ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญมีความเป็นมาอย่างไร

รัฐธรรมนูญ

ความหมาย

            ความหมายของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน หมายถึง กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะกำหนดที่มาของอำนาจ โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองการปกครองในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันและกัน

            วิวัฒนาการทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย นักปราชญ์ทางการเมืองได้ให้ความหมายของรัฐธรรมนูญ   แตกต่างกัน ดังนี้

            เพลโต และอริสโตเติล ในยุกกรีกโบราณเมื่อ 400 - 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ได้ให้ความหมายของ        รัฐธรรมนูญว่าหมายถึงอธิปไตยสูงสุดทางการเมืองการปกครอง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบของรัฐ และการปกครองที่ยุติธรรม รวมทั้งการกำหนดการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนให้เป็นพลเมืองดี และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมือง โดยเชื่อว่าการปกครองโดยอาศัยกฎหมายเป็นหลักนิติธรรม (rule of low)  จะทำให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองมีเสถียรภาพ มีความแน่นอน มีความมั่นคง มีความยุติธรรม มีอิสรภาพและเสมอภาค

            โพลีบิอุส (Polybius) ซิเซโร (Cicero) และเซเนกา (Seneca) ในยุคจักรวรรดิโรมันเมื่อ 198 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 65   ได้ให้ความหมายว่า รัฐธรรมนูญ หมายถึง กติกาการปกครอง โดยมีความเชื่อว่า ความเจริญ      รุ่งเรืองของรัฐและความอยู่ดีกินดีของราษฎรขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่รัฐนำมาใช้ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญต้องยืดหยุ่นได้ เปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของราษฎรและสถานการณ์ต่างๆ

            ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 รัฐธรรมนูญ หมายถึง การจำกัดอำนาจของรัฐ และการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นช่วงเวลาของขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตย เช่น ในมาตรา 16 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์ในฝรั่งเศสว่า "สังคมใดไม่มีหลักประกันสิทธิมนุษยชน และไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ สังคมนั้นย่อมไม่มีรัฐธรรมนูญ"

            ในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญตามแนวคิดของกฎหมายมหาชน หมายถึง กฎหมายสูงสุด (sumpreme law) ในการปกครองประเทศที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นแม่บทในการกำหนดกฎหมายอื่น และกฎหมายอื่นขัดแย้งไม่ได้ เป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบการปกครอง (fundamental law) กำหนดขอบเขตอำนาจของสถาบันการปกครอง และความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมือง

ประเภทของรัฐธรรมนูญ

            รัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ

            1.   รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (unwritten constitution) หรือรัฐธรรมนูญประเภทจารีตประเพณี ซึ่งอังกฤษเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญประเภทนี้ เนื่องจากวิวัฒนาการทางการปกครองประชาธิปไตยของอังกฤษ ที่อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกสารอื่นๆ ที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น จากคำพิพากษาของศาล ธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาจนผู้ปกครองไม่อาจละเมิดได้ เอกสารสำคัญ เช่น มหากฎบัตร (magna carta) พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (bill of rights) พระราชบัญญัติสืบสันตติวงศ์ (act of settlement) เป็นต้น ดังนั้นอังกฤษจึงไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปของเอกสารกฎหมายที่รวมกันเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมดในฉบับเดียวกันนั่นเอง

            2.   รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (written constitution)  เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในรัฐสมัยใหม่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 พร้อมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และรวมถึงรัฐที่ปกครองแบบเผด็จการด้วย เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศระบบเผด็จการมีบทบัญญัติกำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์ หรือสถาบันทางการเมืองการปกครองของรัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ในรัฐธรรมนูญของประเทสที่ปกครองระบบประชาธิปไตยจะระบุการจำกัดอำนาจของรัฐและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ที่มาของรัฐธรรมนูญ

            แต่ละประเทศจะมีที่มาของรัฐธรรมนูญแตกต่างกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้มีแหล่งที่มาจาก 5 แหล่ง คือ

            1.   ผู้นำสูงสุดทางการปกครองหรือประมุขของรัฐเป็นผู้จัดทำขึ้น ด้วยความตกลงยินยอมพร้อมใจและความสงบราบรื่นในสังคม ทั้งโดยการดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นทำ ทั้งการมีวิสัยทัศน์หรือความเสียสละของผู้ปกครองเอง หรือความเรียกร้องจากกลุ่มปัญญาชน หรือกลุ่มอำนาจอื่นก็ตาม รัฐธรรมนูญที่มีแหล่งที่มาในลักษณะนี้ มักเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงมุ่งสงวนอำนาจและสิทธิประโยชน์ของผู้ปกครอง แต่ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาการทางการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย กรณีตัวอย่างของประเทศที่มีรัฐธรรมนูญจากแหล่งที่มาดังกล่าว คือ ญี่ปุ่น รัสเซีย โมนาโค และเอธิโอเปีย

            2.   คณะบุคคลที่เป็นผู้ปกครองหรือสามัญชนเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยการใช้อำนาจบังคับหรือความรุนแรงด้วยวิธีการปฏิวัติ หรือรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศกัมพูชา และไทย

            3.   ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตกลงยินยอมร่วมกันในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เช่น กรณี       รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เป็นต้น ลักษณะของรัฐธรรมนูญแบบนี้มักเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการสร้างสังคมใหม่ที่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ

            4.   ผู้นำสูงสุดทางการปกครองหรือประมุขของรัฐ ร่วมกับคณะปฏิวัติและประชาชนร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยประมุขของรัฐยินยอมให้ถูกริดรอนอำนาจบางส่วนลง ให้อำนาจแก่คณะปฏิวัติและประชาชนเพิ่มขึ้น โดยไม่สะเทือนต่อสถานะทางการปกครองของประมุขประเทศและยังคงสืบทอดตำแหน่งต่อไป เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศองกฤษ โรมาเนีย บัลกาเรีย เป็นต้น

            5.   องค์กรหรืออิทธิพลภายนอกรัฐเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ ด้วยการแทรกแซง หรือใช้อำนาจครอบงำในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม จึงถูกประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายพลแมคอาเทอร์ จัดตั้งผู้แทนในการจัดทำรัฐธรรมนูญตามวัตถุประสงค์ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดบทบาทของกองทัพญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อได้รับเอกราช อังกฤษต้องให้การรับรองรัฐธรรมนูญก่อนจึงจะนำไปใช้ได้

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

            รัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อรัฐ ระบบการเมืองการปกครอง ประชาชน และการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

            1.   การศึกษาพัฒนาทางการเมืองของรัฐ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสถาบันและโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง

            2.   รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้รัฐกำหนดความเป็นเอกราชของประเทศ และได้รับการรับรองในการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งอำนาจอธิปไตยภายในรัฐด้วย

            3.   รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสนับสนุนระบอบการปกครอง ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบบใดก็ตาม ในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจของรัฐและผู้ปกครองให้อยู่ภายในขอบเขต จัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองการปกครอง กำหนดบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลกัน และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนระบบเผด็จการรัฐธรรมนูญก็เป็นเครื่องมือในการกำกับแนวปฏิบัติของรัฐ ผู้ปกครองและประชาชนให้เป็นไปตามอุดมการณ์ทางการเมือง

            4. รัฐธรรมนูญช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล ประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส ไทย เยอรมนี ได้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น เช่น ฝรั่งเศสเมื่อประสบความล้มเหลวทางการปกครองก็ได้อาศัยรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958  เป็นเครื่องมือสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งขึ้นได้ เช่นเดียวกับไทยและเยอรมนีที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องช่วยสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก