โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมอะไร

หนังสือโคลงโลกนิตินี้ เป็นสุภาษิตเก่าแก่ แต่งมาแต่โบราณครั้งกรุงเก่า เดิมนักปราชญ์ผู้แต่งเที่ยวเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและสันสกฤต อันมีอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ คือ คัมภีร์โลกนิติบ้าง คัมภีร์โลกนัยบ้าง ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมบทก็มี นำมาตั้งแล้วแปลแต่งเป็นคำโคลงไปทุก ๆ คาถารวมเป็นเรื่องเรียกว่า โคลงโลกนิติ เป็นสุภาษิตที่นับถือกันมาช้านาน ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมโคลงโลกนิติของเก่ามาชำระแก้ไขใหม่ให้เรียบร้อยประณีตและไพเราะ เพราะของเก่าคัดลอกกันต่อ ๆ มา ปรากฏมีถ้อยคำวิปลาสผิดพลาดมาก ครั้นสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไวัในวัดพระเชตุพนฯ โคลงโลกนิติ จึงแพร่หลายแต่นั้นมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เคยรวบรวมโคลงโลกนิติ ทั้งของเก่าและที่ชำระใหม่พิมพ์ขึ้นครั้งหนึ่ง ให้ชื่อว่า “ประชุมโคลงโลกนิติ” มีคาถาบาลีและสันสกฤต เท่าที่ค้นพบพิมพ์กำกับไว้ข้างต้นของโคลงภาษิตนั้นด้วย และต่อมาได้พิมพ์อีกหลายครั้ง ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ในการพิมพ์ครั้งนั้น กรมศิลปากรได้เลือกคัดเฉพาะแต่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรทรงชำระใหม่ แต่คาถาคงไว้ตามเดิม และค้นหามาเพิ่มเติมใหม่จากการพิมพ์ครั้งแรกบ้าง แต่ถึงกระนั้นคาถาที่ยังไม่พบก็ยังมีอีกหลายบท

สุภาษิตที่ปรากฏในโคลงโลกนิติเกือบทุกบท ล้วนเป็นภาษิตที่นิยมนับถือกันว่า เป็นภาษิตที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติและจดจำไว้กล่าวสั่งสอนกันมาก การจัดทำหนังสือนี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ในทางเผยแพร่สิ่งที่ดีงามอีกโสดหนึ่งด้วย

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

ผู้แต่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงสี่สุภาพ บางบทมีภาษาบาลีกำกับด้วย จำนวน ๕๙๓ บท
ที่มา มาจากโลกนิติ(โล-กะ-นิ-ติ) เป็นคัมภีร์สอนของอินเดียโบราณ นีติ แปลว่า แนวทางในการดำเนินชีวิต โลก แปลว่า ชาวโลกหรือมนุษย์ คัมภีร์โลกนีติจึงหมายถึง หนังสือคำสอนที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
จุดมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อให้ประชาชนอ่านและรู้สุภาษิตต่างๆ และตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นตัวอย่างของโคลงสุภาพจารึกไว้ที่แผ่นศิลาประดับผนังศาลาพระมณฑป ๔ หลัง เมื่อคราวปฏิสังขรวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม
ประวัติผู้แต่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร เป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ ๑๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ เจ้าจอมมารดานิ่ม (สกุล บุญหลง) พระนามเดิมพระองค์เจ้า(ชาย)มั่ง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๓๖ ทรงเป็นหลานตาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (หน ต้นสกุล บุญหลง) ซึ่งมีนามที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่าเจ้าพระยาคลัง(หน) ผู้มีฝีมือในการแต่งหนังสือจนได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเอกในรัชกาลที่๒ ได้ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์และสืบเนื่องมาถึงรัชการที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จนสิ้นพระชนม์ พระกรณียกิจด้านวรรณกรรมเรื่องสำคัญๆได้แก่
๑.โคลงโลกนิติ
๒.โคลงภาพต่างๆ
๓ โคลงนิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทร์
๔.ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตร
๕.ฉันท์กล่อมมงคลคเชนทรชำนิเผือกพลาย
๖.ฉันท์ดุษฎีสังเวยพระพุทธบุษยรัตน์
๗.คำฤษฎี

๑.สอนให้ทำความดี
สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ
บาปเกิดแต่ตนคน เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ ใส่ผู้บาปเอง
ถอดคำประพันธ์
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีสาเหตุที่มา ผู้กระทำความดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน ส่วนผู้ทำชั่ว ก็ย่อมได้รับผลชั่วที่ได้กระทำ เหมือนสนิมเหล็กที่กัดกร่อนตัวเอง
๒.สอนให้มีความเพียรในการศึกษาเล่าเรียน
ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น นักเรียน
ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร ผ่ายหน้า
คนเกียจเกลียดหน่ายเรียน วนจิต
กลอุทกในตะกร้า เปี่ยมล้นฤามี
ถอดคำประพันธ์
นักปราชญ์เป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียรแม้ทำกิจการใดที่ยากก็ย่อมสำเร็จ (ทั่งคือแท่งเหล็กขนาดใหญ่) แต่คนเกียจคร้านการเรียนทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จเหมือนกับการตักน้ำใส่ในตะกร้า(อุทก หมายถึง น้ำ)

คุณค่าของเรื่อง
๑.คุณค่าทางด้านคติธรรมและคำสอน
โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีประเภทคำสอนที่มีสาระคำสอนที่กว้างขวางครอบคลุมความรู้สึกนึกคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของชนทุกกลุ่ม คือ ผู้รู้หรือผู้มีปัญญา คนดี คนพาล ผู้เป็นมิตร สตรี ผู้ปกครอง รวมทั้งคำสอนทั่วไป
๒.คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์
โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีทีใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะและมีความหมายลึกซึ้งคมคายด้วยกลวิธีการประพันธ์ต่อไปนี้
๑.นำธรรมชาติใกล้ตัวมาใช้เป็นความเปรียบเทียบ เช่นนำก้านบัวที่สามารถบอกความลึกของน้ำและหย่อมหญ้าที่สามารถบอกสภาพของดินมาเปรียบกับกิริยามารยาทของคนเราที่สามารถพิจารณาได้จากการอบรมเลี้ยงดู
๒.ใช้คู่เปรียบตรงข้าม ทำให้เห็นความหมายที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด เช่น
รักกันอยู่ขอบฟ้า เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียว ตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง ป่าไม้มาบัง

๓.ใช้คำเข้าใจง่าย ไม่ค่อยมีคำศัพท์ยากทำให้เข้าใจเนื้อคำสอนได้รวดเร็ว เช่น
รู้น้อยกว่ามากรู้ เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำลึกเหลือ

๔.เล่นคำซ้ำต้นบาท ทำให้เกิดความไพเราะและเน้นย้ำความหมายเช่น
เว้นวิจารณ์ว่างเว้น สดับฟัง
เว้นที่ถามอันยัง ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง- เกตว่าง เว้นนา
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้ ปราชญ์ได้ฤามี

ลักษณะโคลงสี่สุภาพ

ลักณะโคลงสี่สุภาพ

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
— ลิลิตพระลอ

แบบทบทวน
๑.หากเราจะคบเพื่อน เราควรนำบทประพันธ์ใดจากเรื่องมาใช้เป็นแบบอย่าง
๒.ในการทำความดีของคนเรานั้นในโคลงโลกนิติเปรียบเทียบกับสิ่งใด เพราะ…..
๓.ในโคลงโลกนิติบทใดที่สอนให้เราเป็นคนที่มีวาจาอ่อนหวาน
๔.โคลงโลกนิติบทใดที่เกี่ยวข้องกับสำนวนที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล”

ที่มา หนังสือเรียน รายวิชาภาษาไทยพื้นฐานม.๑ วรรณคดีวิจักษ์

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก