การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช

ในปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในประชากรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น "โรคซึมเศร้า" และ "โรคแพนิค" โดยจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งความเครียด ที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตนี้ขึ้น หรือแม้กระทั่ง "โรคจิตเภท"

ครั้งนี้ "กนก" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "คุณโบว์" พนักงานสาวสวย ที่ต้องดูแลพี่สาวแท้ๆ ที่ป่วยด้วยโรคจิตเภท มานานกว่า 2 ปี ซึ่งเคยรักษาหายแล้ว แต่ปัจจุบันกลับมาป่วยอีกครั้ง โดยเริ่มเล่าว่า ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 40 กว่าปี ซึ่งพี่สาวไม่มีแนวโน้มจะป่วยโรคจิตเภทเลย กระทั่งวันหนึ่งคนในครอบครัวเริ่มสังเกตว่า พี่สาวมีอาการตาขวางเวลาใครพูดอะไรให้ไม่พอใจ กระทั่งเขามาพูดให้คนรอบข้างฟังว่า ได้ยินเสียงอยู่ในหัว สามารถรับกระแสจิตจากมนุษย์ต่างดาวได้ หนักสุดคือ ดูโทรทัศน์ไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่า โทรทัศน์มันคุยกับเขาตลอด

จากนั้นอาการก็เริ่มหนักขึ้น เมื่อเสียงในหัวคอยสั่งให้พี่สาวคิดแต่แง่ลบ สั่งว่าอย่าไปเชื่อเวลาใครพูด และชอบออกไปเดินตามริมแม่น้ำ เดินไปตามพระราชวัง ไปดูของโบราณ เวลาเครียดจัด ถ้าเห็นมีดก็รู้สึกอยากจะแทงตัวเอง แต่เขาก็ยังไม่ยอมไปหาหมอ

กระท่ังวันหนึ่ง เราหลอกพี่สาวให้ขึ้นรถได้ เลยพาเขาไปพบจิตแพทย์ พอถึงโรงพยาบาลพี่สาวเริ่มอาละวาด ก่อนที่แพทย์จะคุย จนเขายอมรับการรักษา เพราะเขาเริ่มรู้สึกอยากทำร้ายคนอื่น หมอเลยขอมัดพี่สาวไว้กับเก้าอี้ ซึ่งเขายอม เพราะไม่อยากเป็นแบบนี้ อยากรักษาให้หาย

ก่อนหน้านี้ พี่สาวเคยทำธุรกิจเครื่องหนัง แพทย์บอกว่า อาจจะเป็นเพราะสารเคมีที่ฟอกหนัง มันส่งกระทบไปถึงสมองได้ รวมกับความเครียด ซึ่งตอนนั้นพี่สาวเพิ่งย้ายออกจากบ้านไปอยู่กับสามี ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งเคยโดนเพื่อนโกงเงิน จึงมีความเครียดสะสม

จากการสังเกตช่วงที่พี่สาวป่วย คือจะมีทั้งอาการ ที่เป็นข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อเสีย คือ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห ต้องเก็บของมีคมทุกสิ่งไม่ให้อยู่ใกล้ แต่โชคดีที่พี่สาวไม่เคยทำร้ายใคร ส่วนข้อดีคือ จะมีความเป็นศิลปินออกมา คือสามารถวาดภาพ แต่งเพลง เล่นกีตาร์ แต่งกลอนออกมาได้ดีมาก

จากนั้น พี่สาวก็เริ่มรักษาโรคจิตเภทด้วยการกินยา ได้ประมาณ 3-4 เดือน อาการก็เริ่มดีขึ้นจนหาย แล้วเริ่มกลับมาทำงานได้ปกติ แต่รอบหลังที่สังเกตว่า เขาเริ่มกลับมาป่วยอีกครั้ง คือ เขาเริ่มกลับมาแต่งกลอน เริ่มมีความเป็นศิลปะออกมาอีกครั้ง ซึ่งตนเชื่อว่าอาการป่วยพี่สาวเริ่มกำเริบ เลยถามพี่สาวว่า ได้ยินเสียงในหัวอีกแล้วใช่ไหม พี่สาวก็ตอบว่าใช่

แต่ความยากในการพาพี่สาวไปรักษาครั้งนี้ คือ สามีพี่สาวเป็นชาวต่างชาติ เลยไม่ค่อยเชื่อเรื่องพวกนี้ ทำให้เป็นอีกปัจจัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพาไปรักษา และที่สำคัญคือพี่สาวไม่ยอมให้เจอ เคยบอกแม้กระทั่งว่า แม่ไม่สบาย พี่สาวก็ยังไม่ยอมมาเจอ เพราะกลัวจะหลอกพาไปพบแพทย์ ซึ่งคงต้องหาวิธีเพื่อจะรับตัวไปรักษาให้ได้ต่อไป

สุดท้าย ฝากถึงคนที่คิดว่าตัวเองป่วย แต่กลัวการไปพบแพทย์ ว่า ถ้าคนที่รู้ว่าตัวเองป่วยแล้วอยากหาย ควรรีบไปรับการรักษา แต่สำหรับคนที่ป่วย แต่ไม่อยากไปพบแพทย์ ไม่อยากกินยา เราอาจจะบอกผู้ป่วยไม่ได้ เพราะเขาไม่รับรู้ คงต้องบอกคนในครอบครัว ว่าให้พยายามให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนคนที่ต้องดูแลผู้ป่วย ต้องใช้กำลังใจมากๆ เพราะบางครั้ง มันหนักสำหรับคนที่ต้องคอยดูแล ฉะนั้นต้องใช้ความอดทนเยอะๆ

ด้าน นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต เผยว่า "ผู้ป่วยจิตเภท" ภาษาอังกฤษเรียกว่า Schizophrenic เป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากพันธุกรรม คือ ในช่วงเวลาที่เป็นเด็กก็ยังคงใช้ชีวิตปกติ แต่พอโตมาจนถึงช่วงวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น สมองเริ่มมีการหลั่งสารเคมีที่ผิดปกติในบางบริเวณ ทำให้คนไข้เริ่มมีอาการแยกตัว มีการสนใจทฤษฎีแปลกๆ มากขึ้น หรือเริ่มพูดไม่รู้เรื่อง หูแว่ว เกิดภาพหลอน มีการหลงผิด ซึ่งคนสมัยก่อนจะเรียกคนที่ป่วยโรคนี้ว่า "วิกลจริต" หรือ "คนบ้า"

แต่ปัจจุบันเราค้นพบว่า เป็นโรคที่สมองทำงานผิดปกติ ซึ่งจริงๆ คนที่ป่วยในกลุ่มนี้สามารถหาทางรักษาและคุมอาการให้ดีขึ้นได้ บางรายรักษาจนอาการดีขึ้นมาก สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางคนถ้ารักษาไม่ดีก็อาจจะเกิดเป็นอาการเรื้อรังได้

ในช่วงแรกอาการเริ่มต้นจะเป็นอาการนำมาก่อน คือช่วงแรกคนไข้จะยังไม่มีอาการหูแว่ว ภาพหลอน แต่จะเริ่มแยกตัว หมกมุ่นกับทฤษฎีแปลกๆ มากขึ้น ไม่สุงสิงกับคนอื่น เปลี่ยนไปในช่วง 6 เดือนแรก จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีอาการชัดๆ คือ หูแว่ว เกิดภาพหลอน ระแวง มีความคิดแปลกๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

จากนั้น เมื่ออาการเริ่มมากขึ้นก็จะเริ่มดูแลตัวเองไม่ดี อาจจะไม่อาบน้ำ เก็บตัว ทำงานไม่ได้ เข้าสังคมไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งพฤติกรรมของแต่ละคน จะแปลกและแตกต่างกันไป บางคนก็ไปแก้ผ้าโชว์ พูดคนเดียว หรือแอบออกจากบ้านไปเป็นคนเร่ร่อน แล้วแต่เคส

สำหรับคนที่ป่วยจิตเภท คนไข้จะแยกอาการเหล่านี้ยาก ไม่เหมือนซึมเศร้าหรือกังวล ที่คนป่วยจะรู้ตัวว่ากังวล หรือเศร้าเกินปกติ แต่ในกรณีของผู้ป่วยจิตเภท เวลาเกิดอาการหูแว่ว ภาพหลอน คือ เขาเห็น และได้ยินจริงๆ ซึ่งไม่ได้มาจากเสียงภายนอก แต่เกิดจากสมองผลิตภาพและเสียงนั้นขึ้นมาเอง บางทีผู้ป่วยก็จะแยกยากว่า เป็นเรื่องจริงหรืออาการของโรค

ขณะที่ปัจจุบัน ต้องใช้ยาในการรักษาเป็นหลัก โดยคนไข้ต้องมาหาแพทย์สม่ำเสมอ และกินยาต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ห้ามใช้สารเสพติดโดยเด็ดขาด ซึ่งคนไข้บางส่วนจะมีอาการดีขึ้น แต่บางส่วนอาจมีการเรื้อรังได้ แล้วแต่ว่าระยะเวลาที่ป่วยนั้น เป็นมานานเท่าไร หรือรุนแรงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การรักษายังไม่สามารถรักษาให้หายขาด 100% ได้ อย่าง 1 ใน 3 ของผู้ที่รักษาโรคนี้อยู่นั้น หากรักษาเกิน 2 ปีขึ้นไป อาจจะไม่มีอาการซ้ำ ต้องตามดู หรือบางส่วน 1 ใน 3 จะมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง โดยต้องรักษาไปเรื่อยๆ แต่ก็มีบางส่วนรักษาจนอาการดีขึ้น สามารถควบคุมอาการได้ สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ มี 4 วิธีง่ายๆ ดังนี้

  • มีญาติคอยดูแล ใช้ครอบครัวบำบัด พร้อมพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกแก่กันได้ และสังเกตอาการเตือนของผู้ป่วยก่อนนำเข้าพบแพทย์ 

  • สิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ควรให้ผู้ป่วยได้กินยาอย่างต่อเนื่อง 

  • ให้ผู้ป่วยมารักษาอาการตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดนัด 

  • ขจัดยาเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด ทั้งสุราและยาเสพติด

สำหรับวิธีป้องกันโรคจิตเภท คือ ไม่ใช้สารเสพติด ดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย ลดความเครียด อย่าอดนอน ถ้าในครอบครัวเรามีพันธุกรรมอยู่ ต้องดูแลตนเองให้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ถ้ามีความเครียดมากๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

ขอบคุณ : นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต

กราฟิก : Supassara Traiyansuwan

มีแนวทางการปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเจอกับผู้ป่วยทางจิต

ฟังด้วยความตั้งใจ และท่าทีที่สบายๆ ไม่คะยั้นคะยอ และไม่ตัดสินใจแทน นั่นเพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูด ...

ผู้ป่วยจิตเวช รักษายังไง

การบำบัดรักษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การบำบัดโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา การใช้ยาจะให้ยาเป็นตัวปรับสารเคมีในสมองที่เป็นผลต่อโรคให้มีความสมดุล ส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยาจะดูแลในเรื่องของความเครียดที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรค หรือรักษาอาการป่วยทางร่างกายที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช

ประสาทหลอนเเก้ยังไง

การรักษาด้วยยา เช่น หากอาการหลอนเกิดขึ้นจากอาการถอนสุราที่รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาเพื่อชะลอระบบประสาท หรือการใช้ยารักษาโรคทางจิตและหรือโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ รวมไปถึงให้ใช้ยาต้านชัก (Antiseizure) เพื่อรักษาโรคลมชัก และใช้ยาทริปแทน (Triptans) หรือยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) สำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน

อาการทางจิตคืออะไร

โรคจิต (Psychosis) คือ ภาวะอาการทางจิตที่ผู้ป่วยมักมีอาการหลงผิดไปจากความเป็นจริง ประสาทหลอน หูแว่ว เห็นภาพหรือรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง อาการโรคจิตหรือวิกลจริตนี้เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายในอย่างความผิดปกติทางจิตต่าง ๆ อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย และปัจจัยภายนอกอย่างการใช้ยาหรือสาร ...

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก