วัฒนธรรมของแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างไร

วัฒนธรรมการทำงานเป็นสิ่งที่น่าสนใจเสมอ เพราะเกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มคนมารวมกัน ก่อให้เกิดเป็นแนวคิดและหลักการที่ส่งผลให้องค์กรเติบโตและประสบความสำเร็จ วัฒนธรรมหนึ่งๆก็อาจเกิดมาจากวัฒนธรรมอื่นๆผสมหลอมรวมกันจนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “คน”ที่พร้อมจะรับเอาวัฒนธรรมนั้นๆเข้ามาด้วย

ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจมากมายที่เราสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจและเลือกนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายแต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้ววัฒนธรรมของแต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกัน !!

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศอเมริกา

“อเมริกา” เต็มไปด้วยความมั่นใจ พูดตรงๆ ตรงประเด็น เน้นผลลัพธ์

วัฒนธรรมการทำงานของคนอเมริกันส่วนใหญ่เน้นให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ ที่สำคัญเป็นชาติที่มี concept ในการทำงานที่หลากหลายมาก ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพนับถือมาจากผลของงานมากกว่าความสนิทสนม มีการสื่อสารที่ตรงประเด็น และตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นหากทำผลงานไม่ดีก็มักจะวิจารณ์กันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม คนอเมริกันนิยมสื่อสารกันสั้นๆและเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น การตอบอีเมลล์กันสั้นๆ ไม่ยืดเยื้อ มีข้อสรุปสั้นๆทุกครั้งก่อนการนำเสนอผลงาน และอธิบายรายละเอียดเท่าที่จำเป็น จึงทำให้แม้มีการประชุมกันบ่อยๆ แต่การประชุมก็ไม่ได้ใช้เวลามาก และจะนัดประชุมในประเด็นที่สำคัญเท่านั้น

สื่อสารเข้าใจง่ายตรงประเด็น

เพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันส่วนใหญ่มักจะส่งอีเมลล์กันสั้น ๆ และพูดประเด็นที่ต้องการจะสื่อออกมาเลย ทำให้ผู้รับสารเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้ง่ายๆ แม้แต่ในการทำงาน พนักงานก็ค่อนข้างกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นกันมากๆ ให้มีความคิดเห็นก่อน ไม่ได้มีความเห็นไหนผิดหรือถูก ส่วนความคิดนั้นจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ก็อยู่ที่ศักยภาพของคนในทีมว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนในการประชุมมักจะเริ่มด้วยการสรุปประเด็นสำคัญก่อน (Executive Summary) แล้วค่อยอธิบายรายละเอียดเมื่อจำเป็น ลักษณะการประชุมเช่นนี้ทำให้การประชุมของคนอเมริกันมีประสิทธิภาพมาก เพราะใช้เวลาน้อยและประชุมเท่าที่จำเป็น ประชุมแต่ละครั้งก็มักได้ไอเดียใหม่ๆเสมอ

วิธีการไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์

คนอเมริกันให้ความสำคัญกับผลของงานและการกระทำมากกว่าตัวบุคคล เพราะฉะนั้นการวัดผลจึงมีประสิทธิภาพมากๆ ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพนับถือจึงมาจากผลงาน มากกว่าความสนิทสนมหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว คนอเมริกันเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง Active และกล้าแสดงออก ให้ความสำคัญกับทีมและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นต้องมีความยืดหยุ่นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เป็นมิตรง่ายที่สุด

อาจเรียกได้ว่าเป็นชาติที่ Friendly มากที่สุดเลยก็ว่าได้ ลักษณะคนอเมริกันส่วนใหญ่ค่อนข้างสนุกสนาน หากคุณเป็นชาวต่างชาติมาทำงาน ก็ค่อนข้างเป็นเรื่องปกติที่คนอเมริกันจะเข้ามาทักทายคุณอย่างเป็นมิตร คุณไม่ต้องกลัวว่าจะต้องทำงาน Solo หรือไร้กลุ่ม เพราะคนอเมริกันค่อนข้างรักทีมงานมาก

ไม่ค่อยพักเบรค

โดยปกติเวลาทำงานของคนอเมริกันจะเป็นตั้ง 9.00 am – 5.00 pm และด้วยความที่คนอเมริกันเน้นผลลัพธ์ของงานเป็นอันดับแรก ส่วนใหญ่คนอเมริกันจึงเน้นทำงานชิ้นหนึ่งๆให้เสร็จและปล่อยเวลาพักไปเพื่อทำงานเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ใช้เวลาพักเบรค

เคารพความคิดเห็นและเต็มไปด้วยความหลากหลาย

เพราะชาติอเมริกาให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูด และแสดงความคิดเห็นมาก เพราะฉะนั้นเสียงทุกเสียงจะได้รับการรับฟังอย่างเท่าเทียม วัฒนธรรมการทำงานก็จะเป็นแบบพูดกันตรงๆ กล้าเสนอความคิดเห็น และไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ชาติอะไรก็ไม่มีอคติ

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศเยอรมนี

“”เยอรมัน”” ทำงานน้อยแต่ประสิทธิภาพเป็นที่หนึ่ง

สังคมการทำงานของคนเยอรมันให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานเป็นอันดับหนึ่ง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นชาติแห่งความเพอร์เฟกชันนิสต์เลยทีเดียว สไตล์การทำงานของคนเยอรมัน คือ ใช้เวลาทำงานน้อย แต่ได้ผลลัพธ์มาก นั่นเพราะพวกเขาจะโฟกัสกับงานเป็นอย่าง ๆ ไป และซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อเวลางาน เวลางานคือเวลางาน และเวลาพักผ่อนก็ต้องเต็มที่ จะไม่ใช้เวลางานไปทำเรื่องส่วนตัว เช่น Facebook ชงกาแฟ จับกลุ่มคุยเล่น หรือแม้แต่การเช็คอีเมลล์ส่วนตัวก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเวลาทำงาน

คนเยอรมันตรงต่อเวลามาก

ความตรงต่อเวลาของคนเยอรมันนั้นปรากฏอยู่แทบทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความตรงต่อเวลาของรถโดยสาร การนัดหมาย หรือเวลาเข้างานออกงาน จนมีคำพูดว่า หลักการของคนเยอรมันคือ ไปก่อน 5 นาทีก็ยังดีกว่าไปสาย 1 นาที

ชั่วโมงทำงานน้อยแต่มีประสิทธิภาพมาก

การทำงานของคนเยอรมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจเสมอในเรื่องของเวลาในการทำงานที่น้อยกว่าชาติอื่นๆ ตกเฉลี่ยสัปดาห์ละ 35 ชม. หรือวันละ 7 ชม.เท่านั้น แต่งานออกมามีประสิทธิภาพมาก นั่นเพราะพวกเขาเคร่งครัด ตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันจริงๆ โดยไม่วอกแวกไปในเรื่องอื่นเลย การสนทนาในชั่วโมงการทำงานก็จะเป็นเรื่องงานเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ซึ่งวัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ทำให้เมื่อคนเยอรมันต้องร่วมมือทำงานกับคนชาติอื่นอาจทำให้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะทำให้รู้สึกว่าเป็นการทำงานที่เคร่งเครียดและแห้งแล้ง ด้วยวัฒนธรรมการทำงานของคนเยอรมันที่เคร่งครัดในเวลาทำงานเช่นนี้ จึงทำให้พวกเขามีสมาธิในการทำงานมาก เพราะฉะนั้น 7 ชั่วโมงในการทำงานเนื้อๆจึงเป็นเวลาที่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่ทำงานจนถึงดึกดื่น

ประชุมน้อยแต่ทำงานมาก

คนเยอรมันค่อนข้างใช้เวลาน้อยในการประชุมงาน เว้นแต่ว่าจะมีเรื่องสำคัญที่ต้องแลกเปลี่ยนความเห็นกันจริงๆ ซึ่งบางประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับการประชุมมาก แต่คนเยอรมันพบว่าถ้ามีการประชุมมากเกินไป พนักงานก็จะไม่มีเวลาพอที่จะจดจ่อกับงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ เช่น หากในหนึ่งวันต้องมีประชุมมากถึง 3-4 ประชุม ก็ทำให้หนึ่งวันนั้นหมดไปแล้ว และการประชุมติดกันหลายครั้งก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพและเนื้อหาสาระเท่าที่ควร พวกเขาจึงประชุมกันน้อย และประชุมครั้งละไม่นาน เพื่อประหยัดเวลาไปทำงานของตนเองต่อ

พูดตรงๆไม่อ้อมค้อม

คนเยอรมันค่อนข้างมีวัฒนธรรมการสื่อสารที่ตรงประเด็น ไม่ยืดเยื้อ ไม่เสียเวลา และค่อนข้างพูดตรง ชัดเจน ชนิดที่ว่าอีกฝ่ายไม่ต้องเสียเวลาตีความ เช่น หากเจ้านายจะมอบหมายงานให้พนักงานและต้องการกำหนด deadline ไว้ไม่เกินห้าโมงเย็น แทนที่จะพูดว่า “ถ้าเป็นไปได้ ของานชิ้นนี้เสร็จไม่เกิน 17.00 นะ” คนเยอรมันจะสื่อสารตรงๆไปว่า “ ของานชิ้นนี้ตอน 17.00 “ และหมายความว่าเวลาห้าโมงเย็นนั้นงานจะต้องเสร็จจริงๆ

พักร้อนได้ยาวถึงหกสัปดาห์

หลังจากที่ทำงานมาอย่างหนัก เมื่อถึงเวลาพักผ่อนคนเยอรมันก็เต็มที่มากๆเช่นกัน และค่อนข้างมีชีวิตส่วนตัวและงานที่แยกส่วนกัน และด้วยสวัสดิการที่ส่งเสริมให้คนเยอรมันมีสิทธิ์พักร้อนได้ถึงปีละ 6 สัปดาห์ ทำให้พวกเขามีความเต็มใจที่จะจดจ่อกับงานได้ดีกว่า ด้วยจำนวนลาพักร้อนที่มากขนาดนี้ทำให้พวกเขาสามารถเต็มที่กับการพักผ่อนได้โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องงาน พักผ่อนก็คือพักผ่อนจริงๆ จะไม่มีเจ้านายโทรไปตามงาน หรือต้องจัดการข้อมูลลูกค้าใดๆ นอกจากสวัสดิการในการลาพักร้อนแล้ว หากเป็นผู้หญิงลาคลอดก็สามารถลาได้สูงสุดถึง 3 ปี โดยไม่ต้องลาออกอีกด้วย

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศเกาหลีใต้

“เกาหลีใต้” ภักดีต่อบริษัท เคารพผู้อาวุโส ความรับผิดชอบและความกดดันสูง

เกาหลีใต้ ประเทศแห่งการพัฒนาทางเทคโนโลยี เต็มไปด้วย Soft Power มากมายที่ผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็น วงการเพลง ภาพยนตร์ อาหาร เทคโนโลยี อุปกรณ์ไฟฟ้า และองค์กรหรือบริษัทต่างๆที่พัฒนาเติบโตจนติดอันดับโลก สิ่งที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมการทำงานและความฉลาดของคนเกาหลีใต้ที่สามารถลงทุนได้อย่างถูกจุด ถึงอย่างนั้นเกาหลีใต้ก็เป็นชาติที่มีการแข่งขันและความกดดันสูงมากตั้งแต่สมัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่จะต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เพื่อทำงานในองค์กรใหญ่ๆ และได้ทำงานในตำแหน่งสูงๆพนักงานเกาหลีใต้มีความรับผิดชอบต่อบริษัทสูงขณะเดียวกันก็แบกรับความคาดหวังและความกดดันที่จะต้องทำงานให้ออกมาดีเสมอด้วยเช่นกัน

แข่งขันสูงตั้งแต่มหาวิทยาลัย มี Mindset คือทำงานในที่ดีๆ

ความจริงจังในการเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนเกาหลีใต้ถือว่าเป็นการแข่งขันที่สูงมาก และพ่อแม่เกาหลีหลายคนก็จะยอมลงทุนจำนวนมากเพื่อให้ลูกสอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ผลก็คือหากยังสอบไม่ติดที่หวังไว้ ก็จะรอสอบใหม่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะติด การสอบติดมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งสำหรับคนเกาหลีใต้ถือว่าเป็นใบเบิกทางแห่งความสำเร็จ เพราะหมายถึงการมีโอกาสสูงที่จะได้ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นชาติที่ค่อนข้างแข่งขันสูงมากในทุกๆเรื่อง

เคร่งครัดระบบอาวุโส

คนเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสมาก ไม่ว่าจะเป็นลำดับชั้นในครอบครัว คนรู้จัก หรือตำแหน่งในบริษัท เพราะฉะนั้นจึงมีการแสดงออกและปฏิบัติตามมารยาทที่แตกต่างกันไป เช่น คนที่อายุน้อยกว่าควรทำหน้าที่จัดเตรียมสิ่งต่างๆให้รุ่นพี่ หรือหากออกไปกินข้าว รุ่นน้องก็ควรจัดเตรียมโต๊ะ อาหารให้รุ่นพี่ เปิดประตูให้หัวหน้า ให้หัวหน้าเข้าลิฟต์ก่อน และออกหลังสุด เป็นต้น ในบางองค์กรพนักงานก็ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อผู้อาวุโสในที่ทำงานด้วยเช่นกัน เพราะการพูดวิจารณ์ตรงๆอาจกระทบต่อผลของงานได้

เต็มไปด้วยความคาดหวังและความกดดัน

ด้วยความที่มีการแข่งขันสูงมากในแทบทุกเรื่อง จึงทำให้คนเกาหลีใต้เต็มไปด้วยความคาดหวังสูงเสมอ คาดหวังว่าจะต้องได้ทำงานในที่ดีๆ ตำแหน่งสูงๆ รายได้ดี มีบ้าน มีรถ จนกลายเป็นมาตรฐานความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีที่ว่าหากไม่ได้เกณฑ์ตามนี้ก็จะรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงทำให้มีความกดดันตามมาว่าจะต้องเร่งรีบพัฒนาเพื่อตามคนอื่นให้ทันอยู่เสมอ

เลิกงานช้าเป็นมารยาท

วัฒนธรรมการเลิกช้าอาจไม่ใช่ทุกองค์กรในเกาหลีใต้ แต่บางองค์กรยังคงมองว่าการมาทำงานก่อนเวลาและการเลิกงานช้าเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน และภักดีต่อบริษัท ยิ่งพนักงานมาใหม่อายุน้อยอาจถือว่าเป็นมารยาทที่จะไม่กลับบ้านก่อนจนกว่าผู้อาวุโสกลับบ้านแล้ว

เงินเดือนสูงและต้องจ่ายตามเกณฑ์ สวัสดิการดี

สำหรับค่าตอบแทนบริษัทในเกาหลีใต้นั้นถือว่าค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเกาหลีใต้เข้ามาควบคุมดูแล เพราะฉะนั้นนายจ้างจึงต้องจ่ายเงินเดือนตามเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการดีๆ อย่าง บ้านพักฟรี รถสำหรับการเดินทางฟรีจากบริษัท สำหรับบางองค์กรใหญ่ๆอีกด้วย จึงทำให้พนักงานเกาหลีใต้ค่อนข้างมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีทีเดียว

คนเกาหลีใต้มีความเป็นส่วนตัวสูง

คนเกาหลีใต้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลและมีความเป็นส่วนตัวสูง เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีนิสัยก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของคนอื่นเท่าไหร่นัก หากอีกฝ่ายไม่ขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ประชากรเกาหลีใต้ก็รักความเป็นส่วนตัวมากทีเดียว ซึ่งมักพบเห็นกลุ่มคนที่ชอบอยู่คนเดียว กินข้าวคนเดียว ไปเที่ยวคนเดียวเป็นเรื่องปกติ โดยกลุ่มคนเหล่านี้คนเกาหลีใต้จะเรียกว่า “ฮันจก” หรือผู้ที่มีความสันโดษ ชื่นชอบการทำกิจกรรมคนเดียวนั่นเอง

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่น” อุทิศการทำงานให้บริษัท มุ่งมั่นพัฒนา และให้ความสำคัญกับทีม

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องทำงานหนักแต่ผลลัพธ์มีประสิทธิภาพมากและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะคนญี่ปุ่น เมื่อทำงานสำเร็จแล้ว ก็จะใช้เวลาประเมินผลงานเพื่อหาข้อผิดพลาดและทำการแก้ไขปรับปรุงจนกว่างานจะออกมาดี หรือหากทำงานได้ดีอยู่แล้วก็จะพัฒนาทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หลักคิดของคนญี่ปุ่นนั้นมองว่าทุกโอกาสคือการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น นั่นคือโอกาสที่จะหาวิธีปรับปรุงผลงานของตนให้ดียิ่งๆขึ้นไป

คนญี่ปุ่นทำงานอยู่ยาวไม่ค่อยลาออก

พนักงานของบริษัทที่ญี่ปุ่นมักไม่ค่อยย้ายงานหรือลาออกกันบ่อยๆ นั่นเพราะบริษัทที่ญี่ปุ่นมีระบบTraining พนักงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีระบบรุ่นพี่คอยสอนงานรุ่นน้องและเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำงานที่นอกเหนือไปจาก Job description เพื่อให้พนักงานได้รู้ลึกรู้จริงทุก Process พนักงานที่นี่ในหนึ่งตำแหน่งจึงสามารถทำได้ทุกอย่างอย่างผู้เชี่ยวชาญ และในกรณีที่พนักงานอยากย้ายไปทำงานตำแหน่งอื่นบ้าง บริษัทที่นี่ก็มีระบบ Job Rotation คือระบบย้ายงานภายในบริษัทเพื่อที่พนักงานจะไม่ต้องย้ายงานไปที่บริษัทอื่น พนักงานก็จะได้เรียนรู้งานและประสบการณ์ที่แตกต่างและท้าทายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้พนักงานที่ญี่ปุ่นจึงสามารถทำงานในบริษัทเดียวได้ยาวหลายปีโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนบริษัทบ่อยๆนั่นเอง

เน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดีแล้วต้องดีขึ้นไปอีก

มีปรัชญาหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับการทำงานของคนญี่ปุ่นก็คือ “KAIZEN” บริษัทดังๆอย่าง TOYOTA MUJI ก็ใช้ Kaizen ในการพัฒนาคุณภาพ Product ของตัวเองมาอย่างต่อเนื่องKaizen ถือเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่การวางแผนงาน และปฏิบัติเท่านั้น แต่หลังจากงานสำเร็จ พนักงานญี่ปุ่นก็จะใช้เวลาประเมินผลงานอีกครั้งเพื่อดูว่า มีข้อผิดพลาดหรือจุดที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรือเปล่า จะต้องหาจุดนั้นให้เจอให้ได้ และแม้งานออกมาใช้ได้แล้วก็จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น จะต้องทำให้ออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเหมือนการปีนภูเขาไปที่ยอดสูงสุด แม้จะไม่รู้ว่ายอดเขาสูงสุดที่ว่านั้นอยู่ตรงไหนก็ตาม

ตรงต่อเวลามาก

ไม่ว่าจะเป็นเวลาเข้างานออกงาน นัดหมาย ไปพบลูกค้า หรือนัดประชุม ควรไปก่อนเวลานัดอย่างพอเหมาะพอดี การไปสายถือเป็นการไม่ให้เกียรติ เพราะสำหรับคนญี่ปุ่นเวลาคือวินัยที่เป็นพื้นฐานสำคัญมาก พนักงานที่ตั้งใจทำงานจะต้องไม่มาสายเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างาน หากคำนวณดูแล้วว่าจะไปทำงานไม่ทันแน่ๆก็ควรแจ้งเหตุผลบอกบริษัทก่อนเสมอ ทั้งนี้การตรงต่อเวลามีผลต่อเครดิตความน่าเชื่อถือของพนักงานและ Performance ที่จะส่งผลต่อการเลื่อนตำแหน่งในองค์กรในอนาคตอีกด้วย

เวลาปกติทำงานเอกสารแต่หลังเลิกงานเตรียมตัวโอที

เคยได้ยินคำว่า Karoshi Syndrome ที่มาจากวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นหรือไม่ ? หรือที่แปลเป็นไทยว่า ทำงานหนักจน(เกือบ)ตาย นั่นไม่ใช่เรื่องไม่จริงแต่อย่างใด เพราะคนญี่ปุ่นทำงานหนักกันจริงๆ ในเวลางานทำงานหนักแล้ว แต่ตอนเลิกงาน พนักงานหลายคนก็ยังคงนั่งอยู่กับที่ ทำงานโอทีกันต่อ จากการสำรวจพนักงานกว่า 10,000 คนในประเทศญี่ปุ่น พบว่า 20% ทำงานล่วงเวลา 80 ชม./เดือน และกว่าครึ่งหนึ่งก็ตอบว่าไม่เคยใช้สิทธิ์วันหยุดพักผ่อนเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเพราะคนญี่ปุ่นจงรักภักดีต่อบริษัทมาก อุทิศการทำงานให้บริษัทเป็นอันดับหนึ่งก็เป็นไปได้

ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม

คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเป็นทีมมาก เนื่องจากค่านิยมของชาวญี่ปุ่นที่พนักงานส่วนใหญ่จะทำงานอยู่กับบริษัทเดียวเกือบตลอดชีวิตการทำงาน และเพราะเชื่อว่าความสำเร็จของบริษัทเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามในการทำงานร่วมกันย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ และโดยมารยาททางสังคมของชาวญี่ปุ่น คือ การกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองกระทำผิด เราจึงเห็นคนญี่ปุ่นเอ่ยปากขอโทษอยู่บ่อยๆ และจะขอโทษก่อนทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อทีมและต่อบริษัทนั่นเอง

ผลลัพธ์สำคัญแต่กระบวนการสำคัญกว่า

แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ แต่บริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากๆ ทั้งนี้จึงทำให้หลายๆการทำงานค่อนข้างใช้เวลามาก เพราะต่อผ่านการตัดสินใจของสมาชิกในบริษัทหลายระดับ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับขั้นตอนในการทำงาน การกระทำอะไรที่ส่งผลต่อการทำงานต่อคนอื่นๆ แล้วพนักงานมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อพบข้อบกพร้องหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น

วัฒนธรรมการทำงานแบบ High Context

จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของคนญี่ปุ่นคือการมีวัฒนธรรมการสื่อสารแบบ High Context Culture คือ การสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดตรงๆก็สามารถเข้าใจกันได้ คนญี่ปุ่นจึงมักไม่พูดในสิ่งที่ต้องการให้เราทำตรงๆ เช่น บางครั้งก็เลี่ยงการพูดในเชิงปฏิเสธ หากอยากปฏิเสธก็จะพูดอ้อมๆ จะไม่บอกความรู้สึกของตนเองกับคู่สนทนาตรงๆ ฉะนั้นคู่สนทนาจึงต้องตีความตามบริบทเอง สังเกตจากสีหน้า ท่าทางประกอบก็จะเข้าใจมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Nomikai เฉลิมฉลองทุกเทศกาล

Nomikai หรือประเพณีกินดื่มแบบคนญี่ปุ่น บอกได้เลยว่าบริษัทญี่ปุ่นมีการกินดื่มสังสรรค์ให้พนักงานบ่อยมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการ ฉลองต้อนรับพนักงานใหม่ เลี้ยงส่งพนักงานที่กำลังจะออก ฉลองวันสิ้นปี วันแต่งงาน วันคลอดลูก ฯลฯ ซึ่งประเพณีกินดื่มหรือ Nomikai นั้น มีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน ให้พนักงานสนิทสนมกันมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงหัวหน้าทุกระดับก็มาร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบไม่บ่อยนักในประเทศอื่น ที่พนักงานและหัวหน้ามาร่วมดื่มสังสรรค์กันนอกเวลาทำงาน

บริษัทจ่ายค่าเดินทางให้พนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม

นี่ถือเป็นสวัสดิการที่น่าอิจฉามากสำหรับพนักงานชาวญี่ปุ่น เพราะทุกๆการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน บริษัทญี่ปุ่นจะออกค่าเดินทางให้ทั้งหมดแก่ทุกคนอย่างยุติธรรม ซึ่งถือเป็นข้อดีมากหากพิจารณาจากค่าเดินทางในประเทศญี่ปุ่นที่มีราคาค่อนข้างสูง (แต่ก็คุ้มค่า เพราะการเดินทางรวดเร็วและตรงต่อเวลาเสมอ) เมื่อบริษัทออกค่าใช้จ่ายการเดินทางให้ทั้งหมด พนักงานก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้มากทีเดียว

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศจีน

“จีน” ทำงานแบบ 996 เต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่ผลิตภัณฑ์มากที่สุด

ประเทศจีนเต็มไปด้วยประชากรจำนวนมาก นั่นจึงทำให้การแข่งขันสูงมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะการแข่งขันทางธุรกิจ และการแข่งขันในตำแหน่งงาน จีนสามารถผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ออกมาได้เป็นจำนวนมาก และส่งออกไปทั่วโลก ถึงอย่างนั้นคนจีนก็เป็นชาติที่เรียกได้ว่าทำงานหนักมากที่สุดในโลก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนในปี 2019 ระบุว่า พนักงานบริษัทจีนทั่วประเทศทำงานเฉลี่ย 46 ชั่วโมง/อาทิตย์ แต่ก็มีชาวจีนจำนวนมากออกมาพูดว่า นั่นไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องเพราะตัวเองทำงานตกสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง แม้แต่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ยังคงทำงาน และบางทีก็ยังต้องทำงานถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนเลยทีเดียว !

ทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ

ความขยันทำงานอย่างหนักของคนจีนนั้นมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน การทำงานล่วงเวลาจึงกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับคนจีน โดยพนักงานออฟฟิศของจีนมักจะใช้การทำงานแบบ 996 ซึ่งหมายถึง เริ่มทำงานตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. และทำงานเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ การทำงานแบบ 996 นั้นเป็นลักษณะการทำงานของ Jack Ma ผู้ก่อตั้งบริษัท Alibaba ด้วยเช่นกัน โดยเขาได้กล่าวว่า การทำงานแบบ 996 จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ และความสำเร็จจากการทำงานหนักนั้นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต

ซึ่งต้องบอกว่าการหักโหมทำงานอย่างหนักของพนักงานออฟฟิศในจีนนั้นสวนทางกับกฎหมายแรงงานของประเทศที่อนุญาตให้ทำงานได้วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง และหากจะทำงานล่วงเวลา ก็ทำได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเมื่อรวมชั่วโมงจากการทำงานล่วงเวลาแล้ว จะต้องทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่การทำงานแบบ 996 จะทำให้มีชั่วโมงการทำงาน 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเกินจากสิ่งที่ในกฎหมายระบุไว้มากทีเดียว

แข่งขันสูง

ด้วยความที่ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเยอะมากที่สุด ทำให้มีการแข่งขันสูงในตลาดแรงงานและการที่มีคนพร้อมที่จะเข้ามาแทนที่พวกเขาตลอดเวลา ทำให้คนจีนรู้สึกไม่มั่นใจในความมั่นคงของชีวิต จึงต้องแข่งขันเพื่ออยู่รอด ดังนั้นด้วยแรงกดดันที่สูงจากการแข่งขันเพื่อให้ตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้คนจีนส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเครียดจากการทำงานเป็นจำนวนมาก

เศรษฐกิจแบบหยาดเหงื่อ เน้นจำนวนและปริมาณ

บริษัทหลายแห่งในจีนเลือกที่จะเพิ่มเวลาการทำงานของบุคคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งบริษัทบางแห่งอาจไม่ได้ใช้วิธีการบังคับ แต่ใช้วิธีการดึงดูดชักชวนให้ทำงานล่วงเวลา เช่น หากพนักงานมีเวลาเลิกงานคือ 17.00 น. อาจมีการเสนอรถรับส่งฟรีแต่รถจะมารับตอน 18.00 น.เป็นกุศโลบายให้ทำงานต่อ หรือตอน 20.00 น. จะมีเลี้ยงอาหารดีๆให้ หรือทำงานถึง 22.00 น.จะสามารถเบิกเงินเพิ่มได้ เป็นต้น ด้วยกุศโลบายดังกล่าวทำให้พนักงานแห่งชาติจีนทำงานหนัก เลิกงานดึกไปโดยปริยาย

ปรัชญาการทำงานคือขยันอดทน หนักเอาเบาสู้

วัฒนธรรมการทำงานของคนจีนมองว่า คนเราต้องขยันอดทนเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ การอยู่เฉยๆว่างๆไม่มีงานทำ หรืออยู่อย่างสบายๆ อาจถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นยิ่งขยันก็ยิ่งสำเร็จ โรงงานหลายๆแห่งในจีนก็นิยมให้คนงานทำโอทีกันเป็นเรื่องปกติ เพราะหากไม่ทำ พวกเขาก็อาจจะไม่มีงาน เพราะก็มีคนที่อยากเข้ามาทำงานอีกมากมายต่อแถวรออยู่ เพราะฉะนั้นสำหรับแรงงานจีนอาจมองว่า ยอมทำงานโอทีก็ยังดีกว่าไม่มีงานทำ

Guanxi บริษัทคือครอบครัว เพื่อนร่วมงานคือญาติพี่น้อง

“กวนซี่” หมายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือข่ายซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมลัทธิขงจื๊อ แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันเครือญาติและเพื่อน ซึ่งแนวคิดนี้ถือว่ามีอิทธิพลมากในประเทศจีน เป็นการแสดงตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน หากมีผลประโยชน์เกิดขึ้นไหลเวียนในครอบครัวย่อมดีกว่า เช่น เรื่องการค้าขายก็จะเป็นเหมือนการประสานงานกันและแบ่งปันผลประโยชน์กันในครอบครัว

งีบหลับบนโต๊ะทำงานได้

ในหลายๆประเทศการงีบหลับบนโต๊ะอาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่สำหรับประเทศจีนถือเป็นเรื่องปกติ โดยพนักงานจีนมักใช้เวลาพักเบรคไปกับการนอนหลับพักผ่อนมากกว่าจะใช้ไปกับการรับประทานอาหารเที่ยง โดยบริษัทก็จะช่วยให้พนักงานให้นอนหลับด้วยการปิดไฟห้องทำงาน ปิดผ้าม่าน และไม่ส่งเสียงดัง หากว่าเพื่อนร่วมงานพูดคุยกันหรือส่งเสียงดังก็จะต้องออกไปข้างนอกเพื่อให้คนอื่นได้นอนหลับกันเลยทีเดียว

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศไทย

“ไทย” ขี้เกรงใจ ไม่เป็นไร สบายๆ

ทำไมคนไทยไม่ค่อยสบายบ่อย ลาป่วยบ่อย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนต่างชาติมักประหลาดใจก็คือคนไทยสามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยได้ 30 วันต่อปีและยังได้รับค่าจ้าง แต่ที่ประหลาดใจไปกว่านั้นคือคนไทยส่วนใหญ่ป่วยบ่อยมาก และใช้สิทธิ์ลาป่วยบ่อยๆจนเป็นเรื่องปกติ เรียกได้ว่าทุกสัปดาห์จะต้องมีคนป่วยอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ

ทำไมคนไทยมักขอลาออกเงียบๆแทนที่จะพูดกับบริษัทตรงๆ

หลายครั้งเมื่อพนักงานไทยรู้สึกเบื่องาน หรือไม่อยากทำงานต่อที่นี่อีกแล้วก็เลือกที่จะใช้เหตุผลหรือข้ออ้างอื่นเพื่อขอลาออก แต่จะไม่บอกเหตุผลที่แท้จริงของการลาออกว่าเบื่องานที่ทำ อยากให้บริษัทปรับปรุงเพื่อรักษาความผูกพันธ์และแรงจูงใจในการทำงานต่อ แต่จะเลือกลาออกไปอย่างเงียบๆเพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกใดๆ

ทำไมคนไทยรักอิสระจนไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์

“ความเป็นไท” อาจหมายถึงอิสระและเป็นคำบอกลักษณะนิสัยที่แท้จริงของคนไทยที่มีนิสัยรักอิสระมากเช่นกัน นั่นคือไม่ค่อยอยากอดทนกับความลำบาก หรือไม่ค่อยชอบการบังคับหรือกฎเกณฑ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด เช่น การต้องเข้างานตรงเวลา คนไทยมักจะขอเลทสัก 2-3 นาที เพราะฉะนั้นอาจถือว่ากฎเกณฑ์เป็นสิ่งสำคัญแต่จะปฏิบัติหรือไม่นั้นก็อีกเรื่อง

ทำไมคนไทยขี้เกรงใจไม่แสดงความรู้สึกออกมาตรงๆ

หลายครั้งที่คนต่างชาติมักไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของคนไทย ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่ค่อยพูดกันตรงๆ บ่ายเบี่ยง และมักพูดคำว่า “ไม่เป็นไร” อยู่เสมอ คนไทยติดนิสัยขี้เกรงใจ ใจดีและมักยอมทำตามที่คนอื่นสั่งเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง จึงมักยอมทำตามไป ประนีประนอม ไม่ค่อยโต้เถียง

ทำไมคนไทยดูงานยุ่งตลอดเวลาแต่ประสิทธิภาพงานน้อย

สังเกตว่าพนักงานไทยมักดูงานยุ่งตลอดเวลา และไม่ค่อยรีบทำอะไรให้เสร็จเร็วๆเพราะอาจกลัวว่าหากทำงานเสร็จแล้วจะต้องรับงานเพิ่ม จึงทำให้คนไทยค่อนข้างทำงานแบบเรื่อยๆ สบายๆ ไม่รีบร้อน ไม่ของานหนัก แต่หากเจ้านายมาเห็นจะต้องทำตัวขยัน และดูยุ่งเข้าไว้

ทำไมคนไทยชอบรอคำสั่งแต่ไม่กล้าเสนอไอเดีย

ต่างชาติมีความรู้สึกว่าคนไทยค่อนข้างว่านอนสอนง่าย และปฏิบัติตามคำสั่งอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็ทำงานออกมาได้ดีมาก แต่หากขอความคิดเห็นหรือเสนอไอเดียกลับไม่ค่อยมี บ่อยครั้งคนไทยมักรอคอยแต่คำสั่งเพื่อที่จะปฏิบัติตามมากว่าสร้างคำสั่งหรือไอเดียใหม่ๆขึ้นมาเอง

ทำไมคนไทยไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง

คนต่างชาติอาจมีความรู้สึกว่าคนไทยมักเคยชินกับระบบใดระบบหนึ่งและจะยึดติดกับระบบนั้นไปตลอด ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงความคิด หากเชื่อแล้วก็ยังคงปฏิบัติตามระบบหรือความเชื่อเดิมๆที่ยึดถือมานาน แม้ความเชื่อนั้นอาจไม่ได้ผลแล้วก็ตามที จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงใดๆสำหรับคนไทยค่อนข้างใช้เวลานาน

อ้างอิง :

  • Office Environment & Work Culture in U.S.
  • What German Work Culture Is Really Like
  • Korean Work Culture
  • 5 major differences between Japanese and American workplaces
  • Work Culture In China: Strategies & Tips To Manage Employees
  • Working with the Thais

วัฒนธรรมแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างไร

สาเหตุความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม 1. ความแตกต่างทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนา ย่อมมีวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน เช่น การแต่งกาย การกินอยู่ พิธีกรรม จึงมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 2. ลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์

สาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันมีอะไรบ้าง

เราต้องยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพราะวัฒนธรรมบ่งบอกถึงประวัติความเป็นมาและความเจริญของท้องถิ่น ความแตกต่างของวัฒนธรรม ของแต่ละภาค มีสาเหตุมาจาก ความหลากหลายทาง เชื้อชาติศาสนา สภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีการดาเนินชีวิต

สังคมไทยแตกต่างจากสังคมอื่นอย่างไร

สังคมไทย หมายถึง กลุ่มชนชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นต่างจากสังคมอื่น ได้แก่ ภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย ความเชื่อ มารยาท อาหาร การดำเนินชีวิตที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน เป็นต้น

ความแตกต่างของวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง

ปัจจัยที่ทำให้สังคมมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ความคิดเห็นและการมองโลกต่างกัน เช่น ความเชื่อ ศาสนา การปกครอง เป็นต้น สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ต่างกัน ทำให้พบปัญหาแตกต่างกัน

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก