สาเหตุ ของ ความ ขัดแย้ง และ ปัญหา ครอบครัว มี สาเหตุ มา จาก อะไร บ้าง

ภาพ

ภาพประกอบโดย แซลลี เวิร์น คอมพอร์ต

แมทท์กับมาร์กาเร็ต (นามสมมติ) ปิดโทรทัศน์หลังจากการประชุมใหญ่ภาคสุดท้าย ข่าวสารเหล่านั้นสร้างแรงบันดาลใจ และพวกเขาชอบบรรยากาศที่ดีทั่วบ้านของพวกเขาสุดสัปดาห์นั้น

ไม่มีใครผิดหวังมากไปกว่าแมทท์กับมาร์กาเร็ตเมื่อไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมาพวกเขาทะเลาะกันรุนแรงว่าจะออมเงินโบนัสที่แมทท์ได้อย่างไม่คาดฝันจากที่ทำงานหรือจะใช้ซื้อชุดนักเรียนให้ลูกที่โตขึ้น การถกเถียงไม่ได้ข้อยุติ และแมทท์กับมาร์กาเร็ตต่างแยกย้ายกันไปทำงานอื่นทั้งที่ยังไม่เข้าใจกัน

เพื่อสร้างชีวิตแต่งงานที่ยั่งยืนและมีความสุข สามีภรรยาต้องเรียนรู้วิธียุติความขัดแย้งทั้งนี้เพื่อแต่ละฝ่ายจะเข้าใจกันและตัดสินใจกับปัญหานั้นอย่างประนีประนอม

การนำทางและการเตือนทางวิญญาณ

พระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกให้คำเตือนมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้ง ใน 3 นีไฟ เราอ่านว่า “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง” (3 นีไฟ 11:29) เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าซาตาน “พยายามปักลิ่มของความไม่ปรองดองระหว่างบิดากับมารดา เขาชักจูงบุตรธิดาไม่ให้เชื่อฟังบิดามารดา … ซาตานรู้ว่าวิธีขัดขวางงานของพระเจ้าได้ผลที่สุดและแน่นอนที่สุดคือลดประสิทธิผลของครอบครัวและความศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน”1

ความต่างของความเห็น นิสัย หรือภูมิหลังล้วนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรามีมากมายหลายแหล่งคอยช่วยเราให้รู้วิธีรับมือ หลักคำสอนและคำแนะนำที่สอนในการนมัสการวันอาทิตย์และสิ่งพิมพ์ของศาสนจักรสามารถช่วยและเสริมได้ตามความจำเป็นด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ คู่สามีภรรยาสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับความขัดแย้งได้ การดลใจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใจที่ทำให้แต่ละฝ่ายใจอ่อนลง

ประธานโธมัส เอส. มอนสันเตือนว่า “โอกาสแสดงความรักครั้งสำคัญที่สุดของเราบางครั้งจะอยู่ในรั้วบ้านของเราเอง ความรักควรเป็นหัวใจของชีวิตครอบครัว แต่บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น มีความใจร้อนมากเกินไป มีการโต้เถียงมากเกินไป มีการทะเลาะเบาะแว้งมากเกินไป มีน้ำตามากเกินไป”2

เมื่อปัญหายังอยู่และบ่อนทำลายชีวิตครอบครัว เหตุของความขัดแย้ง รวมถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ความเห็นแก่ตัว ความปรารถนาจะมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย และความจองหองจึงรุนแรงขึ้น ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกมานานแล้วว่าองค์ประกอบใหญ่สุดในชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขคือความเอาใจใส่ห่วงใยทุกข์สุขของคู่ครอง ในกรณีส่วนใหญ่ความเห็นแก่ตัวเป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดการทะเลาะวิวาท การแยกกันอยู่ การหย่าร้าง และหัวใจแหลกสลาย”3

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน (1915–1994) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเช่นกันว่า “เมื่อเราพิจารณาความรู้สึกไม่ดีและความไม่สบายใจที่เกิดจากความขัดแย้ง คงจะดีถ้าถามว่า ‘ทำไมฉันมีส่วน’ …

“… สำคัญที่ต้องยอมรับว่าเราเลือกพฤติกรรมของเรา ต้นตอของประเด็นนี้คือปัญหาที่มีมาแต่ช้านานแห่งความจองหอง”4

ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม เราจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่และทำให้ใจเราอ่อนลงเมื่อปัญหายังอยู่

สาเหตุของความขัดแย้ง

มีสาเหตุมากมายของความขัดแย้ง ตั้งแต่อคติส่วนตัวไปจนถึงรูปแบบการสื่อสารที่ฝังรากลึก นอกจากจะเอาชนะความเห็นแก่ตัวและความไม่มีวุฒิภาวะแล้ว คู่สามีภรรยาจะพบเจออีกหลายสาเหตุของความขัดแย้งเช่นปัจจัยต่อไปนี้

  • คู่แต่งงานใหม่กำลังฝึกให้ชินกับรูปแบบพฤติกรรมของอีกฝ่าย

  • ความแตกต่างตามธรรมชาติระหว่างชายและหญิง

  • ความหงุดหงิดอันเกิดจากความเหนื่อยล้า

  • ความเห็นต่างเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกหรือบริหารการเงินให้ดีที่สุด

  • ลูกๆ กำลังฝึกใช้สิทธิ์เสรี

  • ความชอบและความไม่ชอบที่ต่างกัน

  • ความเครียดเกินเหตุ

  • การขาดความเข้าใจหรือขาดทักษะในการยุติความขัดแย้ง

คำเตือนเรื่องความโกรธ

ความขัดแย้งมากมายในชีวิตสมรสหรือครอบครัวเกิดขึ้นเพราะไม่ควบคุมความโกรธ หากเราไม่ระวัง หลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธเราจะนึกอยู่ตลอดเวลาว่าอีกฝ่ายทำไม่ดีกับเราอย่างไร ยิ่งเราครุ่นคิดนาน เราจะยิ่งคิดหาเหตุผลมาสนับสนุนมุมมองของเรามากขึ้น อาการครุ่นคิดวิตกกังวลเช่นนี้จะทำให้เราไม่สงบ และเมื่อคลื่นความโกรธระลอกสองเกิดขึ้นก่อนยุติระลอกแรก ปฏิกิริยาจากฮอร์โมนจะทำให้อารมณ์เดือดพล่านมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อมาริลีนมาขอคำปรึกษา เธอบอกว่าการนอนอยู่บนเตียงหลังจากเธอกับสามีตะโกนใส่กันทำให้เธอหงุดหงิดมาก “ดิฉันรู้ว่าตนเป็นฝ่ายถูก” เธอกล่าว “ดิฉันนึกว่าเขาจะเปิดไฟและขอโทษ แต่เขาไม่ทำ ยิ่งคิดเรื่องนี้ดิฉันยิ่งโมโห เมื่อได้ยินเขาเริ่มกรน ดิฉันทนไม่ไหว—ดิฉันผุดลุกจากเตียง ตะโกนใส่เขาอีกครั้ง แล้วลงไปชั้นล่าง คุณเชื่อไหมคะว่าเขาก็ยังไม่ขอโทษ” ประสบการณ์ของมาริลีนเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่จัดการกับความรู้สึกโกรธ

นิสัยดูเหมือนจะเลิกได้ยาก แม้จะเป็นนิสัยช่วงสั้น แต่คู่สมรสสามารถฝึกทักษะไว้ช่วยพวกเขา ต่อไปนี้เป็นหลักปฏิบัติบางอย่างที่ใช้ได้ผล

เคล็ดลับ7 ประการที่ช่วยให้ใจเย็นลง

สำรวจความคิดของท่านอย่างรวดเร็ว ในตัวอย่างของเรา มาริลีนอาจจะพูดกับตนเองว่า “ดูเหมือนฉันเป็นฝ่ายถูก แต่ฉันกำลังทำเกินเหตุ ความสัมพันธ์ของฉันกับสามีสำคัญกว่าเรื่องที่เรากำลังเถียงกัน”

สงบสติอารมณ์ของคุณ ก่อนพยายามแก้ปัญหา รอจนกว่าปฏิกิริยาเคมีที่กำลังเกิดขึ้นในตัวคุณสิ้นสุด

หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ เลือกคิดเรื่องอื่นหรือออกไปเดินเล่น

จดความคิดของคุณ สำหรับบางคน นี่ช่วยให้รู้จักตนเองมากขึ้น

แสดงความรู้สึกในเชิงสร้างสรรค์ การตะโกนบอกความรู้สึกของคุณจะไม่ช่วยคุณ “ระบายความรู้สึกเหล่านั้น” ยิ่งคุณแสดงอารมณ์โกรธ ความรู้สึกของคุณจะยิ่งรุนแรง

ฟังเพลงสงบสติอารมณ์ หรืออ่านวรรณกรรมที่ยกระดับจิตใจ

เริ่มใหม่ หยุดตัวเองเมื่อเริ่มเห็นต่าง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสามถึงห้านาทีแรกของการสนทนาวางรากฐานให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น จงพูดว่า “เริ่มไปในทางไม่ดี เริ่มใหม่ดีกว่า”

มาตรการยุติความขัดแย้ง

คู่มือเสริมสร้างชีวิตแต่งงาน ของศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวแอลดีเอสแนะนำมาตรการยุติความขัดแย้งสามข้อ ได้แก่ (1) แสดงความคิดเห็น (2) สำรวจข้อกังวล และ (3) เลือกทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ5 มาตรการเหล่านี้ยึดต้นแบบการสื่อสารและการบอกกล่าวแบบร่วมมือกันและไขข้อกังวลของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

1. แสดงความคิดเห็น

แต่ละฝ่ายบอกความคิดเห็นของตนอย่างตรงไปตรงมาแต่ไม่โจมตีอีกฝ่าย บางครั้งการใคร่ครวญอย่างรอบคอบจะยุติปัญหาเมื่อเห็นชัดว่าความเห็นต่างเป็นเพียงความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น ภรรยาที่คิดว่าสามียืนกรานอย่างเห็นแก่ตัวให้เธอไปดูการแข่งบาสเกตบอลโรงเรียนมัธยมปลายกับเขาแทนที่จะไปกินอาหารเย็นด้วยกันเป็นการออกเดท อาจจะทำความเข้าใจว่าเขาสนใจบาสเกตบอลน้อยกว่าการแสดงให้เห็นว่าเขาใส่ใจผู้เล่นคนหนึ่งที่หยุดเข้าชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ของเขา

2. สำรวจข้อกังวล

คู่สามีภรรยาสำรวจข้อกังวลลึกลงไปอีก จุดสำคัญคือเข้าใจและยอมรับข้อกังวลของอีกฝ่าย ดูตัวอย่างบาสเกตบอลต่อ ภรรยาแม้จะเข้าใจข้อกังวลของสามีเรื่องนักเรียนคนนั้น แต่เธออาจจะเชื่อว่าเขากำลังพัฒนารูปแบบของการให้ความต้องการของผู้อื่นมาก่อนชีวิตแต่งงานเสมอ ในกรณีนี้จะต้องมีการสนทนาละเอียดขึ้นซึ่งแต่ละฝ่ายแสดงความรู้สึกอย่างระมัดระวังและการต่อต้านเปลี่ยนเป็นความร่วมมือ

3. เลือกทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ

คู่สามีภรรยาระดมความคิดและตัดสินใจหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ จุดสำคัญคือแต่ละฝ่ายจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไขข้อกังวลไม่ใช่คู่ครองของพวกเขาจะทำอะไร การต่อรองเช่นนั้นจะทดสอบวุฒิภาวะและความอดทน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เชื่อว่ามีความปลอดภัยในการแสดงความรู้สึกและมีความมั่นใจว่าแต่ละฝ่ายจะสมปรารถนา คู่ของเราอาจยอมให้ใช้คืนวันศุกร์คืนหนึ่งไปดูการแข่งบาสเกตบอลด้วยกัน คืนวันศุกร์คืนหนึ่งให้สามีไปดูการแข่งขันคนเดียว และคืนวันศุกร์สองคืนทำกิจกรรมฉันสามีภรรยา วิธีที่คู่สามีภรรยาเลือกใช้คืนวันศุกร์ไม่สำคัญเท่าคุณภาพของกระบวนการตัดสินใจที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ

ผลของการยุติความขัดแย้ง

พรวิเศษสุดหลั่งไหลมาจากการยุติความขัดแย้งในบรรยากาศของความรัก พรเหล่านี้ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัย การเติบโตส่วนตัวซึ่งทำให้เกิดสันติสุขในใจ ศรัทธาเพิ่มขึ้น อุปนิสัยดีขึ้น และเกิดความชอบธรรมส่วนตัว

เมื่อยุติความขัดแย้ง รูปแบบใหม่จะเข้ามาแทน ต่อจากนั้นประตูจะเปิดให้คู่สมรสแสดงความคิดเชิงบวกและให้การสนับสนุน ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าวว่า “คำพูดมีพลังอย่างประหลาด ทั้งให้กำลังใจและบ่อนทำลาย เราทุกคนคงจำคำพูดในด้านลบที่ทำให้เราหมดกำลังใจและคำอื่นที่พูดด้วยความรักซึ่งทำให้ใจเราโบยบิน การเลือกพูดแต่สิ่งดีเกี่ยวกับ—และพูดถึง—ผู้อื่นจะยกระดับและเสริมสร้างพลังให้คนรอบข้างและช่วยให้ผู้อื่นเดินตามทางของพระผู้ช่วยให้รอด”6

คู่สามีภรรยาที่มีความก้าวหน้าระยะยาวในการยุติความขัดแย้งจะเก็บเกี่ยวรางวัลที่ปรารถนา สามีที่เคยมีความสัมพันธ์ไม่ดีมาก่อนกล่าวว่า “ผมไม่อยากนึกถึงวิธีที่เคยใช้และไม่อยากเชื่อว่าผมใช้จริงๆ ผมปฏิบัติต่อภรรยาแบบนั้นได้อย่างไร ผมขอบพระทัยพระวิญญาณที่ดึงความสนใจของผมและสำหรับความอดทนที่ภรรยาแสดงต่อผม”

สรุป

การเอาชนะความขัดแย้งต้องใช้ความพยายามอย่างมีสติและพยายามต่อไป สิ่งท่านพูดหรือทำต่อจากนี้จะเริ่มรูปแบบการสื่อสารเชิงบวกมากขึ้นในชีวิตแต่งงานของท่าน ท่านจะได้เก็บเกี่ยวผลของพระวิญญาณตามที่ชาวนีไฟประสบเช่นกัน “ไม่มีความขัดแย้งในแผ่นดิน, เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน.

“และไม่มีความริษยา, หรือการวิวาท, หรือความวุ่นวาย … ; และแน่แท้แล้วไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้” (4 นีไฟ 1:15–16)

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก