ปฏิเสธงาน อย่างไรไม่ให้น่าเกลียด

เคยลำบากใจที่จะเอ่ยคำว่า “ไม่” ออกมากันไหมคะ? ทั้งที่บางครั้งอยากจะปฏิเสธไปอย่างเด็ดขาด แต่ก็กลัวว่าถ้าพูดออกไปตรง ๆ แล้ว เขาจะผิดหวัง เขาจะโกรธ จนกระทบถึงความสัมพันธ์อันดีงามที่มีร่วมกันมา และหลายครั้งก็เจอสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ได้แต่รับปาก Say Yes ไปด้วยความเกรงใจ แล้วกลับมานั่งไมเกรนขึ้นตามลำพังเงียบ ๆ ไป ๆ มา ๆ Say Yes วันนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาวันหน้า แต่จะ “ไม่” อย่างไรให้บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นกัน วันนี้เรามีศิลปะการตอบปฏิเสธอย่างมีชั้นเชิงมาเสนอค่ะ
 

เสนอคำแนะนำอื่นให้เห็นว่าเราใส่ใจ

แทนที่เราจะปฏิเสธไปว่า“ไม่” ทื่อ ๆ ลองเสนอทางออกหรือคำแนะนำอื่นดู เช่น เพื่อนร่วมงานขอให้ช่วยออกแบบการ์ดแต่งงานให้ เพราะเห็นว่า เราพอทำกราฟิกได้ เราต้องการจะปฏิเสธ แต่ถ้าบอกไปตรง ๆ ว่า “ไม่อยากทำอ่ะ ขี้เกียจ เงินก็ไม่ได้” เพื่อนอาจจะรู้สึกแย่ งั้นลองบอกไปว่า “เราไม่เก่งหรอก ทำได้แค่งู ๆ ปลา ๆ แต่เดี๋ยวเราแนะนำร้านที่เข้ากับสไตล์เธอให้นะ หรือว่าเธอทำแล้วเอามาให้เราช่วยดูก็ได้” อย่างน้อยก็แสดงถึงความใส่ใจกลับไปสักนิดก็ยังดี
 

พูดขอบคุณรักษาน้ำใจกัน

บางเรื่องก็ไม่ได้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่เราก็ลำบากใจในการปฏิเสธ กลัวโดนงอน โดนโกรธ ก็ต้องหาวิธีตอบกลับไปแบบละมุนละม่อม เช่น เพื่อนชวนไปเที่ยวทะเล อยากให้เราได้ไปเปิดหูเปิดตา แต่เราอยากนอนกลิ้งอยู่บ้านมากกว่า เราก็บอกเพื่อนไปว่า “ขอบคุณนะที่ชวน/ขอบคุณมากที่นึกถึงกัน แต่วันหยุดนี้เราวางแผนจะทำงานบ้าน เพราะไม่ได้หยุดมาหลายอาทิตย์แล้ว ผ้ากองเต็มตะกร้าเลย ไว้โอกาสหน้านะ”
 

ตั้งคำถามกลับไปไม่โกง

บางสถานการณ์ที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ง่าย ๆ เช่น หัวหน้ามอบหมายงานให้ เรามีความเห็นไม่ตรงกับหัวหน้า แต่ถ้าบอกว่า ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเป็นงานในหน้าที่ของเรา แต่ถ้ารับปากแล้วทำไม่ได้ก็ยิ่งเสียหาย ลองบอกหัวหน้าไปว่า “หัวหน้าคะ/ครับ...ดิฉัน/ผมดีใจที่หัวหน้าให้ความไว้วางใจ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นแบบนี้... งานจะออกมาเพอร์เฟกต์มากค่ะ/ครับ หัวหน้าว่าอย่างนั้นไหมคะ/ครับ?” วิธีนี้จะทำให้คนฟังรู้สึกคล้อยตาม เป็นการช่วยประนีประนอมได้อีกทาง
 

ขอไปดูตารางงานก่อนนะ

เคยไหมคะ ไม่ได้อยากจะรับปาก แต่สถานการณ์มันพาไป คนถามมายืนกดดันอยู่ตรงหน้า พอตอบว่า “ไม่” ไป ก็มีคำถามมากมายตามมา คนขี้เกรงใจอย่างเราก็เผลอรับปากซะงั้น เช่น เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด (ที่ยังต้องทำงานร่วมกัน) บอกว่า วันที่ 5 เดือนหน้าไปปาร์ตี้วันเกิดเพื่อนของเพื่อนเป็นเพื่อนเราหน่อยสิ ช่างกล้าชวนเนอะ แต่เพราะยังต้องทำงานที่เดียวกัน เราอาจบอกไปว่า “เดี๋ยวขอเราไปดูตารางงานก่อนนะ ช่วงนี้งานยุ่งมากเลย” แล้วก็ปลีกตัวออกมาเนียน ๆ วิธีนี้จะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงสถานการณ์กดดันตรงหน้าได้ดี
 

บอกเหตุผลไปตรง ๆ แต่อย่าโกหก

หลายคนไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร จะบอกเหตุผลตรง ๆ ก็กลัวโดนโกรธ โดนตำหนิ หรือโดนมองในแง่ร้าย จึงเลือกที่จะโกหก เช่น หัวหน้าชวนไปเล่นแบดมินตันวันเสาร์ แล้วเพื่อนร่วมงานตกลงกันหมด เหลือแค่เราคนเดียว ซึ่งเรานัดแฟนไว้ จะไปเที่ยวบ้านแฟน จะบอกไปตรง ๆ ก็ไม่กล้าเพราะกลัวโดนว่า เลยโกหกไปว่า แม่ป่วยเข้าโรงพยาบาล ตอนหลังถ้าหัวหน้ามาทราบว่า ไม่เป็นความจริง เราจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะทันที ดังนั้น ทางที่ดี คือ ปฏิเสธไปตรง ๆ ไม่ต้องอ้างนู่นนี่ให้มากความ

การมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมว่า เราไม่สามารถช่วยเหลือทุกคนได้ในทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะพูดคำว่า “ไม่” ออกมาบ้าง ดีกว่าเรารับปากแล้วมานั่งกลุ้มใจทีหลัง หนักไปกว่านั้น คือ ถ้ารับปากแล้วไม่สามารถทำได้ จะทำให้ตัวเราดูแย่ทันทีทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของเรา ดังนั้นจะ Say Yes กับใครให้คิดให้ถี่ถ้วน และเอาความสบายใจของเราเป็นหลัก ถ้าเราไม่อยากทำก็ Say No ไปตรง ๆ แต่ถ้าใครรู้สึกไม่ดีที่จะปฏิเสธโต้ง ๆ ลองเอาศิลปะการตอบปฏิเสธไปลองใช้กันได้นะคะ

Beau_Monde

30 สิงหาคม 2563 ( 08:05 )

     การตอบว่าใช่นั้นง่ายกว่าการปฏิเสธค่ะ แต่การตอบว่าใช่นั้นมักจะตามมาด้วยการรับเอางานทุกอย่างมาไว้ในมือ ซึ่งเราเชื่อว่าสาวๆ นั้นไม่กลัวการทำงานหนัก แต่กลัวการทำงานไม่ทันจนกระทบกับเพื่อร่วมงานคนอื่นๆ มากกว่า ยิ่งในการทำงานบางที่นั้นการปฏิเสธอาจจะถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจและเป็นคนไม่มีความอดทนด้วยแล้ว การเอ่ยปากพูดว่า "ไม่" ในบางครั้งช่างยากแสนยากค่ะ

     เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่สาวๆ เอ่ยปากปฏิเสธกับหัวหน้างานด้วยแล้ว อาจจะโดนคำถามว่าแล้วเขาจะจ้างเรามาทำไม ซึ่งทำให้เราเองนั้นเกรงใจและต้องจำใจตอบรับงานไปในที่สุด ถึงแม้ว่างานนั้นเราจะไม่ถนัดหรือมีงานอื่นล้นมืออยู่แล้วก็ตาม แต่หากเรามีเทคนิคในการปฏิเสธอย่างสุภาพและนุ่มนวล ก็อาจทำให้เรารอดจากสถานการณ์นี้ไปได้ค่ะ ซึ่งเทคนิคที่ใช้ปฏิเสธนั้น สาวๆ ควรทำดังนี้ค่ะ

3 วิธีปฏิเสธอย่างสุภาพ ทำอย่างไรไม่ให้ผิดใจในที่ทำงาน

1. ปฏิเสธงานที่ไม่เกี่ยวกับเรา

     ลองเริ่มปฏิเสธงานที่ไม่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของเรา โดยอาจให้เหตุผลว่าเป็นงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่และตนเองนั้นไม่มีอำนาจมากพอในการที่จะทำงานนี้ค่ะ

2. ปฏิเสธงานที่อยู่นอกเหนือเวลาการทำงาน

     แน่อนว่าในแต่ละครั้งที่เราเอ่ยปากปฏิเสธ เราก็ควรจะต้องให้เหตุผลที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน อย่างการทำงานนอกเวลาในบางครั้งนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่หากเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราก็สามารถปฏิเสธได้ โดยใช้เหตุผลเกี่ยวกับครอบครัวก็ได้หรือจะใช้เหตุผลว่าในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นจะทำให้ก็ได้ค่ะ


3. ปฏิเสธเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน

     

วัฒนธรรมองค์กรบางที่นั้นก็นิยมออกไปสังสรรค์กันหลังเลิกงาน หากสาวๆ รู้สึกไม่สะดวกใจด้วยเหตุผลส่วนตัวก็สามารถปฏิเสธได้ โดยให้เหตุผลเรื่องของการกลับไปดูแลครอบครัวหรือต้องรีบกลับบ้านเนื่องจากหากกลับดึกจะเป็นอันตรายค่ะ

     การปฏิเสธนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายและไม่ได้กระทบกับใครหากเราให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาค่ะ เมื่อไหร่ก็ตามที่สาวๆ เริ่มรู้สึกไม่สบายใจในการต้องมาทำงานในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำก็สามารถเอ่ยปากปฏิเสธได้ เพียงแต่น้ำเสียงในการปฏิเสธรวมถึงการเลือกใช้เหตุผลนั้น ควรต้องไม่คุกคามและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้านั่นเองค่ะ

.........................................

อัพเดทเทรนด์เมคอัพ แฟชั่น เคล็ดลับลดน้ำหนัก และไลฟ์สไตล์ผู้หญิงใหม่ๆ ทุกวัน

ได้ที่แอปพลิเคชัน ทรูไอดี ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก