การเตรียมเครื่องบูชา งานอวมงคล

1.     การนิมนต์พระ

ก่อนเราจะทำบุญ ควรรู้ก่อนว่าเราจะทำบุญเนื่องในโอกาสอะไร กำหนดวัน เวลา ว่าจะทำเมื่อไหร่ให้แน่นอน แล้วจึงไปกราบอาราธนานิมนต์พระ โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะนิมนต์พระสงฆ์มาในงานอะไร จำนวนกี่รูป วันไหน เวลาไหน ปกติการนิมนต์พระจะทำล่วงหน้าก่อนงานอย่างน้อย 3-7 วัน จะใช้นิมนต์ด้วยวาจา หรือใช้ใบอาราธนาที่เรียกว่า “ฏีกานิมนต์” ก็ได้ เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ คือ บอกแจ้งรายการ และกำหนดงานให้พระสงฆ์ทราบ

ถ้าทำบุญวันเดียวให้นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้า หรือฉันเพลในวันเดียว ถ้าทำสองวันให้นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ตอนเย็น เช้าวันต่อไปจึงเลี้ยงพระ

การนิมนต์พระนั้น ถ้าเป็นงานมงคลทั่วๆไป จะนิยมนิมนต์พระ 5 รูป 7 รูป 9 รูป (นิมนต์จำนวนคี่ เพื่อจะได้เป็นคู่เมื่อนับพระพุทธรูปด้วย โดยถือคติว่า พุทธัปปมุโข มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน) ยกเว้นงานแต่งงาน ตามคติโบราณนิยมนิมนต์พระเป็นคู่ คือ 6 รูป 8 รูป 10 รูป เพราะโบราณท่านถือเป็นเคล็ดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นคู่กันตลอดไป ไม่แยกกัน แต่ถ้าเป็นงานทำบุญอายุจะนิยมนิมนต์พระให้เกินอายุขึ้นไปอีก เช่น ทำบุญอายุ 60 ปี ก็นิมนต์พระ 61 รูป เป็นต้น

ข้อควรรู้ ในการนิมนต์พระในงานมงคล ควรใช้คำว่า อาราธนาเจริญพระพุทธมนต์ แต่ถ้าเป็นงานอวมงคล ใช้คำว่า อาราธนาสวดพระพุทธมนต์ และไม่ควรนิมนต์โดยออกชื่ออาหาร 5 อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ คือ ไม่ควรนิมนต์ว่า “นิมนต์ไปฉันข้าว ขนม แกงปลา เนื้อย่าง” เพราะผิดวินัยสงฆ์ เพียงแต่ระบุว่า ฉันเช้า-ฉันเพล ก็พอแล้ว

2.     สถานที่

การจัดสถานที่ควรทราบก่อนว่าจะทำบุญเนื่องด้วยโอกาสอะไร ถ้าทำบุญเกี่ยวกับขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญเปิดร้านใหม่ หรือมงคลสมรส ก็จัดทำที่บ้านของเราเอง งานบางอย่าง เช่น ทำบุญอายุ ทำบุญอัฐิ หรือทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย จะจัดทำที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ ถ้าจัดที่วัดควรแจ้งความประสงค์ให้สมภารเจ้าวัดได้ทราบก่อน เพื่อจะได้เตรียมสถานที่ให้ เพราะบางวัดจะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ พร้อมทั้งเครื่องใช้ต่างๆครบครัน บางวัดก็ไม่มีเจ้าภาพ ต้องจัดเตรียมมาเอง แต่ถ้าทำที่บ้านก็ควรตกแต่งสถานที่ให้เรียบร้อยให้เหมาะแก่การต้อนรับพระสงฆ์ ญาติมิตรและแขกที่จะร่วมงาน

3.     จัดอาสนะพร้อมเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์

เมื่อถึงวันงานเจ้าภาพควรจัดบ้านให้เรียบร้อย สะอาดตา ปูลาดอาสนะที่สำหรับพระสงฆ์นั่งเจริญพระพุทธมนต์ โดยจะปูด้วยพรมหรือปูด้วยผ้าขาว หรือปูเสื่อแล้วปูอาสนะสงฆ์ข้างบนก็ได้ แล้วแต่สมควรแก่ฐานะของเจ้าภาพ จะมีหมอนพิงด้านหลังด้วยก็ยิ่งดี ที่สำคัญให้จัดอาสนะที่พระนั่งให้สูงกว่าที่นั่งของฆราวาส และอย่าให้เนื่องเป็นอันเดียวกันกับที่นั่งฆราวาส

ในการจัดอาสนะสำหรับพระนั้น ต้องจัดไว้ข้างซ้ายมือของพระพุทธรูปเรียงลำดับไป พร้อมทั้งจัดตั้งน้ำดื่ม แก้วน้ำ กระโถน และของรับรองพระอื่นๆ ตั้งเอาไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์แต่ละรูป

4.     จัดที่พุทธบูชา

ในงานพิธีทำบุญ ไม่ว่าเป็นงานมงคล หรืออวมงคล ถือกันว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จึงจัดตั้งพระพุทธรูปบูชา โดยจัดเป็นโต๊ะหมู่ 5 หมู่ 7 หมู่ 9 พร้อมด้วยเครื่องบูชาอันประกอบด้วย แจกัน เชิงเทียน กระถางธูป แต่ถ้าไม่สามารถจัดหาได้ก็ควรหาโต๊ะพอเหมาะพองาม ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ใช้ผ้าขาวปู แล้วตั้งพระพุทธรูป พร้อมเครื่องบูชา ในการตั้งพระพุทธรูปควรตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยถือคติว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งตรัสรู้พระองค์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แต่ถ้าสถานที่ไม่อำนวย ก็ควรตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ส่วนทิศนอกจากนั้นไม่นิยมตั้ง และพระพุทธรูปควรอยู่ทางขวามือของพระสงฆ์

5.     บาตรน้ำพระพุทธมนต์

จะใช้บาตรหรือขันน้ำพานรองก็ได้ แล้วนำน้ำสะอาดมาใส่พอสมควร ตั้งไว้ใกล้พระผู้เป็นหัวหน้าในพิธีด้านขวามือของท่าน พร้อมกับเทียนสำหรับทำน้ำมนต์ 1 เล่ม ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้หนัก 1 บาท ติดไว้ที่ขอบปากบาตรหรือภาชนะใส่น้ำมนต์

6.     สิ่งของสำหรับใส่ในบาตรน้ำมนต์

บาตรน้ำมนต์ควรใส่ของที่เป็นมงคล คือ ผิวมะกรูด ฝักส้มป่อย ใบมะกรูด ใบสันพร้าหอม ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หญ้าแพรก หญ้าคา (ใส่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ หรือได้ครบยิ่งดี)

แต่ถ้าเจ้าภาพจะทำพิธีเจิมด้วย ควรเตรียมดินสอพอง สำหรับเจิม พร้อมแผ่นทองสำหรับปิดตั้งไว้ใกล้ๆบาตรน้ำมนต์ และเตรียมที่พรมน้ำพระพุทธมนต์ไว้ซึ่งทำจากหญ้าคามัดเป็นกำตัดปลายและรากทิ้งยาวประมาณ 1 ศอก

7.     การวงด้ายสายสิญจน์

ด้านสายสิญจน์ทำจากด้ายดิบ โดยวิธีจับเส้นด้ายเส้นในเข็ดสาวออกมาเป็นห่วงๆ ครั้งแรกจะได้เพียง 3 เส้น ครั้งที่ 2 จะได้ 9 เส้น สำหรับใช้ในงานมงคลทุกอย่าง แม้แต่งานศพ ถ้าไม่มีภูษาโยงก็ต้องใช้สานสิญจน์แทน

การวงด้ายสายสิญจน์ จะวนจากซ้ายไปขวาตามเข็มนาฬิกา ถ้าเป็นบ้านเรือนมีรั้วรอบให้วงรอบรั้วบ้านด้วย ถ้าไม่มีรั้วหรือรั้วกว้างมากเกินไป ก็ให้วงเฉพาะสถานที่ประกอบพิธีเท่านั้น วงให้สูงอย่าให้ใครข้ามได้ แล้วนำมาวงรอบฐานพระพุทธรูป จากนั้นวนรอบภาชนะน้ำมนต์ แล้ววางสายสิญจน์ที่เหลือบนพานไว้ใกล้กับพระสงฆ์ผู้นั่งเป็นหัวหน้า

8.     การรับพระ

เมื่อพระสงฆ์เดินทางมาถึงบ้าน เจ้าภาพออกไปกราบอาราธนานิมนต์ให้พระสงฆ์เข้าไปในบ้าน หรือสถานที่ประกอบพิธี โดยจัดเตรียมให้คนล้างเท้าและเช็ดเท้าพระสงฆ์ด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อพระสงฆ์นั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพถวายน้ำร้อน น้ำเย็น และเครื่องรับรองอื่นๆ และมีการคุยสนทนา ปฏิสันถารบ้างตามสมควร อย่าปล่อยให้ท่านนั่งอยู่เหมือนไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่สมควรทีเดียว

9.     พิธีทางศาสนา

เมื่อพระสงฆ์นั่งบนอาสนะพักพอสมควรและเจ้าภาพพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะทำพิธีทางศาสนา โดยผู้ที่จะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถ้าเป็นงานมงคลสมรส ก็ให้คู่บ่าวสาวเป็นผู้จุด ถ้าเป็นงานทั่วๆไป ก็ให้เจ้าภาพหรือผู้เป็นประธานเป็นผู้จุด การจุดเทียนควรจุดด้วยไม้ขีดหรือเทียนชนวน เวลาจุดต้องจุดเทียนเล่มซ้ายมือของเราก่อน และเล่มด้านขวามือเป็นลำดับถัดไป แล้วจึงจุดธูป เสร็จแล้วดับเทียนชนวนโดยใช้มือพัด อย่าใช้ปากเป่า เสร็จแล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล สมาทานศีล และอาราธนาพระปริตร เมื่อพระสงฆ์เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ ทุกคนพึงนั่งประนมมือฟังด้วยความเคารพ พอพระสงฆ์เริ่มสวดบท อะเสวะนา จะพาลานัง ฯลฯ เจ้าภาพพึงจุดเทียนที่ภาชนะน้ำมนต์แล้วประเคนพระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้า เสร็จแล้วนั่งประนมมือฟังต่อไปจนจบ หลังจากนั้นให้จัดเตรียมอาหาร กล่าวคำถวายทาน ประเคนภัตตาหารเป็นลำดับไป พอพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว เจ้าภาพพึงถวายปัจจัยเครื่องไทยทาน พระสงฆ์อนุโมทนา เมื่อพระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าเริ่มว่า ยะถา วาริวะหา ....... เจ้าภาพพึงกรวดน้ำ พอพระรูปที่สองรับ สัพพีติโย ....... ให้เทน้ำลงหมดแล้วประนมมือรับพรจนจบ แล้วกราบลาประสงฆ์ ตามส่งพระเป็นอันเสร็จพิธี

10. ข้อควรรู้

การถวายข้าวพระพุทธ

มีพิธีการอีกอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธควรรู้ คือการถวายข้าวพระพุทธ เนื่องจากในโบราณประเพณีถือปฏิบัติกันว่า พระภิกษุสงฆ์ที่นิมนต์มานั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จึงต้องถวายพระองค์ด้วย ถึงแม้พระองค์จะปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก