กฎหมายกับจริยธรรม ตัวอย่าง

กฎหมายและจริยธรรม

เผยแพร่: 2 ส.ค. 2549 20:13   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต

กฎหมายและจริยธรรมเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในเชิงความคิดในระดับกว้างในสังคมไทยขณะนี้ สาเหตุเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรสาธารณะตั้งแต่สมาชิกรัฐสภา ฝ่ายบริหาร ศาล ข้าราชการ รวมตลอดทั้งผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น หมอ นักธุรกิจ ครูบาอาจารย์ กำลังถูกตรวจสอบในเรื่องจริยธรรมซึ่งละไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (professional ethic) รวมตลอดทั้งศีลธรรมส่วนตัว (morality) และที่เป็นเรื่องที่สังคมกำลังกล่าวถึงมากที่สุดก็คือเรื่องที่มีการทำโพลล์ถามเยาวชนว่าด้วยจริยธรรมและนักการเมือง ปรากฏว่าเยาวชนกว่า 50% ตอบว่าการไม่มีจริยธรรมของนักการเมืองไม่ใช่เรื่องสำคัญถ้าทำงานได้ และที่เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดนั้นก็คือ การที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวหลายครั้งถึงศีลธรรม จริยธรรม ของนักธุรกิจและของนักการเมืองที่บริหารประเทศ

มีข่าวว่ามีที่ปรึกษาระดับสูงของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรสาธารณะขณะนี้ เคยกล่าวคำพูดมีใจความว่า "จริยธรรมเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ" นอกจากนั้นยังมีคนบางคนพูดว่า "จริยธรรมเป็นเรื่องนามธรรม" นอกจากนั้นยังมีสมาชิกขององค์กรการเมืององค์กรหนึ่งได้กล่าวในรายการวิทยุโทรทัศน์ความว่า "พวกนักวิชาการชอบพูดเรื่องจริยธรรม ทั้งๆ ที่ควรเน้นเรื่องกฎหมายว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือไม่มากกว่าการพูดถึงเรื่องจริยธรรม" และที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือคำกล่าวของ

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ว่า "ถามว่าพื้นฐานจริยธรรมคืออะไร คือทำถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่ ถ้าผิดจริยธรรมแปลว่าผิดกฎหมาย แล้วอันนี้เห็นว่ามีการทำผิดกฎหมายมั้ยครับ ถ้ายังตัดสินไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมก็ทำไปเลย ฟ้องไปเลย ถูกไหมครับ" จากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 สิงหาคม 2549

ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือว่า อะไรคือกฎหมาย กฎหมายคือกฎกติกาที่ตราขึ้นในสังคมเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยสันติ ป้องกันมิให้การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน คุ้มครองสิทธิขั้นมูลฐานอันได้แก่สิทธิทางการเมือง สิทธิในร่างกายและทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเลือกที่อยู่ รวมตลอดทั้งการหาข้อยุติในข้อพิพาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า นิติกรรมสัญญา การรับมรดก ฯลฯ หลักของกฎหมายมีอยู่ว่า จะต้องเป็นกติกาที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ มีกระบวนการออกกฎหมายตามข้อตกลงของสังคม ประกันความยุติธรรมโดยทั่วหน้าไม่ใช่เฉพาะเจาะจง และจะต้องมีสภาพบังคับ กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การปกครองบริหารที่ใช้กฎหมายเป็นหลัก ที่เรียกว่า นิติรัฐ (legal state) ขณะเดียวกันก็จะเป็นการจรรโลงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม (the rule of law) การธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมนั้นหมายความว่านอกจากกระบวนการออกกฎหมายตามกติกาที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับแล้ว จะต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความถูกต้องและความยุติธรรม นั่นหมายความว่า การพิจารณากฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชนจะต้องคำนึงถึงตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร (the letter of the law) และเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายนั้น (the spirit of the law) นอกเหนือจากนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักนิติปรัชญา (legal philosophy) ซึ่งได้แก่ หลักการและปรัชญาทางกฎหมายที่สังคมได้สร้างสมมานานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

และทั้งหลายทั้งปวงกล่าวมานี้จะมองข้ามหลักสำคัญหลักหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ ในหลักนิติปรัชญานั้นจะแฝงไว้ซึ่งจริยธรรมของผู้ใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ซึ่งมีอำนาจรัฐหรืออำนาจตามกฎหมายที่สามารถให้คุณให้โทษกับคนในสังคมได้ ในกรณีดังกล่าวนี้บุคคลที่สำคัญที่สุดคือบุคคลที่อยู่ใน 3 อำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมตลอดทั้งข้าราชการฝ่ายต่างๆ ที่มีอำนาจในการใช้อำนาจรัฐ ใช้ทรัพยากร และการวางนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนเป็นจำนวนมากในสังคมนั้นๆ ในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติหรือผู้ออกกฎหมายนั้น นอกเหนือจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องนิติบัญญัติ หรือกระบวนการออกฎหมายที่ถูกต้อง หลักการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ความยุติธรรม ดังนั้นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายจึงต้องแฝงไว้ด้วยความรู้และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่ยอมออกกฎหมายที่จะนำไปสู่การเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะจะต้องมีลักษณะสากลและต้องไม่ขัดกับหลักการความถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมและจริยธรรมในสังคม แต่ถ้าหากสภาวะไม่เป็นไปตามที่กล่าวก็จะนำไปสู่ปัญหาอย่างไม่สิ้นสุด ดังคำกล่าวของนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา ที่ว่า

"เศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีปัญหาจากกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นความจริงที่ว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน มีส่วนในการพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ทั้งกระบวนการนับแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว เริ่มจากการออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติต้องออกกฎหมายมาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ออกกฎหมายมาเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือบางบุคคล เมื่อได้กระบวนการออกกฎหมายที่ดีแล้ว กระบวนการยุติธรรมในขั้นสืบสวน สอบสวน และในชั้นอัยการ ต้องเป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้กลุ่มผลประโยชน์หรือนักการเมือง และเมื่อคดีมาถึงศาล ศาลก็ต้องพิจารณาคดีด้วยความเป็นกลาง ต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐและกลุ่มผลประโยชน์ จากนั้นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่บังคับตามคำพิพากษา ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพจริงจัง ไม่ลูบหน้าปะจมูก

หากสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักการข้างต้นได้ ก็จะทำให้ประชาชนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำให้เศรษฐกิจของบ้านเมืองดีขึ้น ประเทศคู่ค้ากับเรา ก็ให้ความเชื่อถือ สิ่งที่ควรกระทำก็คือ การพัฒนาโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้ดีขึ้น มีอิสระและเป็นกลาง ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์และฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยภาพรวมกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรายังถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐได้อยู่ในทุกขั้นตอน แต่ในขั้นตอนของศาล จะพยายามไม่ให้อำนาจรัฐหรือฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งศาลยุติธรรมก็พิถีพิถันในเรื่องนี้อยู่แล้ว" จาก หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 สิงหาคม 2549

ถ้าหากกระบวนการออกกฎหมายเป็นกระบวนการซึ่งเน้นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม โดยอาศัยกลไกทางการเมืองเป็นเครื่องมือเนื่องจากมีจำนวนเสียงในสภามากพอที่จะออกกฎหมายได้ ก็จะเป็นการออกกฎหมายที่ขัดแย้งกับหลักการความถูกต้อง ขัดจริยธรรม และเมื่อผู้ออกกฎหมายซึ่งมีอำนาจในการคุมอำนาจนิติบัญญัตินำกฎหมายมาใช้ในฐานะฝ่ายบริหาร กฎหมายนั้นก็จะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือของกลุ่มโดยเฉพาะ จะขาดลักษณะสากล และที่สำคัญที่สุดจะขัดต่อหลักนิติธรรม (the rule of law) เนื่องจากเป็นการบริหารโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ หรือ the rule by law ซึ่งมักจะไม่คำนึงถึงความยุติธรรม จริยธรรม หรือหลักการความถูกต้องที่มีอยู่ในนิติปรัชญา

ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) เพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องไม่เพียงพอ ในทางการเมืองนโยบายหรือการกระทำจะต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและสอดคล้องกับจริยธรรม โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายนั้นด้วยจึงจะมีความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ซึ่งเกิดจากกฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือเฉพาะกลุ่มย่อมไม่มีความชอบธรรม (legitimacy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขัดต่อหลักจริยธรรม ผู้กุมอำนาจรัฐคนใดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในลักษณะดังกล่าวย่อมจะขาดธรรมแห่งอำนาจ (moral authority) ในการปกครองบริหาร

ตัวอย่างสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือที่กฎหมายเอาโทษไม่ได้ แต่มีปัญหาเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมนั้นมีดังต่อไปนี้คือ

1. ครูบาอาจารย์ซึ่งนอกจากเป็นผู้สอนวิชาความรู้แล้ว ต้องเป็นตัวอย่างของผู้ซึ่งผดุงไว้ซึ่งศีลธรรมและจริยธรรม มีสิทธิตามกฎหมายที่จะลงทุนเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจอาบอบนวด โดยตั้งบริษัทจำกัดซึ่งถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำถามก็คือ ครูบาอาจารย์เหล่านั้นทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ในแง่ศีลธรรมส่วนตัว (morality) และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (professional ethic)

2. นายแพทย์ซึ่งตรวจช่องคลอดของคนไข้เมื่อคนไข้ขึ้นขาหยั่ง แต่แสดงสีหน้าบ่งบอกไปในทางความรู้สึกทางเพศซึ่งไม่ใช่สีหน้าของผู้มีอาชีพแพทย์ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย คำถามก็คือ แพทย์ผู้นั้นสมควรที่จะรักษาคนไข้ต่อไปหรือไม่ และสมควรที่จะได้รับความไว้วางใจจากคนไข้ต่อไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร

3. นักธุรกิจที่ฉกฉวยประโยชน์ในขณะที่สินค้าขาดแคลน ขายสินค้าในราคาที่สูงกว่าปกติเนื่องจากสินค้าดังกล่าวมิได้มีการควบคุมตามกฎหมาย เป็นการฉกฉวยหาประโยชน์ค้ากำไรเกินควร (profiteering) แทนที่จะเป็นการทำกำไร (profit making) ตามปกติ แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่นักธุรกิจผู้นั้นจะตอบได้หรือไม่ว่าเขาคือคนที่เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมชาติ หรือเป็นพลเมืองดีของโลก

ผู้ปล่อยเงินกู้ที่เรียกดอกเบี้ยนอกระบบโดยกฎหมายไม่สามารถจะเอาเรื่องได้เพราะมีวิธีการที่แยบยล หรือนักธุรกิจที่กู้เงินจากธนาคารแล้วล้มบนฟูกโดยกฎหมายเอื้อมไม่ถึง บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมายเพราะกฎหมายเอาเรื่องไม่ได้ คำถามก็คือ ทำผิดศีลธรรมและจริยธรรมหรือไม่

ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงในภาครัฐหาประโยชน์จากการให้บริษัทของตนได้ขายสินค้าให้กับต่างชาติ ซึ่งกู้เงินจากประเทศที่ตนเป็นผู้บริหารอยู่โดยลดดอกเบี้ยโดยธนาคารของรัฐให้เป็นพิเศษ และเงินดอกเบี้ยที่ลดให้นั้นมาจากภาษีอากรของประชาชน ผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ถูกต้องหรือไม่ทั้งในแง่ศีลธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร

การนำคนที่ขาดความรู้ ขาดจริยธรรม เข้ามาดูแลบริหารบ้านเมือง การเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อญาติโกโหติกาโดยใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่มีกระบวนการออกฎหมายที่ขัดต่อหลักจริยธรรม ขัดต่อหลักนิติธรรม หากแต่เป็น the rule by law เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่

กฎหมายต้องผดุงไว้ซึ่งความถูกต้อง ความยุติธรรม จริยธรรม ความดีงามในสังคม เป็นแบบอย่างที่คนส่วนใหญ่จะถือเป็นแนวปฏิบัติ เป็นหลักการและหลักเกณฑ์สำหรับอนุชนรุ่นหลัง ไม่ใช่อาศัยความอ่อนแอของสังคมและของระบบออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม และอ้างตัวบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เหตุผลกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองจะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่าประชาชนทั่วๆ ไป และในกรณีที่มีช่องโหว่ของกฎหมายจะต้องออกกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่นั้น ไม่ใช่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่ และในกรณีที่ออกกฎหมายเพื่อให้เกิดช่องโหว่ยิ่งจะเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและจริยธรรมยิ่งขึ้น ขงจื้อจึงกล่าวว่า "ผู้มีอำนาจต้องมีคุณธรรม เพราะถ้าขาดคุณธรรมก็จะใช้อำนาจข่มเหงรังแกประชาชน หรือหาประโยชน์ใส่ตัว บุคคลเช่นนั้นย่อมจะเป็นนักปกครองที่ดีไม่ได้" ผู้ที่อ้างกฎหมายทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าขัดหลักจริยธรรม คือผู้ซึ่งขาดหิริโอตตัปปะ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งของการเป็นคนดี และนักปกครองบริหารที่ดี

ข้อที่จะเตือนสติสำหรับคนไทยทุกคนก็คือ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ขั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร 29 ตุลาคม 2524 ความว่า

"...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลความเป็นจริงด้วย..."

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก