การ ลา ออก จาก งาน ตาม กฎหมาย

คำถาม ลูกจ้างถูกกดดันให้เขียนใบลาออก สามารถฟ้องเรียกค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ได้ไหม?

ตอบ โดยปกติ หากลูกจ้างเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกจากงานเอง ไม่สามารถเรียกร้องได้ 

    แต่ กรณีที่นายจ้างกดดันให้ต้องเขียนใบลาออก หรือ การลาออกไม่ได้เกิดจากความสมัครใจที่จะเขียนใบลาออก ศาลถือว่าเป็นการที่นายจ้าง เลิกจ้างลูกจ้าง

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2548

    จำเลยเป็นฝ่ายบีบบังคับให้โจทก์ยื่นใบลาออกโดยพูดว่าหากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะลูกจ้างย่อมเกิดความกลัวและยอมทำใบลาออกให้แก่จำเลย การเขียนใบลาออกของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะการพูดข่มขู่ของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับการที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกทันทีฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะไม่ให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจะไม่จ่ายค่าจ้าง ดังนั้นพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง

คำถาม การลาออก ต้องให้นายจ้างอนุมัติไหม?  

ตอบ การลาออกเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว แม้ว่าการลาออกยังไม่ได้รับอนุมัติจากนายจ้างก็มีผลเป็นการลาออกทันทีที่การแสดงเจตนาลาออกนั้นไปถึงนายจ้าง และ แม้ว่านายจ้างจะมีระเบียบหรือข้อบังคับว่าการลาออกต้องได้รับอนุมัติจากนายจ้างก่อนก็ตาม ก็ยังถือว่าการลาออกมีผลทันทีอยู่นั่นเองครับ 

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2550

    โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงิน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เมื่อถึงวันที่กำหนดในหนังสือขอลาออกโจทก์ก็ไม่ได้เข้ามาทำงานกับจำเลยอีก ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในหนังสือขอลาออก การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แม้ว่าตามระเบียบของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 8 จะระบุว่า "พนักงานขอลาออกจากการเป็นพนักงานของสมาคมให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และให้มีผลของการลาออกได้เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ" และคณะกรรมการดำเนินงานของจำเลยจะมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากงานโดยชอบ สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แล้ว ดังนี้จำเลยจึงไม่อาจเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ด้วยการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 โดยอ้างว่าการที่โจทก์ลาออกเป็นการกระทำผิดระเบียบสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 9 (5) ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งได้สั่งในกิจการของสมาคม ฯ (6) ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้สมาคม ฯ เสียหายอย่างร้ายแรง (7) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่สมาคม ฯ อย่างร้ายแรง และ (9) ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ตามหนังสือแจ้งผลการสอบวินัยความผิดอีกแต่อย่างใด คำสั่งจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานจึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2545

    โจทก์ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 โดยขอลาออกตั้งแต่วันที่ 16เมษายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด การเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในใบลาออกนั้นการจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 16 เมษายน 2540 เมื่อการจ้างสิ้นสุด โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 ในวันที่การจ้างสิ้นสุดลง การที่จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จำเลยต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแต่การกระทำของจำเลย

คำถาม ลูกจ้างแจ้งลาออกกับหัวหน้างาน มีผลเป็นการลาออก หรือไม่?

ตอบ ไม่

แม้ตามปกติลูกจ้างมักจะติดต่อประสานงานกับหัวหน้างานโดยตรงของตัวเองเป็นหลัก เช่น ยื่นใบลางาน ลาป่วย ลากิจ หรือ พักผ่อนประจำปี

แต่ศาลมองว่าหัวหน้างานไม่มีอำนาจไล่ลูกจ้างออก หัวหน้างานไม่ใช่ตัวแทนนายจ้างในกรณีการจ้าง

ประเด็นว่าหัวหน้างานมีอำนาจไล่ลูกจ้างออกหรือไม่ ให้พิจารณา ดังนี้

   1) โดยทั่วไปหัวหน้างานไม่มีอำนาจไล่ลูกจ้างออกจากงาน

   2) มีข้อยกเว้นที่หัวหน้างานมีอำนาจไล่ลูกจ้างออกจากงานได้ คือ ได้รับมอบหมายหรือมอบอำนาจจากนายจ้าง ให้มีอำนาจในการจ้าง หรือการเลิกจ้าง การรับมอบหมายอาจได้รับโดยปริยายก็ได้ เช่น นายจ้างทราบว่าหัวหน้างานการเลิกจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ยอมรับการกระทำของหัวหน้างานนั้น โดยการไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หรือ หัวหน้างานเคยไล่ลูกจ้างออกจากงานอยู่เป็นประจำ นายจ้างทราบเรื่องแล้วแต่ก็ไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือนอะไรทำให้ลูกจ้างเข้าใจว่าหัวนั้นงานนั้นมีอำนาจเลิกจ้างได้ เป็นต้น

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2546

วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า ลูกจ้างแจ้งลาออกด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมิได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้าง จึงไม่มีผลทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง ลูกจ้างไม่ได้ไปทำงานให้แก่นายจ้างตลอดมา ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำถาม สัญญาจ้าง บังคับให้ลูกจ้างทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี หากลาออกก่อนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ข้อตกลงนี้ใช้บังคับได้หรือไม่?

ตอบ บังคับได้ ถือว่าเป็นการกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจปรับลดจำนวนเงินลงได้ หากเห็นว่าสูงเกินส่วน

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2559

    การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก