงธรรมชาติ

ฝูงลิงใหญ่น้อยกระจุ้ย ชะนีอุ่ยอุ่ยร้องหา

ตัวอย่างสัมผัสในวรรค

ดูหนูสู่รูงู งูสุดสู้หนูสู้งู

ตัวอย่างการใช้คำเดียวกันในความหมายที่ต่างกัน

หัวลิงหมากกลางลิง ต้นลางลิงแลหูลิง

ลิงไต่กระไดลิง ลิงโลดคว้าประสาลิง

คำว่าลิงที่ใช้ในบทประพันธ์มีทั้งลิงที่เป็นสัตว์และลิงที่เป็นชื่อของต้นไม้

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ไม่เพียงแต่จะเป็นวรรณคดีที่ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน แต่ยังอัดแน่นไปด้วยสาระดี ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณคดีแนวสารคดีก็คงจะไม่ผิดนัก น้อง ๆ อ่านตัวบทและลองถอดคำประพันธ์ดูแล้ว คิดอย่างไรกันบ้างคะ สุดท้ายนี้เพื่อไม่ให้พลาดความรู้ดี ๆ อย่าลืมไปดูคลิปการสอนย้อนหลังของครูอุ้มเพื่อทบทวนความรู้นะคะ ในคลิปครูอุ้มจะอธิบายตัวบทอย่างละเอียด ทำให้เข้าใจได้ง่าย สามารถฟังไปทำแบบฝึกหัดไปได้ด้วย ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ศึกษาตัวบทเด่น ๆ 

อย่าพลาดการติดตามบทความวิชาภาษาไทยจาก nockacademy

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก