ปัญหาของนักเรียนในโรงเรียน

#โรงเรียนดังย่าน#โรงเรียนสี… เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น เมื่อเราเห็นแฮชแท็กของโรงเรียนต่างๆ ติดเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย จนตามไม่ทันว่าโรงเรียนไหน มีประเด็นอะไรกันมา

แต่ก็เรียกได้ว่า เป็นกระแสที่นักเรียนออกมาส่งเสียง เล่าถึงเหตุการณ์ และประสบการณ์ในโรงเรียนที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน บ้างก็ต้องการเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น และบ้างก็เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ประเด็นที่มีการพูดถึงในแต่ละโรงเรียนนั้น ต่างก็มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน The MATTER ได้ลิสต์ประเด็นที่เราพบเห็นในแฮชแท็กของโรงเรียนต่างๆ และเข้าไปดูว่านักเรียนแต่ละโรงเรียนพูดคุยอะไรกันบ้าง ในแฮชแท็กเหล่านี้

คุณครู

หลายแฮชแท็กที่เกี่ยวกับโรงเรียน เริ่มขึ้นจากการตั้งสเตตัส หรือคอมเมนต์กันของคุณครู จนเกิดเป็นการโต้ตอบกันระหว่างคุณครู และนักเรียนในโซเชียลมีเดียในประเด็นที่เห็นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบ หรือกิจกรรมในโรงเรียน ทำให้แฮชแท็กเหล่านั้น กลายเป็นการพูดถึงพฤติกรรมของคุณครูในโรงเรียนไป ทั้งในเรื่องการสอน ไปถึงพฤติกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจนิยม การที่คุณครูบางคนเคยลวนลามนักเรียน ใช้คำพูดที่กระทบจิตใจ ล้อเลียน ไปถึงการ body shaming ด้วย

ซึ่งหลายข้อความก็เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบคุณครูขึ้น ให้โรงเรียนรับผิดชอบในการจัดการกับครู โดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นด้วย

กิจกรรม หรือกฎระเบียบโรงเรียนที่ล้าหลัง

ประเด็นเรื่องกิจกรรม และกฎระเบียบที่ล้าหลังของโรงเรียน เรียกได้ว่าเป็นประเด็นหลักๆ ที่พบเห็นได้ในแฮชแท็กของเกือบทุกโรงเรียน โดยเฉพาะในเทอมนี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่มีการระบุให้นักเรียนทั้งชาย และหญิงสามารถเลือกไว้ผม ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวได้ แต่กลับมีบางโรงเรียนที่ไม่เปลี่ยนกฎตามระเบียบของกระทรวง ซึ่งทำให้นักเรียนออกมาเรียกร้องว่ากฎของโรงเรียนล้าหลัง และไม่มีการปรับตาม

ทั้งยังมีการพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ที่ไม่ถามความสมัครใจของนักเรียนในการเลือกเข้าร่วม หรือกิจกรรมบางอย่าง ที่มีการแสดงความเห็นว่าควรปรับ เช่นการเข้าแถวกลางแดด เป็นต้น รวมถึงยังมีการออกกฎของบางโรงเรียน ที่ห้าม หรือกีดกันเพศที่ 3 และใช้คำเรียกที่เหยียดเพศที่ 3 จนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงด้วย

ค่าเทอม

ค่าเทอม เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงในแฮชแท็กโรงเรียนต่างๆ ทั้งการจ่ายค่าเทอมที่แพงกว่าของเด็กนักเรียนในห้องพิเศษ แต่กลับถูกให้ไปเรียนในห้องธรรมดา หรือได้สวัสดิการเท่าห้องทั่วไป จนเกิดเป็นเรียกร้องความยุติธรรม ไปถึงการที่นักเรียนหลายคนมองว่า ตนไม่ได้รับสวัสดิการ หรือคุณภาพจากโรงเรียนเท่าที่คาดว่าควรจะได้รับ โดยประเด็นที่พบเห็นมีทั้งเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ เสีย ไม่ว่าจะแอร์พัง หรือล็อกเกอร์ไม่ได้ใช้

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงค่าเทอมที่แพงขึ้น ในช่วงการเปิดเทอมหลัง COVID-19 ที่บางโรงเรียนมีการปรับไปเรียนแบบออนไลน์ประกอบ หรือไม่ได้มาเรียนประจำทุกวัน ซึ่งเด็กนักเรียนมองว่าสวนทางกับสิ่งที่จะได้รับที่ไม่เต็มที่ด้วย

เด็กถูกโรงเรียนขู่-ตัดคะแนน เมื่อออกวิจารณ์โรงเรียน

แต่การแสดงความคิดเห็นของนักเรียน และแฮชแท็กที่พูดถึงโรงเรียน บางครั้งก็เกิดขึ้นเมื่อเด็กจะถูกลงโทษ เมื่อออกมาตั้งคำถามกับโรงเรียนด้วย โดยบางโรงเรียนได้เลือกที่จะจัดการกับนักเรียนซึ่งออกมาวิจารณ์ด้วยการจะตัดคะแนนจิตพิสัย การนำทนายมาให้ความรู้เรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปถึงบางโรงเรียนที่เคยขู่จะฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับนักเรียน ทั้งยังมีการถูกคุกคามจากบุคลากรในโรงเรียน และการถูกล่าแม่มดด้วย

ซึ่งการจัดการเหล่านี้ ยิ่งทำให้แฮชแท็กของโรงเรียนเป็นกระแส ยิ่งมีคนออกมาพูดถึง และบางแห่งถึงกับมีแคมเปญผ่าน change.org เพื่อเคลื่อนไหวด้วย

อื่นๆ

รุ่นพี่ออกมาพูดถึงประสบการณ์นั้นๆ ด้วย

ไม่เพียงนักเรียนที่ออกมาร่วมพูดคุยกัยในแฮชแท็กแล้ว หลายๆ ครั้งก็มักมีรุ่นพี่ในโรงเรียนที่มาร่วมจอย ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และเล่าเรื่องประสบการณ์ของตัวเองด้วย แต่ก็มีทั้งที่ไม่เห็นด้วย และมองว่าตนก็เคยผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาได้ เช่นกัน

Fact ต่างๆ ในโรงเรียน เช่นร้านอาหาร

นอกจากนี้ แฮชแท็กต่างๆ ของโรงเรียน ยังมักมีการพูดถึง fact ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร้านอาหาร ห้องสมุด หรือเกร็ดต่างๆ ของโรงเรียน

ซึ่งกระแสแฮชแท็กเรื่องโรงเรียนต่างๆ ที่เกิดถี่ขึ้น นักเรียนหลายคนก็ย้ำว่าไม่ได้ต้องการสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของโรงเรียน แต่ต้องการใช้สิทธิของตัวเองในการออกมาพูด สะท้อนปัญหา และคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และโรงเรียนจะนำเสียงที่ออกมาพูดถึงไปปรับปรุงด้วย

Illustration by Waragorn Keeranan

You might also like

Share this article


โดดเรียน….แก้ได้ ด้วยเข้าใจ และใส่ใจกัน

 9 months ago 3842

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร

          หลาย ๆ ครั้ง พบว่า เมื่อเข้าสอนครูอย่างเราจะประสบปัญหาว่ามีนักเรียนบางกลุ่มหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เจอกันสัปดาห์ถัดไปก็ดูจะปกติ แต่ครั้งถัดมาเขาก็ขาดเรียนอีกแล้ว ในฐานะครูเมื่อเราไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้ว่าทำไมนักเรียนที่ของเราคนนี้ไม่เข้าเรียนในรายวิชาของเรา เราก็ต้องกังวลใจเป็นธรรมดา แล้วเราจะมีวิธีเข้าใจนักเรียนกลุ่มนี้อย่างไรเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่โดดเรียนวิชาของเราอยากจะเข้ามาเรียนรู้ในวิชานี้มากขึ้น

1.เข้าใจสาเหตุ
          ปัญหานักเรียนโดดเรียนนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เราต้องระบุให้ได้ก่อนว่าการที่เขาโดดเรียนเป็นเพราะอะไร หรือมีหลายปัจจัย ปัจจัยใดสำคัญที่สุด เช่น
ครอบครัว ครอบครัวนั้นมีผลต่อการไม่อยากเรียนของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการขาดความอบอุ่นในครอบครัวที่นักเรียนจะต้องเผชิญกับการทะเลาะกันของคนในครอบครัว ผู้ปกครองที่ไม่ใส่ใจนักเรียนเท่าที่ควร รวมไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหินกันจนนักเรียนขาดที่ปรึกษาทำให้ส่งผลต่อนักเรียนโดยตรงจนเกิดปัญหาที่ไม่อยากเรียนหนังสือตามมา
กฎระเบียบของโรงเรียน นักเรียนขาดความเข้าใจในกฎระเบียบวินัยของห้องเรียน ซึ่งบางครั้งกฎระเบียบภายในห้องเรียนต้องชี้แจงให้ชัดเจนก่อนเริ่มเข้าเรียน เพื่อให้นักเรียนไม่เกิดข้อสงสัยต่อตัวกฎระเบียบเหล่านั้น
คุณครู ในสาเหตุที่กล่าวมาด้านของคุณครูมีความสำคัญมากที่สุดเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของคุณครูภายในห้องเรียนมีผลต่อความรู้สึกอยากเข้าเรียนของนักเรียนมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม การสอน รวมไปถึงการปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมปัจจัยนี้จึงสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เด็กตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าเรียนหรือไม่
เพื่อน วัยเรียนเป็นวัยที่เพื่อนมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากที่สุด หากนักเรียนคบสมาคมกันแล้วผ่านการคิดทำสิ่งไม่ถูกต้องก็สามารถทำให้ไม่อยากเรียนหนังสือได้ สิ่งแวดล้อม หากนักเรียนเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยยาเสพติด วัยรุ่นยกพวกตีกัน สาเหตุนั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่อยากเรียน

2.ทำความเข้าใจนักเรียนกลุ่มนี้อย่างไร
          เมื่อเราเข้าใจสาเหตุที่ส่งผลทำให้นักเรียนไม่อยากเรียนแล้วนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคลไม่ว่าจะผ่านการสังเกตพฤติกรรมหรือการสอบถาม เช่น ก่อนเริ่มเข้าชั้นเรียน คุณครูสร้างกิจกรรมให้นักเรียนได้เขียนในสิ่งที่นักเรียนคาดหวัง และสิ่งที่กังวล รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการเรียน เพื่อที่จะได้รู้ถึงปัญหาของนักเรียนแต่ละบุคคลและสามารถจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

3. ใส่ใจ...แก้ปัญหาได้แน่นอน
          ครูควรเริ่มจากการพูดคุยกับนักเรียน หากคุณครูกำลังพบปัญหานักเรียนไม่เข้าเรียน ขั้นแรกไม่ควรลงโทษนักเรียนโดยทันที แต่ต้องเริ่มด้วยการปรับความเข้าใจ ถามถึงสาเหตุ รวมถึงการหาข้อตกลงที่ดีมาพูดคุยกับนักเรียน เพื่อที่จะได้เปลี่ยนความคิดนักเรียนให้มีแรงจูงใจในการเข้าชั้นเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ครูปรับกิจกรรมในห้องเรียนให้นักเรียนมีส่วนร่วมหรือมีสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น การเรียนรู้ด้วยการใช้กิจกรรมกลุ่ม การเสนอความคิดเห็นในห้องเรียน การใช้รูปแบบเกมมาปรับใช้ในคาบเรียน และที่สำคัญให้เพื่อนในห้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ก็จะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และห่วงใยกันได้
          หากคุณครูเข้าใจสาเหตุของการโดดเรียนของนักเรียนและสามารถปรับแก้ไขได้ตรงจุด บรรยากาศภายในห้องเรียนจะเต็มไปด้วยแรงจูงใจในการเรียนรู้ แล้วยังช่วยให้นักเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองให้ดีขึ้นได้ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเขาเอง และบรรยากาศการเรียนรู้ของห้องเรียนของเราทุกคน

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก