จาก เรื่อง ไตรภูมิ พระร่วง ตอน มนุ ส ส ภูมิ ข้อ ใด กล่าว ถึง พยาธิ ใน ท้อง

กำเนิด ๔ ประเภท

บรรดาสัตว์ที่เกิดในโลกมนุษย์นี้มีการเกิดด้วยกำเนิดทั้ง ๔ ประเภท กำเนิดในครรภ์มีมากกว่ากำเนิดประเภทอื่น การกำเนิด ๓ ประเภทมีปรากฏเป็นบางครั้งเท่านั้น การกำเนิดในครรภ์ของคนทั้งหลายมีดังนี้ หญิงสาวทั้งหลายที่ควรจะมีบุตร บริเวณใต้ท้องน้อยภายในที่จะมีผู้มาเกิดนั้นจะมีก้อนเลือดทารกก้อนหนึ่ง แดงอย่างลูกผักปลัง เมื่อหญิงนั้นถึงระดูรอบเดือน และมีระดูไหลออกจากท้องแล้ว ต่อจากนั้นไปอีก ๗ วัน จึงนับได้ว่ามีครรภ์ ต่อจากนั้นระดูจะไม่ไหลอีกเลย หญิงยังไม่แก่ชรา อาจมีบุตรได้ทุกคน หญิงที่ไม่มีบุตรเป็นเพราะบาปกรรมของผู้มาเกิด ทำให้เกิดเป็นลมในครรภ์ ลมนั้นพัดถูกสัตว์ที่มาเกิดในครรภ์ทำให้แท้งตายไป บางครั้งมีตัวตืด พยาธิ ไส้เดือน ในครรภ์ ซึ่งกินสัตว์ผู้มาเกิด ทำให้หญิงนั้นไม่มีบุตร

สัตว์เกิดในครรภ์นั้น แรกทีเดียวมีขนาดเล็กมากเรียกว่า “กลละ” ซึ่งมีขนาดเหมือนนำผมของมนุษย์มาผ่าออกเป็น ๘ ซีก แต่ละซีกมีขนาดเท่ากับผมของมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป เมื่อนำเส้นผมของมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปเส้นหนึ่งมาชุบน้ำมันงาอันใสงามมาสลัด ๗ ครั้งแล้วถือไว้ น้ำมันที่ไหลย้อยลงปลายเส้นผมยังใหญ่กว่ากลละนั้น หรือเทียบเหมือนขนของเนื้อทรายชื่อ อุณาโลม ที่อยู่เชิงเขาหิมพานต์ เส้นขนของเนื้อทรายนั้นเล็กกว่าเส้นผมชาวอุตตรกุรุทวีป เมื่อนำขนทรายอุณาโลมเส้นหนึ่งชุบน้ำมันงาที่ใสสะอาดงาม สลัดทิ้ง ๗ ครั้งแล้วถือไว้ น้ำมันที่หยดลงที่ปลายขนทรายนั้นจึงจะมีขนาดเท่ากลละนั้น

กลละนั้นใสงามราวกับน้ำมันงาที่ตักใหม่ งามดังน้ำมันเปรียงใหม่ ต่อจากนั้นจึงมีธาตุลม ๕ อย่าง ก่อตัวขึ้นพร้อมกันอยู่ในกลละนั้น

เมื่อแรกเกิดเป็นกลละนั้นมีรูป ๘ รูป ได้แก่ รูปดิน รูปน้ำ รูปไฟ รูปลม รูปกายประสาท รูปหญิงหรือชาย รูปหัวใจ และชีวิตรูป (คือสิ่งที่ทำให้มีธาตุยืนอยู่ได้) ในบรรดารูปทั้งหมดนี้ เกิดมีชีวิต ๓ รูปก่อน ๓ รูปนี้ คือรูปใดบ้าง คือรูปกาย รูปหญิงหรือชาย และรูปหัวใจ รูปทั้งสามมีบริวารรูปละ ๙ องค์ ได้แก่รูปใดบ้าง ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ถ้าเป็นบริวารของรูปกาย เมื่อรวมกับรูปกายจะรวมเป็น ๙ ถ้าเป็นบริวารของรูปหญิงหรือชาย เมื่อรวมกับรูปหญิงหรือชายจะรวมเป็น ๙ และถ้าเป็นบริวารของรูปหัวใจเมื่อรวมกับรูปหัวใจจะรวมเป็น ๙ กลุ่มองค์ ๙ ทั้ง ๓ กลุ่มนี้ รวมกับชีวิตรูปจะได้กลุ่มรูป ๑๐ จำนวน ๓ กลุ่ม เกิดมีขึ้นพร้อมกันตั้งแต่แรกมีการเกิดในครรภ์

บรรดาสัตว์ที่เกิดในครรภ์มารดา แรกทีเดียวมีขนาดดังกล่าวแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น รวม ๔ รูปนี้จึงเกิดเป็นลำดับต่อมา รูปเหล่านี้เกิดจากกรรม ต้องปฏิสนธิจึงเกิด (ต่อจากนั้นเกิดรูปอาหาร ต้องมีอาหารที่แม่กินจึงเกิด เกิดหลังจากเกิดรูป ๒ กลุ่ม ดังกล่าวแล้ว) เมื่อเกิดรูปใจซึ่งอาศัยจิตดวงที่ ๒ มาเกิด จะเกิดรูป ๘ รูป ชื่อ “กลุ่มรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน”[๑] เมื่อเกิดรูปซึ่งเกิดจากฤดู เป็นรูปซึ่งอาศัยการดำรงอยู่ จะเกิดรูป ๘ รูปขึ้น ชื่อ “กลุ่มรูปที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน” เมื่อเกิดรูปอาหารซึ่งอาศัยโอชารสที่มารดากินข้าวน้ำนั้น จะเกิดรูป ๘ รูป ชื่อ “กลุ่มรูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน”

รูปที่จะเกิดเป็นชายก็ดี หญิงก็ดี เกิดตั้งแต่แรกเป็นกลละ แล้วโตขึ้นวันละเล็กละน้อย ครั้นถึง ๗ วัน เป็นดังน้ำล้างเนื้อเรียกว่า “อัมพุทะ” อัมพุทะโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน ข้นดังตะกั่วเชื่อมอยู่ในหม้อเรียกว่า “เปสิ” เปสินั้นโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน แข็งเป็นก้อนเหมือนไข่ไก่ เรียกว่า “ฆนะ” ฆนะนั้นโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน เป็นตุ่มออกได้ ๕ แห่งเหมือนหูดเรียกว่า “ปัญจสาขา” หูดนั้นเป็นมือ ๒ ข้าง เป็นเท้า ๒ ข้าง เป็นศีรษะอันหนึ่ง ต่อจากนั้นไปโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน เป็นฝ่ามือ เป็นนิ้วมือ ต่อจากนั้นไปเมื่อถึง ๗ วัน ครบ ๔๒ วัน จึงเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บมือ เล็บเท้า ครบอวัยวะเป็นมนุษย์ทุกประการ

รูปของสัตว์เกิดในครรภ์มี ๑๘๔ รูป คือ ส่วนกลาง (ตั้งแต่คอถึงสะดือ) มี ๕๐ รูป รูปส่วนบน (ตั้งแต่คอถึงศีรษะ) มี ๘๔ รูป รูปส่วนเบื้องต่ำ (ตั้งแต่สะดือถึงฝ่าเท้า) มี ๕๐ รูป สัตว์เกิดในครรภ์นั่งอยู่กลางท้องมารดาหันหลังมาติดหนังท้องมารดา อาหารที่มารดารับประทานเข้าไปก่อน จะอยู่ใต้สัตว์เกิดในครรภ์ ส่วนอาหารที่มารดารับประทานเข้าไปใหม่ จะอยู่บนสัตว์เกิดในครรภ์ สัตว์เกิดในครรภ์มีความลำบากอย่างยิ่ง น่าเกลียด น่าเบื่อหน่ายเหลือประมาณ ทั้งชื้นสกปรกมีกลิ่นเหม็น ตัวตืดและพยาธิไส้เดือน ๘๐ ตระกูลที่อาศัยปนกันอยู่ในท้องมารดา ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะในท้องมารดานั้น ท้องมารดาของสัตว์ที่เกิดในครรภ์เป็นที่คลอดลูก เป็นที่เกิด เป็นที่แก่ เป็นที่ตาย เป็นป่าช้าของพยาธิเหล่านั้น เหล่าตัวตืดและพยาธิไส้เดือนเหล่านั้นได้ชอนไชสัตว์เกิดในครรภ์นั้นเหมือนหนอนที่อยู่ในปลาเน่า และในอาจมนั้น สายสะดือของสัตว์เกิดในครรภ์กลวงดังสายบัวอุบล ปากสะดือกลวงขึ้นไปเบื้องบนติดหลังท้องมารดา ข้าว น้ำ อาหาร และโอชารสที่มารดากินเข้าไป เป็นน้ำชุ่มซึมเข้าไปตามสายสะดือในท้องสัตว์ที่เกิดในครรภ์ทีละน้อย ๆ สัตว์ที่เกิดในครรภ์ได้กินอาหารดังกล่าวทุกวัน ทุกเช้าเย็น อาหารเข้าไปอยู่เหนือศีรษะทับศีรษะสัตว์เกิดนั้น สัตว์เกิดนั้นได้รับทุกข์มากนัก สัตว์เกิดนั้นจะอยู่เหนืออาหารที่มารดากินเข้าไปก่อน เบื้องหลังสัตว์นั้นติดกับหนังท้องมารดา นั่งยอง ๆ อยู่ กำมือทั้ง ๒ ไว้ที่หัวเข่า คู้หัวเข่าทั้งสอง เอาศีรษะไว้เหนือหัวเข่า ขณะนั่งอยู่เลือดและน้ำเหลืองหยดลงเต็มตัวทีละหยดทุกเมื่อ เหมือนลิงเมื่อฝนตกนั่งกำมือซบเซาอยู่ในโพรงไม้นั้น ในท้องมารดานั้นร้อนรุมนักหนา ดุจดังคนเอาใบตองไปจุดไฟเผาและต้มน้ำในหม้อ อาหารทุกสิ่งที่มารดากินเข้าไปถูกเผาไหม้และย่อย ส่วนสัตว์ที่เกิดขึ้นในครรภ์ ไฟธาตุไม่ไหม้ เพราะบุญของสัตว์ที่เกิดในครรภ์จะเกิดเป็นมนุษย์ จะไม่ไหม้และไม่ตายเพราะเหตุนั้น อนึ่ง สัตว์ที่เกิดในครรภ์ไม่หายใจเข้าหายใจออกเลย ไม่ได้เหยียดมือและเท้าออกเช่นเราท่านทั้งหลายนี้แม้แต่ครั้งเดียว ต้องเจ็บปวดตนเหมือนถูกขังไว้ในไหที่คับแคบมาก คับแค้นใจและเดือดร้อนใจอย่างยิ่ง ไม่ได้เหยียดมือและเท้าออกเหมือนถูกขังในที่แคบ เมื่อมารดาเดินก็ดี นอนก็ดี ลุกขึ้นก็ดี สัตว์ที่เกิดในครรภ์จะเจ็บปวดประหนึ่งว่าจะตาย เหมือนลูกเนื้อทรายคลอดใหม่ตกอยู่ในมือคนเมาเหล้า ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นเหมือนดังลูกงูที่หมอเอาไปเล่น นับได้ว่าความทุกข์ลำบากใจนักหนา ไม่ได้ลำบากเพียง ๒ วัน ๓ วัน แล้วพ้นความลำบาก ต้องอยู่ยากลำบาก ๗ เดือน บางคราว ๘ เดือน บางคราว ๙ เดือน บางคราว ๑๐ เดือน บางคน ๑๑ เดือน บางคนครบหนึ่งปีจึงคลอดก็มี

ผู้ที่อยู่ในท้องมารดาได้ ๖ เดือน และคลอดออกมา ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ ผู้ที่อยู่ในท้องมารดา ๗ เดือน คลอดออกมา แม้ว่าจะเลี้ยงเป็นคนได้ก็ไม่ได้เติบโตกล้าแข็ง ทนแดดทนฝนไม่ได้ ผู้ที่จากนรกมาเกิด เมื่อคลอดออกมาตัวร้อน เมื่อสัตว์นั้นอยู่ในท้องมารดาจะเดือดร้อนใจและหิวกระหาย เนื้อมารดานั้นก็พลอยร้อนไปด้วย ผู้ที่จากสวรรค์ลงมาเกิดเมื่อจะคลอดออก เนื้อตนสัตว์ที่เกิดนั้นเย็น เย็นกาย เย็นใจ เมื่ออยู่ในท้องมารดาก็อยู่เย็นเป็นสุขสำราญบานใจ เนื้อกายมารดาก็เย็นด้วย เมื่อถึงเวลาจะคลอด จะมีลมในท้องมารดาพัดผันตนสัตว์ที่เกิดให้ขึ้นเบื้องบน ให้ศีรษะลงเบื้องต่ำสู่ที่จะคลอด เหมือนเหล่าสัตว์นรกถูกยมบาลจับเท้า หย่อนศีรษะลงในขุมนรกที่ลึกร้อยวา สัตว์ที่เกิดนั้นเมื่อจะคลอดออกมาจากท้องมารดา ออกมายังไม่ทันหลุดพ้น ตัวจะเย็นเจ็บปวดยิ่งนัก ประดุจดังช้างสารที่คนชักเข็นออกจากประตูขนาดเล็กและคับแคบ ออกยากลำบากยิ่งนัก หรือเปรียบเหมือนดังสัตว์นรกถูกภูเขาคังไคยหีบบดขยี้นั่นเอง ครั้นคลอดออกจากท้องมารดาแล้ว ลมในท้องของสัตว์ที่เกิดนั้นจะพัดออกก่อนลมภายนอกจึงพัดเข้า เมื่อพัดเข้าถึงลิ้นสัตว์ที่เกิดจึงหยุด เมื่อออกจากท้องมารดาแล้ว นับแต่นั้นไป สัตว์ที่เกิดจึงรู้จักหายใจเข้าออก ถ้าสัตว์ที่เกิดมาแต่นรกหรือมาจากเปรตจะคิดถึงความทุกข์ลำบาก เมื่อคลอดออกมาจะร้องไห้ ถ้าสัตว์ที่เกิดมาแต่สวรรค์ เมื่อคิดถึงความสุขในหนหลัง ครั้นคลอดออกมาแล้วจะหัวเราะก่อน แต่มนุษย์ผู้อยู่ในโลกนี้หรือในจักรวาลอื่น ๆ เมื่อแรกเกิดในครรภ์มารดาก็ดี ระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาก็ดี เมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดาก็ดีในกาลทั้ง ๓ นี้ จะหลงลืมไม่รู้ตัวในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแม้แต่สิ่งเดียวเลย

ผู้จะมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี เป็นพระอรหันตขีณาสพก็ดี และเป็นพระอัครสาวกก็ดี เมื่อแรกมาเกิดในครรภ์มารดาก็ดี ระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาก็ดี ทั้ง ๒ ระยะย่อมไม่หลง และคำนึงรู้อยู่ทุกสิ่ง เมื่อจะคลอดจากครรภ์มารดา ถูกลมกรรมชวาต คือ ลมเบ่งพัดผันให้ศีรษะลงสู่ที่คลอดซึ่งเบียดตัวแอ่นยันมาสู่ที่จะคลอด ได้รับความเจ็บปวดตนลำบากนักดังกล่าวมาแต่ก่อน และพลิกศีรษะลงโดยไม่รู้สึกตัว ไม่เหมือนผู้จะมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือผู้จะมาเกิดเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า จะรู้สึกตน ไม่ลืมตน ในเวลาทั้ง ๒ นี้ คือเมื่อแรกเกิดในครรภ์มารดาและระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา แต่เมื่อจะคลอดจากครรภ์มารดาจะหลงเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย ส่วนมนุษย์ทั้งหลายนี้จะหลงลืมทั้ง ๓ กาล ฉะนั้นควรเบื่อหน่ายสงสารนี้

พระโพธิสัตว์ในชาติที่จะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อแรกกำเนิดก็ดี ระหว่างอยู่ในพระครรภ์พระมารดาก็ดี และขณะจะประสูติจากพระครรภ์พระมารดาก็ดี จะไม่หลงลืมแม้ครั้งเดียว จะระลึกรู้ทุกประการ เมื่อพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในพระครรภ์พระมารดา จะไม่เหมือนมนุษย์ทั้งหลาย เบื้องหลังพระโพธิสัตว์ติดกับหลังพระครรภ์พระมารดา ประทับนั่งสมาธิ ดังนักปราชญ์ผู้สง่างามนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ มีพระวรกายเรืองงามดังทอง เห็นแสงรังรองเหมือนกับจะเสด็จออกมาภายนอกพระครรภ์ พระมารดาพระโพธิสัตว์ก็ดี มนุษย์อื่น ๆ ก็ดี จะเห็นพระโพธิสัตว์รุ่งเรืองงามดังเอาไหมแดงมาร้อยแก้วขาวฉะนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์จะเสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา ลมอันเป็นบุญมิได้พัดผันพระเศียรลงเบื้องต่ำ และพัดพระบาทขึ้นเบื้องบนเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเหยียดพระบาทออก และเมื่อจะเสด็จออกจากพระครรภ์จะทรงลุกขึ้นแล้วจึงเสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา อนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ในหลาย ๆ ชาติ จะเป็นประดุจครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้าย ซึ่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้ ไม่เคยมีในชาติก่อน ๆ ที่ล่วงมาแล้ว มีสภาพเป็นปกติธรรมดาเหมือนคนทั้งหลายทั้งปวง เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดาก็ดี เมื่อประสูติก็ดีจะเกิดแผ่นดินไหวทั่วหมื่นจักรวาล น้ำอันรองแผ่นดินก็ไหว น้ำในมหาสมุทรเกิดคลื่นฟูมฟอง ภูเขาพระสุเมรุก็หวั่นไหวด้วยบุญญาธิการของพระโพธิสัตว์ พระผู้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น

มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายก็ดิ ครั้นคลอดออกจากท้องของมารดาแล้ว จะได้ดูดกินโลหิตในอกมารดาที่กลายมาเป็นน้ำนมไหลออกจากอกมารดาด้วยความรักลูกนั้น สิ่งนี้เป็นธรรมดาวิสัยของโลกทั้งหลาย

มนุษย์ทั้งหลายเจริญวัยโดยลำดับโดยอาศัยบิดามารดา เมื่อบิดามารดาพูดภาษาใด ๆ ก็ดี บุตรธิดาได้ยินบิดามารดาพูดภาษานั้น ๆ ก็จะพูดภาษานั้น ๆ ตามบิดามารดา ถ้าบุตรธิดาเจริญเติบโตใหญ่กล้าแข็งแรงไม่รู้ภาษาใด ๆ เลย บุตรธิดาก็จะพูดภาษาบาลีตามที่ท่านว่าไว้ เมื่ออายุ ๑๖ ปี จึงหย่านม

ประเภทมนุษย์ - สี่ทวีป

บุตรทั้งหลายที่เกิดมามี ๓ จำพวก คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร และอวชาตบุตร

อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดียิ่งกว่าบิดามารดาทั้งในด้านเชาวน์ปัญญา รู้หลักนักปราชญ์ รูปงาม ทรัพย์ ยศฐาบรรดาศักดิ์

อนุชาตบุตร คือ บุตรที่เกิดมาฉลาด มีกำลังเรี่ยวแรงเสมอบิดามารดาทุกประการ

อวชาตบุตร คือ บุตรที่เกิดมาด้อยกว่า เลวกว่าบิดามารดาทุกประการ

มนุษย์ทั้งหลายนี้มี ๔ จำพวก คือ มนุษย์นรก มนุษย์เปรต มนุษย์เดรัจฉาน และมนุษย์คน

เหล่ามนุษย์ที่ฆ่าสัตว์มีชีวิต เมื่อบาปมาถึงตนและถูกผู้อื่นตัดมือตัดเท้าได้รับความทุกข์โศกลำบากมาก คือ มนุษย์นรก

มนุษย์จำพวกหนึ่ง ไม่เคยทำบุญในชาติก่อน จึงเกิดมาเป็นคบยากไร้เข็ญใจ ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งห่ม อดอยากยากแค้น ไม่มีอาหารจะกิน หิวกระหายมาก ขี้ริ้วขี้เหร่ มนุษย์เหล่านี้ คือ มนุษย์เปรต

บรรดามนุษย์ที่ไม่รู้จักบุญและบาป เจรจาหาความเมตตากรุณามิได้ มีใจแข็งกระด้าง ไม่ยำเกรงผู้อาวุโส ไม่รู้จักปรนนิบัติบิดามารดา และอุปัชณาย์อาจารย์ ไม่รู้จักรักพี่รักน้อง กระทำบาปทุกเมื่อ มนุษย์เหล่านี้ คือ มนุษย์เดรัจฉาน

บรรดามนุษย์ที่รู้จักผิดและชอบ รู้จักบาปและบุญ รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า รู้จักกลัวและละอายแก่บาป ว่านอนสอนง่าย รู้จักรักพี่รักน้อง รู้จักเอ็นดูกรุณาต่อผู้ยากไร้เข็ญใจ รู้จักยำเกรงบิดามารดา ผู้อาวุโส สมณพราหมณาจารย์ที่ปฏิบัติในสิกขาบทของพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ รู้จักคุณแก้ว ๓ ประการ มนุษย์เหล่านี้ คือ มนุษย์คน

มนุษย์คนมี ๔ จำพวกได้แก่ พวกที่เกิดและอยู่ในชมพูทวีปนี้ พวกที่เกิดและอยู่ในบุรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของเรา พวกที่เกิดและอยู่ในอุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของเรา และพวกที่เกิดและอยู่ในอมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของเรา

มนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีปของเรานี้ มีหน้ารูปไข่เหมือนดุมเกวียน มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีป มีหน้ากลมเหมือนเดือนเพ็ญ กลมดังหน้าแว่น[๒] มนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป มีหน้ารูป ๔ เหลี่ยม ดุจดังท่านตั้งใจบรรจงแต่งไว้ กว้างและยาวเท่ากัน มนุษย์ในอมรโคยานทวีป มีหน้าเหมือนเดือนแรม ๘ ค่ำ

อายุของคนชาวชมพูทวีปอาจยาวหรือสั้น เพราะเหตุที่บางครั้ง มนุษย์ทั้งหลายบางครั้งมีศีลธรรม บางคราวไม่มี ถ้ามนุษย์ทั้งหลายมีศีลธรรม ย่อมกระทำบุญและปฏิบัติธรรม ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา และสมณพราหมณาจารย์ อายุของมนุษย์เหล่านั้นจะยาวขึ้น ๆ ส่วนมนุษย์ที่ไม่ได้จำศีล ไม่ได้ทำบุญ ไม่ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา สมณพราหมณ์ อุปัชฌาย์ อาจารย์นั้น อายุของคนเหล่านั้นจะสั้นลง ๆ เพราะเหตุดังกล่าว อายุของมนุษย์ในชมพูทวีปนี้จึงกำหนดไม่ได้

มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีปมีอายุยืนได้ ๑๐๐ ปี จึงตาย ส่วนมนุษย์ในอมรโคยานทวีป มีอายุยืนได้ ๔๐๐ ปี จึงตาย ส่วนมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีปมีอายุยืนได้ ๑๐๐๐ ปีจึงตาย

อายุของมนุษย์ในทวีปทั้ง ๓ ไม่เคยมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงเลย เพราะมนุษย์เหล่านี้ตั้งอยู่ในเบญจศีลตลอดกาลไม่ได้ขาด ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ขโมยทรัพย์ไม่ว่ามากหรือน้อยของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ส่วนผู้หญิงในทวีปเหล่านี้ก็ไม่ลอบเป็นชู้กับสามีผู้อื่น หญิงเหล่าอื่นก็ไม่เป็นชู้กับสามีของหญิงเหล่านี้ อนึ่ง มนุษย์เหล่านั้นไม่พูดเท็จ เว้นจากการดื่มสุราของเมาต่าง ๆ และรู้จักยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา รู้จักรักพี่รักน้อง มีใจอ่อนโยน อดทน มีความเอ็นดูกรุณาซึ่งกันและกัน ไม่อิจฉาริษยากัน เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการทะเลาะเบาะแว้งทุ่มเถียงกัน ไม่ช่วงชิงหวงแหนเขตแดนและบ้านเรือนของกันและกัน ไม่ข่มเหงช่วงชิงเอาเงินทองแก้วแหวน บุตร ภรรยา ข้าว ไร่ นา โค ป่า ห้วยละหาน ธารน้ำ บ้านเรือน ที่สวน เผือกมัน หลักตอ ล้อเกวียน ไม่เบียดเบียนเรือ แพ โค กระบือ ช้าง ม้า ข้าไท และสรรพทรัพย์สินสิ่งใด ๆ เขาไม่แบ่งว่าเป็นของตนหรือของท่าน ดูเสมอกันทั้งสิ้นทุกแห่ง มนุษย์เหล่านั้นไม่ทำไร่ไถนาค้าขายเลย

แผ่นดินทางทิศตะวันตกเขาพระสุเมรุมีทวีปชื่อ “อมรโคยานทวีป” กว้าง ๗๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินล้อมรอบเป็นบริวาร บรรดามนุษย์ในอมรโคยานทวีปมีหน้าดังเดือนแรม ๘ ค่ำ มีแม่น้ำใหญ่และแม่น้ำเล็ก มีภูเขา มีเมืองใหญ่เมืองน้อย (มนุษย์ในทวีปนั้นมีจำนวนมาก มีท้าวพระยา และมีนายบ้านนายเมือง)

แผ่นดินทางทิศตะวันออกภูเขาพระสุเมรุมีทวีปใหญ่ชื่อ “บุรพวิเทหทวีป” กว้างได้ ๗,๐๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๒๑,๐๐๐ โยชน์ มีทวีปเล็ก ๕๐๐ ทวีปล้อมรอบเป็นบริวาร เหล่ามนุษย์ในบุรพวิเทหทวีปมีหน้ากลมดังเดือนเพ็ญ มีแม่น้ำใหญ่แม่น้ำเล็ก มีภูเขา มีเมืองใหญ่เมืองน้อย เหล่ามนุษย์ที่อยูในทวีปนั้นมีมากนัก มีท้าวพระยาและนายบ้านนายเมือง

แผ่นดินทางทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุมีทวีปชื่อว่า “อุตตรกุรุทวีป” กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินเล็ก ๆ ๕๐๐ ล้อมรอบเป็นบริวาร มนุษย์ในทวีปนั้นมีหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีภูเขาทองล้อมรอบทวีป มีคนทั้งหลายอาศัยอยู่ในทวีปนั้นมาก มีความเป็นอยู่ดีกว่าคนในทวีปอื่น เพราะบุญของเขา เพราะเขารักษาศีล

แผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้นราบเรียบเสมอกัน ไม่มีที่ลุ่มที่ดอนหรือที่ขรุขระปรากฏให้เห็น และมีต้นไม้นานาพันธุ์ มีกิ่งก้านสาขางาม มีค่าคบใหญ่น้อยมากมาย เหมือนเขาตั้งใจสร้างไว้เป็นบ้านเรือนดูงามดั่งปราสาท เป็นที่อยู่อาศัยของคนในอุตตรกุรุทวีปนั้น ไม้นั้นไม่มีตัวแมลงตัวด้วง ไม่มีส่วนที่คดที่งอ ที่กลวง ที่เป็นโพรง ต้นตรงกลมงามมาก ผลิดอกออกผลตลอดเวลาไม่เคยขาด ที่ใดที่เป็นบึง หนอง ตระพัง จะดาดาษด้วยดอกบัวแดง บัวขาว บัวเขียว บัวหลวง และกุมุท อุบล จงกลนี นิลุบล บัวเผื่อน บัวขม เมื่อลมพัดต้องก็โชยกลิ่นหอมขจรขจายไปโดยรอบอยู่ทุกเวลา

ชาวอุตตรกุรุทวีปมีรูปร่างสมทรง ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่อ้วนไม่ผอม ดูงามด้วยรูปทรงสมส่วน มีเรี่ยวแรงกำลังกายคงที่ไม่เสื่อมถอยไปตามวัย ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ พวกเขาไม่มีความกังวลในเรื่องทำมาหากิน ไม่ต้องทำไร่ทำนาหรือซื้อขายกัน อนึ่ง ชาวอุตตรกุรุทวีปไม่รู้สึกร้อนหรือหนาว ไม่มีภัยจากแมงมุม ริ้น ยุง งู สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ร้ายมีพิษนานาชนิด เป็นต้น ชาวอุตตรกุรุทวีปไม่มีภัยจากลมและฝน และแดดก็ไม่เผาไหม้เขา เขาไม่รู้จักความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจสิ่งใด

ชาวอุตตรกุรุทวีปมีข้าวชนิดหนึ่งชื่อ “สัญชาตสาลี” คือข้าวที่เกิดเอง เขาไม่ต้องหว่านหรือไถดำ ข้าวนั้นเกิดเป็นต้นเป็นรวงเป็นข้าวสารเอง ข้าวนั้นหอม ไม่มีแกลบมีรำ ไม่ต้องตำ ไม่ต้องฝัด ชาวอุตตรกุรุทวีปชวนกันกินข้าวนั้นอยู่เป็นประจำ ในอุตตรกรุทวีปยังมีหินชนิดหนึ่งชื่อ “โชติปาสาณ” คนเหล่านั้นจะเอาข้าวสารกรอกใส่หม้อทองเรืองงาม ยกไปตั้งบนแผ่นหินโชติปาสาณนั้น ชั่วครู่หนึ่งจะเกิดเป็นไฟลุกขึ้นได้เอง เมื่อข้าวสุก ไฟจะดับเอง เมื่อเขาเห็นไฟดับก็รู้ว่าข้าวสุกจึงคดใส่ถาดและตะไลทองงาม สำหรับกับข้าวนั้นก็ไม่ต้องจัดหา เมื่อนึกว่าจะกินสิ่งใดก็จะปรากฏขึ้นอยู่ใกล้ ๆ เขาเอง คนเหล่านั้นเมื่อกินข้าวนั้นแล้วจะไม่เกิดโรคต่าง ๆ เป็นต้นว่า โรคหิด โรคเรื้อน เกลื้อน กลาก โรคฝี โรคผอมแห้ง และโรคลมบ้าหมู จะไม่เป็นโรคท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่เป็นง่อยเปลี้ยเพลียแรง ดวงตาไม่บอดไม่ฟาง หูไม่หนวกไม่ตึง จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการดังกล่าวมานั้น ถ้าเขากำลังกินข้าวนั้นอยู่ เมื่อมีคนมาเยี่ยม เขาก็นำข้าวนั้นมารับรองด้วยความเต็มใจ และไม่รู้สึกเสียดาย

ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้นมีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๐๐ โยชน์ ผู้ใดปรารถนาอยากจะได้ทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสื้อสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ ผ้านุ่งผ้าแพรพรรณต่าง ๆ ก็ดี หรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ สิ่งเหล่านั้นย่อมบังเกิดขึ้นแต่ค่าคบของต้นกัลปพฤกษ์นั้น ให้สำเร็จสมตามความปรารถนาทุกประการ

สตรีทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคน รูปร่างไม่สูงไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมไม่อ้วนเกินไป ไม่ขาวดำเกินไป มีรูปทรงสมส่วน ผิวพรรณงามดั่งทองสุกเหลือง เป็นที่พึงใจของชายทุกคน นิ้วมือนิ้วเท้ากลมกลึง มีเล็บสีแดงเหมือนน้ำครั่งที่ทาแต้มไว้ แก้มใสนวลงามดั่งผัดแป้ง ใบหน้านั้นเกลี้ยงเกลาปราศจากมลทินคือ ไฝ ฝ้า มีดวงหน้าดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีนัยน์ตาดำเหมือนนัยน์ตาของเนื้อทรายอายุ ๓ วัน ที่ขาวก็ขาวเหมือนสังข์ที่พึ่งขัดใหม่ มีริมฝีปากแดงดังลูกฟักข้าวที่สุกงอม มีลำแข้งขาเรียวงาขาวเหมือนลำกล้วยทองฝาแฝด มีท้องที่ราบเรียบเสมอ ลำตัวอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม มีขนและเส้นผมละเอียดอ่อนยิ่งนัก เส้นผมของคนปัจจุบัน ๑ เส้น เท่ากับผม ๘ เส้นของนางโดยประมาณ ดำงามเหมือนปีกแมลงภู่ ยาวลงมาถึงริมบ่าเบื้องต่ำทั้งสองแล้ว ตวัดปลายผมขึ้นเบื้องบน เมื่อเวลานางนั่งยืนอยู่ก็ดี เดินไปมาก็ดี ใบหน้าแจ่มใสเหมือนดังแย้มยิ้มตลอดเวลา มีขนคิ้วดำสนิทโก่งดังวาดไว้ เมื่อนางพูดจะมีน้ำเสียงแจ่มใสปราศจากเสมหะเขหะทั้งปวง ที่คอประดับด้วยเครื่องอาภรณ์งามยิ่ง มีรูปโฉมโนมพรรณงามดังสาวน้อยอายุ ๑๖ ปี มีทรวดทรงคงที่ไม่แก่เฒ่าไปตามกาลเวลา ดูอ่อนเยาว์ตลอดชีวิตทุกคน

ชายทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีปก็มีรูปร่างผิวพรรณงามเหมือนหนุ่มน้อยอายุ ๒๐ ปี ไม่มีแก่เฒ่า เป็นหนุ่มอยู่ดังนั้นตลอดชีวิตทุกคน คนเหล่านั้นกินข้าวน้ำและอาหารอย่างดี มีรสอันอร่อย เขาแต่งแต่ตัว เขาจะทากระแจะจันทน์น้ำมันอย่างดี ทัดทรงดอกไม้หอมต่าง ๆ แล้วพากันไปเที่ยวเล่นตามสบาย บ้างก็ฟ้อนรำทำเพลงดุริยางคดนตรี บ้างก็ดีดสีตีเป่า ขับร้องกันสนุกสนานเป็นหมู่มากมาย มีเสียงฆ้อง กลอง แตรสังข์ กังสดาล มโหรทึกดังกึกก้อง มีการทำพิธี มีดอกไม้งามต่าง ๆ มีจวงจันทน์กฤษณา เหมือนดั่งเป็นเทวดาบนสวรรค์เขาเล่นสนุกด้วยกันตลอดเวลา บางหมู่ก็ชวนกันไปเล่นในที่สวยงดงามที่สนุกและในสวนอันมีดอกไม้งามตระการตา มีจวงจันทน์ กฤษณาคันธา ปาริชาต นาคพฤกษ์ ลำดวน จำปา โยธกา มาลุตี มนีชาตบุตรทั้งหลาย ซึ่งมีดอกงามมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป บางหมู่ก็ชวนกันเล่นในสวนผลไม้อันมีผลสุกงอมหอมหวาน เช่นว่า ขนุนบางผลนั้นใหญ่เท่าไห บางผลใหญ่เท่ากระออม หอมหวานมาก เขาชวนกันกินเล่นเป็นที่สนุกสนานเบิกบานใจในสวนนั้น บางหมู่ก็ชวนกันไปเล่นในแม่น้ำใหญ่ ที่มีท่าราบเรียบปราศจากเปือกตม แล้วชวนกันเล่นแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ เด็ดเอาดอกไม้ที่มีอยู่ในที่นั้นมาทัดทรงไว้ที่หูและหัว บางพวกก็พากันเล่นที่หาดทราย เมื่อจะพากันลงอาบน้ำนั้น พวกเขาจะถอดเครื่องประดับออกวางไว้ที่หาดทรายแล้วลงไปอาบ ว่ายเล่นกับในแม่น้ำ เมื่อผู้ใดขึ้นมาจากน้ำก่อน จะเอาเครื่องประดับและผ้านุ่งผ้าห่มของใครมาประดับนุ่งห่มได้ไม่ว่ากัน ไม่โกรธกัน ไม่ด่าหรือถกเถียงกัน ถ้ามีต้นไม้อยู่ที่ใดก็เข้าไปอาศัยอยู่ในที่นั้น สถานที่นั้นก็จะพูนสูงขึ้นเป็นเสือสาดอาสนะ เป็นฟูกที่นอนหมอนอิง เป็นม่านและเพดานกั้น พวกเขาพากันสนุกสนานรื่นเริงใจตลอดเวลา

เมื่อเขาเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่มสาว เมื่อแรกรักกันจะอยู่ครองเรือนเป็นสามีภรรยากัน เขาจะร่วมรักกันเพียง ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้นเขาจะไม่ร่วมรักกันเลย จะอยู่เย็นเป็นสุขตราบเท่าสิ้นอายุ ๑,๐๐๐ ปีของพวกเขานั้น ไม่อาลัยอาวรณ์สิ่งใด ดังเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสทั้งปวงแล้ว

ผู้หญิงชาวอุตตรกุรุทวีป เมื่อมีครรภ์และจะคลอดลูก นางจะไม่เจ็บท้องเลย และไม่ว่ามารดาจะอยู่ที่ใด ครั้นเมื่อจะคลอดจะเกิดมีแท่นที่นอนขึ้นมารองรับ นางจะไม่เจ็บท้องเวลาจะคลอดเลย และทารกที่คลอดออกมาก็ไม่มีเลือดฝาดและเมือกขาวเป็นมลทิน งามดังแท่งทอง อันสุกใสปราศจากราคีต่าง ๆ มารดาไม่ต้องอาบน้ำ ให้ยา และไม่ต้องให้ทารกดื่มนมเลย เพียงเอาไปให้นอนหงาย วางทิ้งไว้ที่ริมทางที่มีหญ้าอ่อนดังสำลี เมื่อใครเดินไปมามองเห็นทารกนอนหงายอยู่อย่างนั้น ก็จะเอานิ้วมือเข้าไปป้อนในปากของทารก ด้วยบุญของทารกนั้นก็จะบังเกิดเป็นน้ำนมไหลออกมาจากปลายนิ้วมือเข้าไปในลำคอ และยังเกิดเป็นกล้วยอ้อยของกินเลี้ยงทารกนั้นทุก ๆ วัน ครั้นทารกเติบโตขึ้นสามารถเดินไปมาได้แล้ว ถ้าหากเด็กนั้นเป็นผู้ชายจะไปอยู่รวมกลุ่มกับเด็กผู้ชาย ถ้าเป็นหญิงก็จะไปอยู่รวมกลุ่มกับเด็กผู้หญิง เพราะฉะนั้นลูกเขาจึงโตขึ้นเอง ลูกไม่รู้จักพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ไม่รู้จักลูก เพราะคนเหล่านั้นมีรูปร่างงามสง่าเหมือนกันหมดทุกคน เมื่อพวกเขาเริ่มรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน แม่และลูกก็ดี พ่อและลูกก็ดี จะไม่อยู่ครองเรือนเป็นสามีภรรยากัน เพราะพวกเขานั้นมีบุญ เทวดาจึงบันดาลทุกสิ่งให้เป็นธรรมดา

เมื่อพวกเขาตายจากกันไป ก็มิได้มีความทุกข์เศร้าโศกเสียใจร้องไห้ถึงกันเลย พวกเขาจะเอาศพนั้นอาบน้ำแต่งตัวทากระแจะจันทน์น้ำมันหอม นุ่งห่มผ้าให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง แล้วจึงเอาไปวางไว้ในที่แจ้ง ก็จะมีนกชนิดหนึ่งซึ่งบินทั่วไปในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้น มาคาบเอาศพไปยังรังนกนั้นเพื่อมิให้สกปรกรกแผ่นดิน นกนั้นบางทีก็คาบเอาไปทิ้งไว้ในแผ่นดินอื่น หรือทิ้งที่ฝั่งทะเลหรือในชมพูทวีป นกนี้ต่างอาจารย์เรียกชื่อต่างกัน คือ นกหัสดีลิงค์ นกอินทรี นกกด ที่ว่าคาบเอาศพไปนั้น บางอาจารย์กล่าวว่าไม่ได้คาบเอาศพไป แต่ใช้กรงเล็บคีบเอาไป

คนทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีป เมื่อตายไปแล้วย่อมไม่ไปเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานนั้นเลย แต่พวกเขาจะไปเกิดในที่ดี คือ สวรรค์ชั้นฟ้า เพราะว่าพวกเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ตลอดเวลา เครื่องหมายคุณความดีของคนเหล่านั้นก็ยังปรากฏอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดบริบูรณ์อยู่ตราบจบบัดนี้

ในคัมภีร์ฉบับหนึ่งแสดงไว้ว่า แผ่นดินในอุตตรกุรุทวีปนั้นราบเรียบเสมอกัน งามมาก มิได้เป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระ คนทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในที่นั้นไม่มีความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจเลย และพวกสิงสาราสัตว์ทั้งหลาย อาทิ หมู หมี หมา และงู ตลอดจนสรรพสัตว์อันดุร้ายนานาชนิด ไม่มาเบียดเบียนทำร้ายคนทั้งหลายที่อยู่ในที่นั้นเลย และยังมีหญ้าชนิดหนึ่งชื่อว่า “ฉวินยา” งอกขึ้นในแผ่นดินนั้น มีสีเขียวงาม ดำดังแววนกยูง ละเอียดอ่อนดังฟูก ดังสำลีงอกขึ้นพ้นดิน ๔ นิ้ว และมีน้ำใสเย็นสะอาด ดื่มกินมีรสอร่อย ไหลเซาะท่าน้ำ แลดูงามล้วนไปด้วยทอง เงิน และแก้ว ๗ ประการ ไหลเสมอฝั่ง เมื่อนกกามาดื่มกิน ก็กินโดยไม่ต้องชะโงกหัวลงดื่ม คนทั้งหลายในที่นั้น บางคนมีรูปร่างสูงเท่าคนในบุรพวิเทหทวีป และคนในอุตตรกรุทวีปนั้น เขานุ่งห่มผ้าขาวที่เขานึกอธิษฐานเอาจากต้นกัลปพฤกษ์นั้น

ต้นกัลปพฤกษ์นั้น สูง ๑๐ วา ๒ ศอก กว้าง ๑๐ วา คนทั้งหลายในที่นั้นจะไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต และไม่กินเนื้อสัตว์อีกด้วย ถ้าคนใดคนหนึ่งตายไปแล้วเขาจะไม่นำซากศพไป แต่จะมีนกชนิดหนึ่งคือนกอินทรีมาคาบเอาไปไว้เสียกลางป่า

หมู่ชนทั้งหลายที่เป็นหนุ่มสาวในอุตตรกุรุทวีปนั้น เมื่อรักกับชอบกันก็จะอยู่ร่วมกันเอง เป็นสามีภรรยากันโดยไม่ต้องเสียสิ่งหนึ่งสิงใด เมื่อเขารักกันเขาก็อยู่ด้วยกันเองตราบเท่าถึงไฟไหม้กัลป์ ดังสิ่งทั้ง ๔ นี้ อันได้แก่ ประการที่หนึ่ง รูปกระต่ายที่อยู่ในพระจันทร์หนึ่ง ประการที่สอง พระโพธิสัตว์เมื่อมีชาติเป็นนกคุ้ม อยู่ในกองไฟแต่ไฟไม่ไหม้ตราบจนถึงหนึ่งกัลป์ ประการที่สาม เรื่องพระโพธิสัตว์ที่ท่านรื้อหลังคาออกเพื่อมุงกุฎีพระสงฆ์ ฝนไม่ตกรั่วเรือนที่รื้อออกเลย ตราบเท่าสิ้นกัลป์หนึ่ง และประการที่สี่ ไม้อ้อที่อยู่รอบริมสระน้ำเมื่อพระโพธิสัตว์เป็นพระยาวานร และมีบริวาร ๘๐,๐๐๐ ตัว ท่านอธิษฐานว่าให้ไม้อ้อนั้นกลวงอยู่ตราบเท่าสิ้นกัลป์หนึ่ง

คนเหล่านั้นตั้งแต่หนุ่มสาวจนถึงแก่เฒ่า เขาร่วมรักด้วยกันเพียง ๔ ครั้ง บางคราวก็มิได้ร่วมรักกันเลย คนเหล่านั้นกินข้าว แต่ไม่ต้องทำนา เขาจะเอาข้าวสารซึ่งเกิดได้เองนั้นมากิน และข้าวสารนั้นก็ขาวสะอาด ไม่ต้องตำ ไม่ต้องซ้อมข้าวเปลือกเลย

มีผลไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ตุณหิรกะ” มีรูปร่างเหมือนหม้อข้าว เขาจะเอาข้าวน้ำใส่แล้วตั้งบนก้อนหินที่เรียกว่า “โชติปาสาณะ” ซึ่งเกิดเป็นไฟลุกขึ้นได้เอง เมื่อข้าวนั้นสุกดีแล้วไฟนั้นจะดับไปเอง ข้าวที่พวกเขาคดมารับประทานนั้นมีรสอร่อยยิ่งนัก ชนชาวอุตตรกุรุทวีปไม่ได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย แต่มีไม้ชนิดหนึ่งที่งามเหมือนทองเรียกว่า “มัญชุสถา” เป็นเหมือนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชนชาวแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป

เรื่องพระยามหาจักรพรรดิราช

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอัครสาวกก็ดี พระอรหันตขณาสพก็ดี พระโพธิสัตว์ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ดี และพระยามหาจักรพรรดิราชก็ดี ท่านผู้มีบุญทั้งหลายเหล่านั้นย่อมไม่ไปอุบัติในทวีปทั้ง ๓ นั้นเลย แต่มาอุบัติในแผ่นดินชมพูทวีปของเรานี้ เหล่าชนที่เกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ก็ไม่ไปเกิดในทวีปทั้ง ๓ นั้นเลย เหล่าชนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินทั้ง ๓ นั้นก็ดี และเหล่าชนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเล็ก ๆ ทั้งสองพันนั้นก็ดี เมื่อใดมีพระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จอุบัติขึ้น เมื่อนั้นชนเหล่านั้นก็พากันมาเฝ้าพระองค์ เหมือนคนทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินของเรานี้พากันกราบไหว้ เคารพยำเกรงพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้านั้น

ท่านผู้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น มียศมีศักดิ์ดังนี้ คือ ผู้ใดได้สร้างสมบุญญาธิการมาแต่ปางก่อน คือ ได้ปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย รู้จักคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ รักษาศีล เมตตาภาวนา ผู้นั้นครั้นตายไปก็ไปเกิดในสวรรค์ บางครั้งก็ไปเกิดเป็นท้าวเป็นพระยาผู้ใหญ่ มียศ มีศักดิ์ มีบริวาร ได้ปราบทั่วทั้งจักรวาล ท่านผู้นั้นเมื่อกล่าวถ้อยคำหรือบังคับบัญชา ท่านย่อมกระทำด้วยความเป็นธรรมทุกประการ ท่านผู้นั้นเป็นพระยา ทรงพระนามว่า พระยามหาจักรพรรดิราช พระยานั้นมักชอบฟังพระธรรมเทศนาจากสำนักของสมณพราหมณาจารย์ และนักปราชญ์ผู้รู้ธรรมทั้งหลาย พระองค์ทรงบำเพ็ญศีล ๕ ทุกวันมิได้ขาด ในวันธรรมสวนะ ทรงบำเพ็ญศีล ๘ ในวันเพ็ญ เวลาเช้า พระองค์รับสั่งให้นำราชทรัพย์ออกมากองไว้หน้าพระลานชัย แล้วแจกเป็นทานแก่คนผู้มาขอ ครั้นแจกทานเสร็จแล้ว จึงชำระสระพระเกศาแล้ว สรงด้วยน้ำอบด้วยเครื่องหอมในกระออมทองคำครั้งละพันกระออม เสร็จแล้วจึงทรงผ้าขาวซึ่งมีเนื้อละเอียด มีชื่อว่า “สุกุลพัสตร์” มาห่มกายและพาดเหนืออังสะ (บ่า) แล้วจึงสมาทานศีล ๘ ต่อจากนั้นจึงเสด็จลงไปประทับนั่ง ณ กลางแผ่นดินทอง ประดับด้วยแก้วรุ่งเรืองงามดุจแสงอาทิตย์ ประกอบไปด้วยฟูกเมาะเบาะแพรและหมอนทอง ส่วนแท่นประทับทองคำก็ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ อยู่ในปราสาทแก้วอันรุ่งเรืองงดงามยิ่ง พระยามหาจักรพรรดิราชนั้น เมื่อรำพึงถึงทานที่พระราชทาน รำพึงถึงศีลที่บำเพ็ญ และรำพึงถึงธรรมที่ทรงสดับแล้วทรงเจริญภาวนา ด้วยอำนาจบุญสมภารของพระองค์นั้น พระองค์จึงได้ปราบทั่วทั้งจักรวาล

เรื่อง จักรรัตนะ (จักรแก้ว)

มีจักรแก้วอัน ๑ ชื่อว่า จักรรัตนะประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีกำ[๓]จำนวน ๑,๐๐๐ อยู่รอบ ๆ ดุมนั้น งดงามยิ่ง จมอยู่ในท้องมหาสมุทร ลึก ๘,๔๐๐ โยชน์ ตัวจักรนั้นเป็นแก้ว ดุมนั้นเป็นแก้วอินทนิล หัวกำซึ่งฝังเข้าไปในดุมนั้นเป็นเงินและทองดูสวยสดงดงามยิ่ง เมื่อได้เห็นเหมือนกับดุมนั้นยิ้มให้ และมองเห็นเป็นสีขาวงามยิ่งนัก ที่ขอบดุมนั้นหุ้มด้วยแผ่นเงิน งามดุจดังพระจันทร์วันเพ็ญ ตรงกลางนั้นเป็นรูโดยตลอด โดยรอบหัวกำนั้นประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ แต่ละซี่ดูสุกใสงดงามเหมือนกับสายฟ้าแลบ มีรัศมีเหมือนแสงพระอาทิตย์ เมื่อพิจารณาดูใสเลื่อมพราย ดังฟ้าแลบไขว้ไปมา วาววับวาวแววดูงามไปทั่วทุกแห่ง มีชื่อว่านาภีสรรพการบริบูรณ์ กำจำนวน ๑,๐๐๐ นั้น ประดับไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ดูเลื่อมพรายแวววาวดังสายฟ้าแลบ รุ่งเรืองด้วยรัศมีดังแสงพระอาทิตย์ ตีประดับด้วยตะปูแก้วดูงดงาม และมีรัศมีฉวัดเฉวียนไปมา ดั่งเทพยดาชื่อว่า พระวิษณุกรรม

กงนั้นประดับด้วยแก้วดูเกลี้ยงเกลาดุจดังบรรจงสร้างไว้ มีรัศมีเหมือนพระอาทิตย์เมื่อยามรุ่งอรุณ ดูเต็มงามไม่มีปม ไม่มีรอยแตก ไม่เบี้ยว ไม่มีบกพร่อง เมื่อแลดูในหน้ากล้องนั้น รูปล่องตลอดไปมา ดั่งกล้องอันชื่อว่าพังกา ที่เทพยดาเป่าในเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า กล้องแก้วนั้น เวลาเป่าจะมีเสียงกังวานไพเราะยิ่งนัก เสียงดังผาดโผน เสียงหึ่ง ๆ น่าฟังอย่างยิ่ง แก้วร้อยหนึ่ง อยู่เหนือลำกล้องแก้วหมู่นั้น กล้องแก้วหมู่นั้นรองอยู่ใต้ต้นกลดขาวร้อยหนึ่ง และมีหอกดาบแห่งละร้อยอยู่รอบกลดนั้นด้วย เหนือกลดตรงกลางนั้นมียอดทองเรืองรองงามดังแสงฟ้า เหนือฉัตรแก้วนั้นมีราชสีห์ทองสองตัวประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีแสงทองงามนักหนา เมื่อจักรแก้วนั้นหมุนไปบนอากาศ แลดูพรายงามดั่งสีหะไกรสรสองตัวจะเหาะบิน และยื่นหน้าออกมาจากชายกงจักรแก้วนั้น ดุจดังจะเข้าขบขย้ำฝูงข้าศึก

เมื่อคนทั้งหลายแลเห็นเช่นนั้นจึงคิดว่า เจ้านายของเราผู้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราช เป็นผู้มีบุญมากยิ่งนัก แม้พระยาราชสีห์สองตัวซึ่งมีกำลังและมีชัยชนะแก่ศัตรูทั้งหลายยังอดอยู่มิได้ต้องมานอบน้อมถวายบังคม มาสวามิภักดิ์แก่พระยามหาจักรพรรดิราชเจ้าผู้เป็นนายแห่งพวกเรา

หมู่ชนทั้งหลายต่างพากันยกมือขึ้นเพียงศีรษะแล้วไหว้วันทนาการ กล่าวว่าชาวเราทั้งหลาย ปากราชสีห์ ๒ ตัวนั้นมิใช่ไม่มีอะไรอยู่ แต่มีสร้อยมุกดา ๒ สาย ใหญ่เท่าลำตาล ดูรุ่งเรืองงามดั่งรัศมีพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ และปากราชสีห์นั้นก็คาบสร้อยมุกดานั้นห้อยลงมา แก้วซึ่งอยู่ในชายมุกดานั้นดูเลื่อมแดงดุจแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกขึ้นฉะนั้น เมื่อกงจักรแก้วนั้นลอยอยู่บนอากาศ แลดูเหมือนไม่ไหวตามสร้อยมุกดา ซึ่งพรายงามดั่งน้ำชื่อว่าอากาศคงคาที่ไหลลงมาฉะนั้น ขณะที่กงจักรแก้วยังลอยอยู่นั้น กลุ่มมุกดาก็กระจายออกรอบกงจักรแก้วนั้น ดุมกงจักรแก้ว ๓ อัน หมุนพัดผันไปในทางเดียวกัน กงจักรแก้วนั้น พระอินทร์ พระพรหม หรือเทพยดาผู้มีฤทธานุภาพ เป็นผู้กระทำกงจักรแก้วนั้นก็หามิได้ หากแต่กงจักรแก้วนั้นเกิดขึ้นเอง และเกิดมาเพื่อบุญของท่านผู้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้านั้น

ผิว่า เมื่อกัลป์ใดไม่มีพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงมีพระยามหาจักรพรรดิราชแทนในกัลป์นั้น ครั้นไฟเผาไหม้แผ่นดินแล้ว ด้วยบุญท่านซึ่งจะมาเป็นพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น กงจักรแก้วนั้นจะเกิดก่อนและจมอยู่ในท้องมหาสมุทร รอท่านผู้จะมาเป็นจักรพรรดิราชนั้น และเครื่องประดับสำหรับท่านผู้มีบุญนี้ก็ไม่มีสิ่งใดเสมอด้วยกงจักรแก้วนั้น ซึ่งเกิดมาเพื่อให้รู้จักคนผู้มีบุญกว่าคนทั้งหลาย และจะให้หมู่คนทั้งหลายใน ๔ แผ่นดินรักสามัคคีกัน มีดวงใจเป็นอันเดียวกัน ด้วยบุญท่านผู้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น

กงจักรแก้วนั้นมีศักดานุภาพยิ่งนัก เมื่อผู้ใดไปไหว้นอบนบเคารพบูชาแก่กงจักรแก้วนั้นด้วยข้าวตอกดอกไม้ กงจักรแก้วนั้นย่อมช่วยบำบัดความเจ็บไข้ให้ประสบความสุขความเจริญ มั่งมีด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมาย กงจักรแก้วนี้ประเสริฐกว่าแก้วอันชื่อว่าสรรพกามททะ (แก้วสารพัดนึก) นั้นตั้งแสนเท่า และกงจักรแก้วนั้นไม่มีชีวิตจิตใจ แต่มีสภาพดุจดังมีชีวิต เมื่อกงจักรแก้วนั้นลอยขึ้นมา ยังมิทันที่จะพ้นท้องมหาสมุทร น้ำมหาสมุทรนั้นแยกแตกออกให้กงจักรแก้วนั้นลอยขึ้นมากลางอากาศ แลเห็นดุจดังกงจักรแก้วนั้นเป็นเครื่องประดับท้องฟ้า ดูเลื่อมพรายงามดั่งพระจันทร์ในวันเพ็ญ

เมื่อถึงวันเพ็ญ ชนทั้งหลายต่างแต่งเนื้อแต่งตัวให้สวยงาม แล้วนั่งเล่นเจรจากันอยู่ทั้งหนุ่มและสาว เด็กเล็กหญิงชายทั้งหลายต่างประดับตกแต่งกายแล้วออกไปเล่นด้วยกัน บางพวกก็พากันไปเล่นในป่า บางพวกก็ไปเล่นในกลางแม่น้ำ กลางท้องนาและในถนนหนทาง วันนั้นคนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองของพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น เมื่อกงจักรแก้วนั้นพุ่งขึ้นเทียมพระจันทร์ และเป็นเวลายามค่ำแล้ว จะดูเท่ากับดวงจันทร์ จึงเป็นเหมือนมีพระจันทร์ขึ้นมาในวันนั้นเป็น ๒ ดวง ครั้นกงจักรแก้วมาใกล้ได้ ๑๒ โยชน์แล้ว คนทั้งหลายได้ยินเสียงของกงจักรแก้วอันผันต้องลม เสียงนั้นไพเราะยิ่งกว่าเสียงพาทย์และพิณ ฆ้อง แตรสังข์ กังสดาลดุริยดนตรีทั้งหลาย

คนทั้งหลายเมื่อได้ยินเสียงไพเราะนั้นแล้ว รู้สึกถูกใจและยินดีปรีดากันทุกคน ชวนกันกล่าวว่า ช่างประหลาดหนอ แต่กาลก่อนเราทั้งหลายไม่เคยมีเรื่องอัศจรรย์ให้ปรากฏเห็นเหมือนวันนี้ พระจันทร์เจ้าได้ขึ้นมาเป็นสองดวง เต็มงามบริบูรณ์เสมอกันทั้งสองดวง ขึ้นมาเทียมกันดุจพระยาหงส์ทองสองตัวทะยานเทียมขึ้นมาบนอากาศ จึงร้องเรียกกันให้มาดู บางคนพูดว่า พระจันทร์ขึ้นสองดวง บางคนร้องว่า ท่านนี้เป็นบ้า ชั่วปู่ชั่วย่าไม่เคยมีใครกล่าวว่ามีพระจันทร์เป็น ๒ ดวง อีกดวงหนึ่งนั้นเป็นดวงตะวัน เพราะว่าหากพ้นที่ ๆ จะร้อนแล้วมันก็จะไม่ร้อน อีกจำพวกหนึ่ง ก็ร้องมาดังนี้ว่า ชาวเราทั้งหลาย เขาเหล่านั้นเป็นบ้าไปเสียแล้ว ไม่ใช่ข้อความที่จะกล่าวกลับเอามากล่าว มาเข้าใจกันว่าพระจันทร์ขึ้นมาเป็น ๒ ดวง บางแห่งก็ว่าการที่คิดว่าอีกดวงหนึ่งนั้นเป็นดวงตะวันน่าหัวเราะนัก เขาเหล่านั้นเป็นบ้าไปแล้ว ตะวันเพิ่งจะตกไปเดี๋ยวนี้ แล้วจะมาขึ้นพร้อมพระจันทร์ทันทีได้อย่างไร ดวงที่ขึ้นมานี้มิใช่อะไรอื่นเลย มันคือปราสาททองของเทพยดาจึงดูรุ่งเรืองสุกใส เพราะแก้วแหวนเงินทองที่ประดับประดาปราสาทนั่นเอง คนอีกจำพวกหนึ่งพากันหัวเราะพูดว่า เจ้าทั้งหลายอย่าได้โจษเถียงกันไปมาเลย สิ่งนี้มิใช่เดือนมิใช่ตะวัน และมิใช่ปราสาททองของเทพยดา ที่ท่านทั้งหลายกล่าวว่าเดือนก็ดี ตะวันก็ดี ปราสาททองของเทพยดาก็ดีนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีเสียงอึกทึกกึกก้อง และมีเสียงดังกังวานอย่างนี้สักทีเลย สิ่งนี้ต้องเป็นกงจักรแก้ว ซึ่งมีชื่อว่า จักรรัตนะ ดังที่ท่านกล่าวมาแต่กาลก่อน กงจักรแก้วนั้นย่อมเกิดมาด้วยบุญของท่านผู้มีบุญ และจะได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชนั่นเอง

คนทั้งหลายต่างก็ถกเถียงกันไปมาอยู่อย่างนั้น พวกเขามิได้เชื่อถ้อยคำของกันและกันเลย เมื่อกงจักรแก้วนั้นลอยออกมาจากดวงจันทร์เข้ามาใกล้กว่าเก่าอีกประมาณ ๑ โยชน์ จึงจะถึงเมืองนั้น ชนทั้งหลายจึงแลเห็นชัดเจนงามยิ่งนักและมีใจรักทุก ๆ คน เสียงกงจักรแก้วนั้นดังกึกก้องมาก ดังจะเปล่งเสียงว่าพระยาองค์นั้น พระองค์จะได้เป็นพระยาบรมมหาจักรพรรดิราชเจ้า จึงลอยมาถึงพระนครที่พระยาผู้มีบุญอาศัยอยู่ เมื่อเป็นดังนั้นคนทั้งหลายจึงกล่าวว่ากงจักรแก้วดวงนี้จะลอยไปสู่พระยาองค์ใดหนอ คนอีกจำนวนหนึ่งจึงกล่าวว่า กงจักรแก้วดวงนี้มิได้เกิดมาด้วยบุญของพระยาองค์อื่นเลย คงลอยมาเพื่อพระยาผู้เป็นเจ้านายของเรานี้เอง ท่านเป็นผู้มีบุญจะได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราช แลพระองค์ทรงคำนึงถึงกงจักรแก้วอยู่ กงจักรแก้วดวงนี้จึงลอยมาหาพระองค์ กงจักรแก้วก็ลอยมาถึงเมืองนั้น แล้วร่อนลงที่ประตูเมืองของพระองค์ แล้วทำประทักษิณรอบ ๆ เมือง ๗ รอบ แล้วลอยอยู่บนอากาศไปตามหนทางหลวง แล้วเข้ามาสู่พระราชมนเทียรของพระยาและทำประทักษิณพระยานั้น ๓ รอบ และพระราชมนเทียรของพระยานั้น ๗ รอบ แล้วก็ลอยเข้าหาพระยานั้นดุจดังมีชีวิตจิตใจจะมานอบน้อมแด่พระยานั้น แล้วเข้ามาสู่แทบพระบาทตรงที่ทรงบรรทม ไม่ว่าจะเป็นที่แห่งใดก็ตาม กงจักรแก้วก็ลอยอยู่ในที่นั้น แล้วคนทั้งหลายก็เอาข้าวตอกดอกไม้บุปผชาติและธูปเทียนชวาลา รวมทั้งกระแจะจันทน์น้ำมันหอมมาไหว้ มานอบนบเคารพบูชาสักการะแก่กงจักรแก้วนั้น เมื่อกงจักรแก้วสถิตตั้งอยู่ในที่อันสมควรแล้ว ก็เปล่งรัศมีรุ่งเรืองรอบ ๆ ทั่วทั้งพระราชมนเทียรนั้นทุกแห่ง ดุจดังยอดเขายุคันธรในวันพระจันทร์เต็มดวง และเมื่อพระจันทร์ลอยขึ้นมาเหนือยอดเขานั้น มีแสงรุ่งเรืองงดงามยิ่งนัก

เมื่อนั้น พระยาจึงเสด็จออกมาจากปราสาทเพื่อทอดพระเนตรกงจักรแก้วนั้น อำมาตย์จึงทูลแด่พระองค์ว่า ขออัญเชิญพระองค์เจ้าทอดพระเนตรกงจักรแก้วอันมีรัศมีรุ่งเรืองงาม งามทั้งพระราชมนเทียรของพระองค์ พระยาองค์นั้นจึงเสด็จมาประทับนั่งบนแท่นทองอันประดับด้วยแก้วอันตั้งอยู่แทบพระบัญชรนั้น พระมหากษัตริย์เจ้าก็ทอดพระเนตรกงจักรแก้วอันรุ่งเรืองด้วยแก้ว ๗ ประการ อันงามตระการตาหาที่จะเปรียบมิได้ พระยาองค์นั้นจึงมีพระราชโองการแก่อำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายว่า

อาจารย์ทั้งหลายในอดีตกาลกล่าวว่า พระยาพระองค์ใดมีบุญ และจะได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราช สามารถปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล กงจักรแก้วอันมีชื่อว่าจักรรัตนะนั้นย่อมมาสู่บุญสมภารของพระยาองค์นั้น เราได้กระทำบุญมาแต่ก่อนและบุญนั้นมาถึงเราจริง กงจักรแก้วนั้นจึงลอยมาหาเราในบัดนี้ อีกทั้งวันนั้นก็เป็นวันเพ็ญอุโบสถ และพระยาองค์นั้นทรงให้ทานรักษาศีล ๘ แล้ว ทรงบำเพ็ญเมตตาภาวนาอยู่ เมื่อทรงรำพึงถึงทานศีลและภาวนาอยู่ กงจักรแก้วนั้นก็ลอย มาหาในคืนนั้นแล พระยาองค์นั้นจึงเอาผ้าขาวเนื้อละเอียดพาดเหนือพระอังสาทั้งสอง กราบไหว้ด้วยผ้าผืนเล็ก ผ้าสำลี และมีบางพวกห่มผ้าสีชมพู ผ้าหนัง ผ้าเกราะ แล้วถือเครื่องประหาร ถือหน้าไม้ ธนู หอก ดาบ แหลน หลาว สวมหมวกเงิน ทอง และถม ถือกลดชุบสายหลายคัน พากันไปชมหมู่ไม้ในกลางป่าดง มีบางพวกถือธงเล็ก ธงใหญ่ ธงขนาดกลาง ธงแดง ธงขาว ดูงามพิสดาร มีสีขาว สีดำ สีแดง สีเหลืองเรืองรอง พรายงามดังแสงตะวัน สว่างไสวทั่วทั้งแผ่นดิน เหาะไปในอากาศตามเสด็จพระยามหาจักรพรรดิราช เมื่อนั้นเสนาบดีผู้ใหญ่จึงสั่งให้เจ้าเมืองทั้งหลายเอากลองงดงามมีสายเป็นทอง และมีแสงเป็นสีแดงดุจแสงไฟ ไปตีป่าวร้องแก่หมู่ราษฎรทั้งหลายว่า ท่านผู้เป็นพระยาเจ้านายของเรานี้ พระองค์จะได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราช และบัดนี้ พระองค์ปราบได้ทั่วทั้ง ๔ ทวีปแล้ว ผู้ใดใคร่อยากชมบุญบารมีของพระองค์ก็ให้เร่งชักชวนกันมาไหว้มาชม บัดนี้พระองค์ได้เสด็จไปปราบทวีปทั้ง ๔ ท่านทั้งหลายจงเร่งแต่งตัวแล้วพากันถือข้าวตอกดอกไม้ไปบูชากงจักรแก้วนั้น

เมื่อคนทั้งหลายได้ยินเสียงกงจักรแก้วนั้นเสียงดังไพเราะลอยไปทางอากาศเบื้องหน้า พระยามหาจักรพรรดิราช คนทั้งหลายต่างก็หยุดทำงานของตนที่ค้างไว้ แล้วชักชวนกันประดับตกแต่งกายให้สวยงามทากระแจะจันทน์น้ำมันหอม ถือข้าวตอกดอกไม้ไปบูชากงจักรแก้วนั้น

ครั้งนั้น คนทั้งหลายต่างมีใจชื่นชมยินดียิ่งนัก เพียงนึกว่าจะตามเสด็จไปก็สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ทุกคน ด้วยบุญอำนาจแห่งกงจักรแก้วนั้น บรรดาสมณพราหมณ์ บรมวงศานุวงศ์ ลูกขุน มนตรี ข้าราชบริพาร เศรษฐี คฤหบดี พ่อค้า ประชาชน พวกแพศย์ พวกศูทร เหล่านี้ต่างมีร่างกายงามสะอาดทุกคน ไม่มีสกปรกเลย แม้ความสกปรกด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ดีที่เขามีในกาลก่อน ก็พลันมลายหายไปสิ้นด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์แห่งกงจักรแก้วนั้น ซึ่งสามารถขจัดความสกปรกมลทินทั้งผองในกายมนุษย์

จะกล่าวให้รู้ว่ากำลังรี้พลของพระยามหาจักรพรรดิราชว่ามีจำนวนมากเท่าใด ถ้าอยากรู้ก็ให้คิดถึงที่แห่งหนึ่งกว้าง ๑๒ โยชน์วัดโดยรอบได้ ๓๖ โยชน์ แล้วให้ไพร่พลทั้งหลายนั่งในบริเวณนั้น กงจักรแก้วนั้นก็สามารถอยู่ในบริเวณเท่านั้นได้ พระยามหาจักรพรรดิราชก็ดี และไพร่พลทั้งหลายก็ดี ย่อมเหาะไปในอากาศเหมือนวิทยาธรผู้มีฤทธิ์ ผู้มีอาวุธวิเศษ พระยามหาจักรพรรดิราชและรี้พลไปในอากาศด้วยอำนาจของกงจักรแก้วนั้น พระยามหาจักรพรรดิราชรุ่งเรืองงามเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ และพสกนิกรผู้ตามเสด็จก็รุ่งเรืองสง่าเหมือนดั่งดวงดาราห้อมล้อมเป็นบริวารพระจันทร์ฉะนั้น

ชนทั้งหลายต่างมีใจแช่มขื่นรื่นเริงยิ่งนัก มีการแต่งตัวมาชมกงจักรแก้วนั้น แล้วขับร้อง และมีเสียงพาทย์ เสียงพิณ แตร สังข์ กลองใหญ่น้อย ฉิ่งฉาบ บัณเฑาะว์ ทั้งไพเราะและวังเวง บางคนตีกลอง ตีพาทย์ ตีฆ้อง ตีกรับ บางพวกดีดพิณ สีซอ ตีฉิ่ง จับระบำรำเต้น เสียงสรรพดนตรีดังครื้นเครง กึกก้องดังแผ่นดินจะถล่มทลาย คนทั้งหลายผู้เป็นบริวารตามเสด็จพระยามหาจักรพรรดิราชไปในกลางอากาศนั้น งามนักหนาดังเทวดาทั้งหลายผู้เป็นบริวารของพระอินทร์

เมื่อพระราชาเสด็จไปทางอากาศครั้งใด กงจักรแก้วจะนำเสด็จไปก่อน ถัดมาเป็นพระราชาและต่อมาเป็นไพร่พลทั้งหลาย พฤกษชาติไม้ดอกไม้ผลนานาชนิดตามข้างทางที่เสด็จผ่านก็ลอยละลิ่วปลิวตามไปด้วย ถ้าใครอยากจะกินผลไม้ชนิดใดก็ได้กินสมตามใจนึก ถ้าอยากทัดดอกไม้ชนิดใดก็ได้สมใจ หรือถ้าใครอยากจะเข้าไปอยู่ในร่มเงาก็ได้เข้าไปอยู่ในร่มเงาสมใจนึกเช่นกัน ประชาชนผู้อยู่เบื้องล่าง เมื่อเห็นรี้พลบริวารของพระยานั้น อยากจะรู้จักชื่อเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบรมวงศานุวงศ์ก็ดี ขุนนางก็ดี หรือข้าราชบริพารอื่น ๆ ก็ดี อำนาจของกงจักรแก้วจะบอกชื่อคนทั้งหลายเหล่านั้นแก่ผู้อยากรู้ถ้วนทุกคน

ผู้ใดนึกอยากตามเสด็จไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะอาการยืน เดิน นั่ง นอน ก็ลอยขึ้นไปในอากาศด้วยลักษณะอาการนั้น ๆ ไม่ต้องก้าว ไม่ต้องเดิน ทั้งเสื่อสาดอาสนะ ที่นั่ง ที่นอนอยู่ ถ้านึกอยากจะนำไปด้วย มันก็จะลอยไปด้วย ถ้าใครนึกอยากจะยืนไป เดินไป นั่งไป นอนไป ทำการงานไป ก็จะเป็นไปตามความประสงค์ทุกประการ ถ้าใครกำลังทำงานอยู่ และไม่อยากนำงานไปด้วย งานทั้งหมดก็จะไม่ไปด้วย ใครอยากทำงานไปด้วย ก็จะทำงานไปด้วย ไม่เสียงาน

ทิศตะวันออกเขาพระสุเมรุ และด้านซ้ายเขาสัตตบริภัณฑ์ ข้ามมหาสมุทรด้านทิศตะวันออก จะถึงแผ่นดินชื่อบุรพวิเทหะ กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชไปถึง สถานที่หนึ่งราบเรียบมาก มีน้ำใสงาม ท่าน้ำก็ไม่ลึก ที่นั้นเหมือนคนถากไว้ด้วยพร้าด้วยขวาน กว้าง ๑๒ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๖ โยชน์ ที่นั้นเคยเป็นที่ตั้งทัพหลวงของพระยามหาจักรพรรดิราชแต่โบราณ ในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาส กงจักรแก้วจึงหยุดอยู่ในอากาศเหมือนถูกขัดเพลาไว้ไม่เคลื่อน และไม่มีผู้ใดหมุนไปได้ เมื่อกงจักรแก้วหยุดอยู่ดังนั้น พระยามหาจักรพรรดิราชและไพร่พลทั้งหลายจึงลงมาจากอากาศมายังพื้นดินที่ดูรุ่งเรืองงามเหมือนดาวหรือเหมือนฟ้าแลบ หรือเหมือนแสงธนูของพระอินทร์ ทุกคนสนุก ใครอยากจะอาบน้ำก็ได้อาบ ใครอยากจะกินข้าว และน้ำก็ได้กิน ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นทุกอย่าง

เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จไปถึงทวีปนั้น บรรดาพระราชาและเจ้าเมืองต่างๆ ในทวีปนั้นก็ไม่อาจตระเตรียมอาวุธมาสู้รบกับพระยามหาจักรพรรดิราชนั้นได้เลย เขาทั้งหลายต่างมีใจรักใคร่นิยมบูชาพระยานั้น จึงชักชวนกับมาถวายบังคมมาเฝ้าแหนพระยามหาจักรพรรดิราชอยู่ บรรดาปีศาจ ผีสางและสัตว์ทั้งหลายที่ฆ่ามนุษย์ก็ไม่มีใจคิดร้ายต่อพระยามหาจักรพรรดิราชเลย เพราะเกรงบุญอำนาจของพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น

เมื่อกงจักรแก้วจากมหาสมุทรมีชื่อว่าจักรรัตนะ แต่เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชปราบทวีปทั้ง ๔ ได้แล้ว กงจักรแก้วนั้นจึงมีชื่อว่าอรินทมะ (ผู้ปราบข้าศึก)

บรรดาพระราชาทั้งหลายในบุรพวิเทหทวีป ต่างแต่งเครื่องบรรณาการมี เทียน ธูป และเครื่องหอมนานาชนิดที่ตกแต่งอย่างประณีตงดงาม แล้วชวนกันมาไหว้และมาถวายตัวเป็นข้าแห่งพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น ขณะที่พระราชาทั้งหลายมาเฝ้าพระยามหาจักรพรรดิราชอยู่นั้น ดูรุ่งเรืองงามด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องประดับ และอาภรณ์ของพระราชาเหล่านั้น พวกเขาประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ดูรุ่งเรืองงามตา เปรียบดังฟองน้ำไหลออกจากคนโททองมาล้างพระบาทพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น เมื่อพระราชาทั้งหลายถวายบังคมแล้วก็ถวายตัวและถวายบังคมทูลว่าดังนี้ ข้าแต่มหาราชเจ้า ตั้งแต่นี้ไปข้าทั้งหลายขอถวายตัวเป็นข้าของพระองค์ผู้เป็นเจ้า หากพระองค์ปรารถนาสิ่งใด ข้าทั้งหลายจะทำการงานสิ่งนั้นถวายพระองค์ ขอถวายบ้านเมืองของข้าทั้งหลายแด่พระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดข้าทั้งหลายเถิด แล้วพระราชาทั้งหลายก็ถวายบังคมแสดงความเคารพยำเกรงพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น พระยามหาจักรพรรดิราชจึงตรัสตอบพระราชาทั้งหลายว่า เราไม่ต้องการทรัพย์สมบัติหรือส่วยสาอากรจากพระราชาองค์ใดเลย เพราะพระยามหาจักรพรรดิราชมีสมบัติทิพย์อยู่แล้วด้วยเดชอำนาจของกงจักรแก้วนั้นเอง

พระยามหาจักรพรรดิราชไม่ได้มีพระราชดำรัสสั่งการใด ๆ ให้พระราชาทั้งหลายต้องพลัดพรากจากที่อยู่หรือเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจเลย พระองค์อนุเคราะห์เขาเหล่านั้นให้มีความสุข มีความสบาย ไม่ให้มีอันตรายเกิดแก่เขา พระยามหาจักรพรรดิราชรู้บุญรู้ธรรมและสั่งสอนธรรมคนทั้งหลายเหมือนเป็นพระพุทธเจ้ามาเกิด พระองค์สอนธรรมแก่โลกทั้งหลาย พระองค์สอนธรรมแก่พระราชาทั้งหลายว่า

ให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ตลอดเวลา ให้รักไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายเสมอกัน อย่าลำเอียง การเกิดเป็นคนเป็นสิ่งยาก เมื่อได้เกิดเป็นพระราชาแสดงว่ามีบุญมาก จึงควรรู้จักบุญ รู้จักธรรม รู้จักละอายแก่บาป ให้ตัดสินความด้วยความสัตย์สุจริตเป็นธรรม และรวดเร็ว กระทำได้ดังนี้ เมื่อเกิดเมื่อใด เพราะบุญกุศลที่ได้ทำมาแต่ครั้งก่อน จะทำให้เกิดเป็นพระราชาให้รู้จักคุณของแก้ว ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนที่อาจารย์แต่โบราณ เช่นพระพุทธเจ้า และปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายได้สั่งสอนไว้ และควรเว้นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

บาป ๕ ประการที่ควรเว้น ได้แก่

หนึ่ง ไม่ควรฆ่าสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต ไม่ว่าจะมดตัวหนึ่งก็ดี หรือปลวกตัวหนึ่งก็ดี ถ้าผู้ใดจะทำร้ายตน ก็ไม่ควรฆ่าผู้นั้น ควรว่ากล่าวสั่งสอนโดยธรรม การฆ่าสัตว์มีชีวิตเป็นบาปหนัก ผู้ใดทำบาปนั้นจะไปเกิดในนรกทนทุกข์เวทนาเดือดร้อนเป็นเวลานานมาก เมื่อพ้นจากนรกแล้วมาเกิดเป็นคน จะมีความทุกข์โศก จะถูกทำร้ายได้รับความเดือดร้อนไม่มีความสุขใจเลย เป็นเวลา ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ต้องพลัดพรากจากคนที่รักทั้งหลาย ถ้าใครไม่กลัวบาปนั้น และยังทำบาปนั้นซ้ำอีก ก็จะเป็นการต่อบาปนั้นไปไม่มีที่สิ้นสุด

สอง ไม่ถือเอาทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ และไม่ใช้ให้คนอื่นไปถือเอา ถ้าผู้ใดโลภเอาทรัพย์สินของคนอื่นที่เจ้าของไม่ให้ จะไปเกิดในนรกทนทุกข์ทรมานมาก เมื่อพ้นจากนรกนั้นมาเกิดเป็นคน จะเป็นคนโง่มาก เดือดร้อนลำบากมากจนไม่อาจพรรณนาได้ทั้งหมด หากมีทรัพย์สินใด ๆ แม้เพียงนิดเดียวก็จะถูกช่วงชิงไป แม้ใส่พกไว้ก็จะตกหาย หรือมิฉะนั้นจะถูกไฟโทษ หรือมิฉะนั้นจะถูกน้ำพัดไป จะเป็นคนเข็ญใจเช่นนี้ถึง ๑,๐๐๐ ชาติจึงจะหมดบาป แม้ผู้ใดไม่รู้จักกลัวบาปนี้และยังกระทำอีก ก็จะต่อบาปนั้นไปไม่สิ้นสุด

สาม การเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ไม่ควรกระทำแม้แต่น้อย ผู้ใดกระทำบาปนั้นจะตกนรกสิมพลี มีไม้งิ้วมีหนามเป็นเหล็กยาวแหลมคมมาก มีเปลวไฟลุกโพลงตลอดเวลา มีฝูงยมบาลถือหอกทิ่มแทงคอยขับให้สัตว์นรกปีนขึ้นลง มีความทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากนรกนั้น จะมาเกิดเป็นคนมีศัตรูมาก จะเกิดเป็นกะเทยเป็นเวลา ๑,๐๐๐ ชาติ ถ้าเกิดเป็นผู้ชายจะมีบาปสืบไปตลอดชาติ

สี่ การพูดปด เจ้าทั้งหลายไม่ควรกล่าว ถ้าผู้ใดกล่าวคำเท็จ ผู้นั้นจะตกนรก มีฝูงยมบาลทรมานให้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นเวลานานมาก เมื่อพ้นจากนรกนั้นมาเกิดเป็นคน ร่างกายจะมีกลิ่นอาจม มีกลิ่นเหม็นหืนมาก ถ้าไปทำผิดต่อผู้ใด เวลาผู้นั้นจะทำร้ายจะหนีไม่พ้น และถูกทำร้ายไปทุกชาติ ผ้านุ่งห่มก็เหม็นสาบเหม็นสาง ต้องเกิดเป็นเช่นนี้ ๑,๐๐๐ ชาติจึงจะหมดบาป หากผู้ใดไม่รู้จักกลัวบาปนี้ยังพูดปดอีก บาปนั้นจะเพิ่มมากขึ้น และจะพ้นจากบาปนั้นได้ยาก

ห้า ไม่ควรชวนกันกินเหล้า บาปนั้นจะทำให้ตกนรก มียมบาลทรมานให้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากนรกนั้นจะมาเกิดเป็นผีเสื้อ ๕๐๐ ชาติ และเป็นสุนัขบ้า ๕๐๐ ชาติ ถ้ามาเกิดเป็นคนจะเป็นบ้า มีรูปร่างน่าเกลียด ใจเป็นพาลไม่รู้จักผิดชอบ เป็นคนใจคอโหดเหี้ยม หากไม่รู้จักบาปนั้นยังคงกระทำต่อไป บาปนั้นจะเพิ่มมากขึ้น และยากที่จะพ้นจากบาปนั้นได้

บาปกรรมที่มีควรกระทำ ที่เจ้าทั้งหลายควรเว้น ที่เราได้กล่าวมาแล้วนี้ชื่อว่าเบญจศีล เจ้าทั้งหลายจงจำไว้ให้มั่น และจงสั่งสอนไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายในอาณาจักรของตนให้รู้ให้ปฏิบัติชอบ จะได้เจริญและมีความสวัสดีทุก ๆ คน

ท้าวพระยาทั้งหลาย ไพร่ฟ้าข้าไทราษฎรทำไรไถนาเลี้ยงชีวิตในแผ่นดินของเรานี้ เมื่อข้าวออกรวง ผู้ทำนาไม่ว่าจะเป็นผู้ดีหรือเข็ญใจ ให้เขาแบ่งข้าวเปลือกเป็น ๑๐ ส่วน เป็นของหลวงส่วนหนึ่ง อีก ๙ ส่วนเป็นของเขาผู้นั้น หากเห็นว่าเขาทำนาไม่ได้ข้าว ก็ไม่ควรเอาของเขา อนึ่งควรแจกข้าวแก่ไพร่พลและทหารทั้งหลายเดือนละ ๖ ครั้ง เขาจึงจะพอกิน อย่าให้เขาอดอยาก ถ้าจะให้เขาทำสิ่งใดก็ตาม ควรใช้แต่พอควร อย่าใช้งานมากเกินไป ไม่ควรใช้คบมีอายุมาก ควรปล่อยเขาไปเป็นอิสระ ให้เก็บส่วยจากราษฎรตามแบบที่ท้าวพระยาแต่โบราณกระทำมา ถ้าทำได้เช่นนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายจะสรรเสริญว่ากระทำชอบ ไม่ควรเก็บส่วยจากราษฎรมากเกินไป ถ้าทำเช่นนั้น ท้าวพระยาผู้จะมาเสวยราชย์ต่อจากเราในภายหน้าจะถือเป็นตัวอย่าง เป็นธรรมเนียมสืบต่อๆ กันไป บาปจะเกิดแก่เรา เพราะเรากระทำความไม่ชอบธรรมนี้ไว้ในแผ่นดิน

อนึ่ง หากไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายในแผ่นดินเราจะไปค้าขายแต่ไม่มีทุน และได้มาหาและมาขอกู้เงินทองเป็นทุนจากเราผู้เป็นนาย เราควรเอาเงินจากท้องพระคลังให้เขา และให้จดบัญชีไว้แต่ต้นปีว่าเขากู้ไปเท่าใด เราผู้เป็นนายไม่ควรคิดดอกเบี้ยเขาเลย ควรเรียกแต่ต้นทุนคืนเท่านั้น ไม่ควรเรียกเก็บภาษีหรือดอกเบี้ยจากเขาเลย

ท้าวพระยาทั้งหลายควรให้ทรัพย์สินแก่ลูกและเมียของเสนามนตรี และไพร่พลทั้งหลาย เพื่อเป็นเบี้ยเลี้ยงเสบียงสำหรับเขา เป็นเครื่องแต่งตัว ควรให้ทรัพย์สินแก่เขา เขาจะได้เต็มใจทำงาน เราผู้เป็นท้าวพระยาไม่ควรคิดเสียดายทรัพย์

ขณะที่เสนามนตรีทั้งปวงเข้าเฝ้า พระราชาไม่ควรพูดมาก ไม่ควรยิ้มมาก ควรพูดและแย้มยิ้มพอประมาณ อย่าลืมตัว เมื่อจะตัดสินคดีความทั้งหลาย อย่าพูดนอกเรื่องหรือทะเลาะกัน ต้องตัดสินคดีความอย่างยุติธรรม พิจารณาความให้ตลอดถี่ถ้วน แล้วจึงตัดสินความอย่างซื่อตรง

ให้เลี้ยงดูบำรุงสมณพราหมคณาจารย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้ธรรม ยกย่องให้นั่งในที่สูง แล้วจึงสนทนาซักถามธรรมอันประเสริฐ ไพร่ฟ้าข้าราชบริพารผู้ใดทำความดีความชอบ เป็นประโยชน์แก่ท้าวพระยา ต้องให้รางวัลผู้นั้นมากน้อยตามความดีที่เขาทำ

ถ้าพระราชาองค์ใด เมื่อเสวยราชย์แล้วทรงปกครองโดยชอบธรรม ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะพระบุญญาบารมีของพระราชาผู้เป็นนาย มีข้าวปลาอาหาร แก้วแหวน เงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณบริบูรณ์ ฝนตกปริมาณพอดี ตกตามฤดูกาล ข้าวในนาปลาในน้ำก็ไม่หมดไปเพราะฝนไม่แล้ง

อนึ่ง วันคืน เดือนปี ทั้งหลายย่อมเป็นไปโดยปกติ เทวดาอารักษ์ประจำเมืองก็รักษาเมือง เพราะเกรงบุญบารมีของพระราชาผู้ปกครองโดยธรรม ถ้าพระราชาองค์ใดไม่ปกครองโดยธรรม ฝนจะวิปริต การทำไร่ไถนาจะเสียหายเพราะฝนแล้ง โอชารสที่อร่อยในดินจะจมหายไปใต้แผ่นดินทั้งสิ้น ผลไม้และพืชพันธุ์ต่างๆ จะไม่งอกงาม แดด ลม ฝน เดือนและดาวจะไม่เป็นไปตามฤดูกาลดังแต่ก่อน ทั้งนี้เพราะพระราชาไม่อยู่ในธรรม เทวดาทั้งหลายเกลียดพระราชาอธรรม ไม่ชอบมองหน้าพระราชานั้น จะมองด้วยหางตาเท่านั้น พระราชาทั้งหลายจงจำคำที่เราสอนไว้นั้นตราบเท่าชีวิตมีอยู่ และจงเร่งกระทำความชอบธรรมนี้เถิด จะได้มีความสุขความเจริญ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วจะได้ไปเกิดใน ๖ ชั้นฟ้า ถ้ามาเกิดในเมืองมนุษย์ จะได้เกิดในตระกูลดีมียศศักดิ์ มีบุญทุกประการ

ถ้ามีผู้ถามว่า เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชสั่งสอนพระราชาทั้งหลายนั้น พระราชาเหล่านั้นสนใจฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นหรือไม่ ตอบว่า แม้พระพุทธเจ้าผู้ได้สะสมสร้างบารมีมามากจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และได้สั่งสอนชาวโลกนั้น ยังมีบางคนผู้มีบุญเต็มใจปฏิบัติตามคำสั่งสอน บางคนมีบุญน้อยไม่นิยมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่ปฏิบัติตามยังมีจำนวนมาก ส่วนพระยามหาจักรพรรดิราชไม่อาจเทียบกับพระพุทธเจ้าได้ ยังห่างไกลกันมาก ดังนั้น ไม่ใช่พระราชาทั้งหมดจะปฏิบัติตามคำสั่งสอน บางคนฟังคำสั่งสอนและทำตาม บางคนไม่เชื่อและไม่ทำตาม

พระธรรมเทศนาที่พระยามหาจักรพรรดิราชทรงแสดงแก่พระราชาทั้งหลายในบุรพวิเทหทวีป ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของแผ่นดินนี้ ชื่อว่าชัยวาทสาสน์ แล้วพระองค์จึงเลี้ยงอำลาพระราชาทั้งหลายพร้อมด้วยข้าราชบริพารทั้งปวงด้วยอาหารอันมีรสเลิศทั้งหลาย แล้วกงจักรแก้วก็เหาะขึ้นไปในอากาศ นำพระยามหาจักรพรรดิราชพร้อมด้วยรี้พลไปทางทิศตะวันออก มุ่งไปทางกำแพงจักรวาลด้านตะวันออก เมื่อมาถึงฝั่งมหาสมุทรด้านตะวันออก กงจักรแก้วก็ผันลงสู่มหาสมุทร น้ำมหาสมุทรกลัวบุญบารมีกงจักรแก้วจึงไม่ตีฟองเป็นละลอก เปรียบเหมือนพระยานาคซึ่งกำลังแผ่พังพานอยู่ ต้องก้มสยบหัวลงแอบซ่อนเพราะความกลัวอาญา เมื่อกงจักรแก้วนั้นผันไปถึงพระมหาสมุทรแล้ว น้ำในมหาสมุทรก็แยกออกเป็นทางกว้าง ๑ โยชน์ หรือ ๘,๐๐๐ วา น้ำสองข้างงามเหมือนกำแพงแก้วไพฑูรย์ เมื่อกงจักรแก้วไปถึงพื้นมหาสมุทร น้ำแยกออกเป็นเนื้อที่ ๘,๐๐๐ วา แก้ว ๗ ประการที่อยู่ในพื้นมหาสมุทรและแก้วประเภทต่าง ๆ ก็มาอยู่ตรงทางที่พระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จด้วยรี้พล ตั้งยังมหาสมุทรนี้ไปจนถึงฝั่งโน้น ตลอดไปจนถึงเชิงกำแพงจักรวาล ทั้งนี้เพราะอำนาจของกงจักรแก้วนั้น

ฝูงคนทั้งหลายที่ตามเสด็จพระยามหาจักรพรรดิราชในวันนั้นต่างเห็นแก้วแหวนเงินทอง ต่างก็เลือกเอาตามใจตน บางคนกวาดเอาใส่พก บางคนกวาดใส่ห่อผ้า คนทั้งหลายชื่นชมยินดีมาก ทุกคนร้องชมว่า แต่ก่อนเราไม่เคยพบเห็นอย่างนี้ บัดนี้เราได้เห็นได้พบ ทั้งนี้เป็นเพราะบุญบารมีเจ้านายเรา

กงจักรแก้วนั้นก็นำเสด็จพระยาไปถึงฝั่งมหาสมุทรอีกด้านหนึ่ง จนถึงกำแพงจักรวาลฝั่งตะวันออก พระยามหาจักรพรรดิราชจึงหลั่งน้ำหอมจากหม้อทองลงสู่พื้นดินและประกาศว่า ดินแดนฝั่งตะวันออกนั้นเป็นของเรา อาณาจักรประชาราษฎร์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนตะวันออกนี้เป็นของเรา แล้วพระยามหาจักรพรรดิราชก็เสด็จกลับทางเก่า คนทั้งหลายก็กลับตาม ข้าราชบริพารและไพร่พลบางคนนำเสด็จ บางคนตามเสด็จ ส่วนกงจักรแก้วนั้นตามหลังคนทั้งหลาย เพราะคอยกันไม่ให้น้ำในมหาสมุทรท่วมกลบหนทางของคนทั้งหลาย ส่วนน้ำในมหาสมุทรรักกงจักรแก้วมาก ไม่อยากให้จากไป เปรียบเหมือนนางรูปงามมีสามีที่ตนรักและสามีได้จากไปเป็นเวลานาน เมื่อกลับคืนมาหาและจะจากไปอีก นางรักสามีมากไม่อยากให้จากไป จึงกล่าวถ้อยคำเล้าโลมสามี เพราะไม่อยากให้จากไปฉันใดก็ดี น้ำในมหาสมุทรก็ฉันนั้น น้ำในมหาสมุทรมีใจรักกงจักรแก้วยิ่งนักจึงตามมาส่ง น้ำนั้นคอยท่วมทางตามกงจักรแก้วมา แต่ไม่ถูกกงจักรแก้วเลย แก้วแหวนเงินทองทั้งหลายก็มีใจรักกงจักรแก้วมาก จึงชวนกันมาส่งกงจักรแก้วถึงฝั่งมหาสมุทร เมื่อกงจักรแก้วขึ้นมาจากมหาสมุทรแล้ว น้ำมหาสมุทรก็เต็มดังเดิม

เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชปราบบุรพวิเทหทวีปซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ได้เอามหาสมุทรและเชิงเขากำแพงจักรวาลเป็นเขตแดนเบื้องตะวันออก และประสงค์จะมาปราบชมพูทวีปซึ่งมีมหาสมุทรกั้นอยู่ จึงเสด็จทางอากาศ กงจักรแก้วนำพระองค์มาทางอากาศ ดังได้ปฏิบัติมาแต่ก่อน แล้วจึงมาทางแผ่นดินชมพูทวีปที่เราอาศัยอยู่นี้

พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปต่างก็มาถวายบังคมและถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระยามหาจักรพรรดิราช พระยามหาจักรพรรดิราชก็ทรงสั่งสอนพระราชาทั้งหลายด้วยธรรมชื่อชัยวาทสาสน์ แล้วเสด็จไปยังมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็แยกออกเป็นทางดังกล่าวมาแล้ว รี้พลทั้งหลายก็เก็บแก้วแหวนเงินทองในมหาสมุทรตามต้องการ เมื่อเก็บได้เต็มที่แล้วก็ไปถึงกำแพงจักรวาลด้านใต้ พระยามหาจักรพรรดิราชจึงหลั่งน้ำจากหม้อทอง ประกาศว่าดินแดนนี้ และอาณาประชาราษฎร์ในดินแดนนี้เป็นของเรา แล้วจึงเสด็จกลับตามทางเดินในมหาสมุทรนั้น เมื่อเสด็จขึ้นจากน้ำ น้ำในมหาสมุทรก็เต็มดังเดิม

เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชปราบดินแดนทางด้านทิศตะวันออกและชมพูทวีปอันกว้างได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์แล้ว ก็ประสงค์จะไปปราบดินแดนทางทิศตะวันตกซึ่งกว้างได้ ๑,๐๐๐ โยชน์ ชื่ออมรโคยานี ซึ่งมีมหาสมุทรเป็นเขตแดนกั้นอยู่ พระองค์ซึ่งเสด็จไปยังมหาสมุทรทางทิศตะวันตก ปราบแผ่นดินอมรโคยานีและสั่งสอนพระราชาทั้งหลายในทวีปนั้นดังกล่าวมาแล้ว แล้วข้ามมหาสมุทรไปถึงเขตกำแพงจักรวาลทิศตะวันตก พระยามหาจักรพรรดิราชจึงหลั่งน้ำจากหม้อทองแล้วประกาศว่า ดินแดนนี้และอาณาประชาราษฎร์ในดินแดนนี้เป็นของเรา แล้วจึงเสด็จกลับ พระยามหาจักรพรรดิราชประสงค์จะปราบแผ่นดินอุตรกุรุ ซึ่งกว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ บรรดาพระราชาทั้งหลายได้มาถวายบังคมพระยามหาจักรพรรดิราช พระองค์ได้สั่งสอนพระราชาทั้งหลายแล้วข้ามมหาสมุทรไปถึงกำแพงจักรวาลทางทิศเหนือ แล้วจึงหลั่งน้ำจากหม้อทอง และประกาศว่าตั้งแต่นี้ไป ดินแดนนี้อาณาประชาราษฎร์ในเมืองนี้เป็นของเรา แล้วเสด็จกลับตามทางเดิมในมหาสมุทรดังกล่าวมาแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นจากมหาสมุทรแล้ว น้ำในมหาสมุทรก็เต็มดังเดิม

บรรดาพระราชาทั้งหลายในแผ่นดินน้อยใหญ่จำนวน ๒,๐๐๐ ซึ่งรวมบริวารของทวีปทั้ง ๔ ทวีปละ ๕๐๐ ก็ได้มาเฝ้ามาถวายบังคมพระยามหาจักรพรรดิราชเอง พระยามหาจักรพรรดิราชไม่ต้องเสด็จไปปราบ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายในแผ่นดิน ในจักรวาล และในมหาสมุทรทั้ง ๔ ในส่วนที่รัศมีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ส่องไปถึง ย่อมเป็นพระราชทรัพย์ของพระมหาจักรพรรดิราชทั้งสิ้น มีจำนวนมากมายยิ่ง เหมือนดังกงจักรราชรถของพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชปราบได้ทั่วทุกทวีปและจักรวาลแล้ว ประสงค์จะทอดพระเนตรมหาสมบัติของพระองค์ กงจักรแก้วเหมือนจะรู้พระทัยจึงหมุนเหาะขึ้นไปในอากาศ มีรัศมีดั่งดวงจันทร์ หมุนรอบเขาพระสุเมรุนั้นสว่างดังพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน ๒ ดวง คนทั้งหลายเห็นแสงสว่างรุ่งเรืองดังนั้นคิดว่าเป็นพระอาทิตย์ ๒ ดวง เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชและรี้พลทั้งหลายที่ตามเสด็จลอยขึ้นไปในอากาศด้วยอำนาจของกงจักรแก้วนั้น ก็แลเห็นทั่วทุกแห่ง เห็นเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง เห็นแผ่นดินใหญ่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ ๔ ทิศ เห็นแผ่นดินน้อยซึ่งเป็นบริวารของแผ่นดินใหญ่จำนวน ๒,๐๐๐ เห็นพระมหาสมุทรทั้ง ๔ ซึ่งเป็นเขตแดนขวางกั้นอยู่ เห็นแม่น้ำใหญ่น้อยทั้งหลาย เห็นยอดเขาใหญ่ เห็นป่าใหญ่บนทั้ง ๔ ทวีป เห็นถิ่นฐานชนบทนับไม่ถ้วน

คนทั้งหลายเห็น ห้วย หนอง คลอง บึง และสระที่มีดอกบัวนานาพรรณ มีดอกและรากเหง้างามตระการ กงจักรแก้วนั้นบันดาลให้พระยามหาจักรพรรดิราชทอดพระเนตรเห็นถ้วนทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว จึงนำเสด็จลงสู่แผ่นดินและเมืองที่พระยามหาจักรพรรดิราชประทับอยู่ เมื่อกงจักรแก้วมาถึงประตูพระราชวังของพระยามหาจักรพรรดิราช ก็ลอยอยู่กลางอากาศในระยะสูงพอสมควร คนทั้งหลายนำข้าวตอกดอกไม้มากราบไหว้บูชา เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จมาถึงเรือนหลวงแล้ว จึงมีรับสั่งให้ปลูกมณฑปแก้วขึ้น มีแก้ว ๗ ประการเป็นเครื่องประดับ มณฑปเขาแก้วนั้นมีประตูทำด้วยแก้วและทองดูรุ่งเรืองงามมาก แล้วจึงให้กงจักรแก้วมาอยู่ที่มณฑปนั้น คนทั้งหลายจึงนำข้าวตอกดอกไม้มาเคารพบูชา ขณะที่กงจักรแก้วอยู่ในมณฑปแก้วนั้น ปราสาทของพระยามหาจักรพรรดิราชไม่ต้องจุดประทีปโคมไฟเลย เพราะรัศมีกงจักรแก้วนั้นส่องไปให้รุ่งเรืองทั่วทุกแห่งกลางคืนก็เหมือนกลางวัน แต่ถ้าใครต้องการให้มืด ก็รู้สึกมืดด้วยใจของผู้นั้น

กล่าวถึงกงจักรแก้วเพียงเท่านี้

หัตถีรัตนะ (ช้างแก้ว)

ครั้งนั้น บรรดาข้าราชบริพารสั่งให้ปลูกโรงช้างแห่งหนึ่ง หลังคาและเสาทำด้วยเงินและทองประดับตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการ ตรงกลางโรงช้างทาและประพรมกระแจะจวงจันทน์หอม ให้สร้างแท่นทองภายในโรงช้างนั้น แล้วใช้ผ้าหลายชั้นปูบนแท่นทอง ใช้ผ้าทำเพดาน ตกแต่งด้วยแก้ว ๕ ประการ ดูรุ่งเรืองสดใสงดงามยิ่ง ให้ติดผ้าม่านประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ แกว่งไกวไปมางามมาก มีแสงสีสุกใสแวววาวเหมือนดั่งดวงดาวบนท้องฟ้า เนื้อผ้านั้นมีกลิ่นหอมเพราะถูกอบด้วยกระแจะจวงจันทน์ มีข้าวตอกดอกไม้หอมนานาชนิดร้อยเป็นสร้อยห้อยย้อยระย้าเป็นพุ่มพวงประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ติดห้อยไว้กลางโรงช้าง ซึ่งมีรัศมีสีเขียว ขาว แดง และเหลืองสลับกันดูรุ่งเรืองแวววาวยิ่งนัก

พนักงานได้ติดผ้าเขียวขาวดำแดงและเหลืองไว้ในโรงช้าง ประดับตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการ รุ่งเรืองงามดุจดั่งทิพยวิมานในสวรรค์ ครั้นปลูกสร้างโรงช้างเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานจึงนำเรื่องขึ้นกราบทูลพระยามหาจักรพรรดิราช ข้าทั้งหลายสร้างโรงช้างของพระองค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอพระองค์ทรงคำนึงถึงช้างแก้วอันควรจะมาเป็นช้างต้นของพระองค์เถิด

ครั้งนั้นพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้าจึงทรงบริจาคทานและทรงสมาทานรักษาศีลตลอด ๗ วัน ครั้นแล้วทรงพระราชดำริถึงพระบุญญาบารมีที่ได้เคยทรงบำเพ็ญมา พระราชดำริถึงธรรมที่ทรงหยั่งรู้มาแล้ว ต่อจากนั้นทรงพระราชดำริถึงช้างแก้วอันประเสริฐ ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราช บรรดาฝูงช้างแก้วทั้งหลาย มีช้างแก้วตระกูลฉัททันต์และตระกูลอุโบสถ เป็นต้น เป็นช้างร่างสูงใหญ่เผือกปลอดขาวผ่อง งดงามเหมือนดั่งรัศมีดวงจันทร์วันเพ็ญ มีเท้าแดงสดใสเหมือนดั่งแสงทองในยามอรุณรุ่ง งดงามสมส่วนเหมือนดั่งช่างปั้นแต่ง มีงวงแดงเข้มดั่งดอกบัวแดง สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างรวดเร็ว เหมือนดั่งพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มีอำนาจเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างรวดเร็วฉะนั้น ช้างแก้วนั้นมีรูปร่างสูงใหญ่ดุจดังภูเขาเงิน พระวิษณุกรรมนำหิงคุลมาไล้ทาขัดสีฉวีวรรณให้งามผุดผ่องอยู่เสมอ ช้างแก้วตัวประเสริฐนี้มีลักษณะดีสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ สมควรเป็นช้างทรงคู่ควรแก่พระบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราช เหาะมาทางอากาศเหมือนดั่งพระยาหงส์ทองธรรมราชบินมายังเมืองพระยามหาจักรพรรดิราช ครั้นช้างแก้วมาถึงเมืองพระยามหาจักรพรรดิราช แล้วจึงเข้าไปในโรงช้างทองที่ตกแต่งไว้งาม ยืนอยู่เหนือฟูกที่ปูลาดไว้และขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นทอง ช้างนั้นเฉลียวฉลาดและเชื่องมากเหมือนดั่งช้างประจำพระราชสำนักเก่าแก่ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วอย่างดีเป็นเวลาช้านาน ช้างนี้เป็นสัตว์ดีเยี่ยม มีชาติตระกูลสูง ถ้าเป็นช้างมาจากตระกูลฉัททันต์หรือตระกูลอุโบสถนับว่าประเสริฐและวิเศษดียิ่งกว่าช้างตระกูลอื่น ๆ

ครั้นเจ้าพนักงานเห็นดังนั้น จึงนำเรื่องเข้ากราบทูลว่าช้างพลายเผือกตัวประเสริฐเข้ามาอยู่ในโรงช้างแล้ว เชิญเสด็จไปทอดพระเนตร พระยามหาจักรพรรดิราชจึงเสด็จไปยังโรงช้าง ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างนั้นมีลักษณะงดงามยิ่ง มีพระราชหฤทัยชื่นชมยินดี จึงทรงยื่นพระหัตถ์ไปทรงลูบคลำช้างแก้ว ฝ่ายช้างแก้วนั้นค่อยเอี้ยวคอมามองพระยามหาจักรพรรดิราช แล้วก้มหัวลงใช้งาดุนพื้นดินเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าจบไหว้พระยามหาจักรพรรดิราช

พระยามหาจักรพรรดิราชเจ้ามีรับสั่งให้ประดับตกแต่งช้างแก้วทั่วสรรพางค์กายด้วยเครื่องประดับ เช่น แก้วแหวน เงินทอง และผ้าอาภรณ์อย่างดีเหลือที่จะคณนานับทีเดียว เครื่องประดับเหล่านั้นมีแสงเรืองสุกดังแสงดาวในท้องฟ้า ครั้นแล้วพระยามหาจักรพรรดิราชจึงเสด็จขึ้นทรงช้างแก้วนั้น ทรงพระราชดำริจะเสด็จไปทางอากาศ ช้างแก้วนั้นจึงเหาะล่องลอยไปในอากาศ เหมือนราชหงส์ทองอันเป็นพระยาของเหล่าหงส์ ชื่อพระยาหงส์ทองธรรมราช บรรดาข้าราชบริพารและรี้พลโยธาทแกล้วทหารก็เหาะตามเสด็จไปด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์ช้างแก้ว เช่นเดียวกับผู้คนเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์กงจักรแก้วฉะนั้น

ส่วนพระยามหาจักรพรรดิราชทรงช้างแก้วเสด็จล่องลอยไปในอากาศท่ามกลางการห้อมล้อมของข้าราชบริพารและทแกล้วทหาร ทรงรุ่งเรืองด้วยสิริราชสมบัติเหมือนดั่งพระอินทร์ ทรงช้างเอราวัณตัวประเสริฐ ทรงรุ่งเรืองด้วยทิพยสมบัติท่ามกลางการห้อมล้อมของหมู่นางฟ้า ฉะนั้น พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารและทแกล้วทหารผู้ตามเสด็จ เสด็จถึงเขาพระสุเมรุราช แล้วเสด็จเวียนรอบพระสุเมรุราชนั้น แล้วเสด็จไปเลียบขอบกำแพงจักรวาล จากนั้นจึงเสด็จกลับคืบสู่พระนครในเวลาอันรวดเร็ว แต่เช้าก่อนเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า พระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จไป แล้วยังกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า

จบเรื่องช้างแก้วเพียงเท่านี้

อัศวรัตนะ (ม้าแก้ว)

เจ้าหน้าที่พระราชวังให้ปลูกสร้างโรงม้าประดับตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นต้น รุ่งเรืองสวยงามเช่นเดียวกับโรงช้าง ครั้นแล้วเจ้าพนักงานจึงนำความขึ้นกราบทูลพระยามหาจักรพรรดิราชว่า โรงม้าต้นสร้างเสร็จแล้ว ขอพระองค์ทรงคำนึงถึงม้าแก้วอันจะมาเป็นคู่บุญของพระองค์เถิด ครั้งนั้นพระยามหาจักรพรรดิราชทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยทรงบริจาคทาน และทรงสมาทานรักษาศีล ๘ จากนั้นทรงพระราชดำริถึงพระบุญญาบารมีที่ได้เคยทรงบำเพ็ญมา ทรงพระราชดำริถึงธรรมที่ทรงหยั่งรู้มาก่อน แล้วทรงพระราชดำริถึงม้าแก้วตัวประเสริฐ ซึ่งมีชาติตระกูลสูงกว่าม้าตระกูลอื่น ๆ

ทันใดนั้น ม้าพลาหก เป็นม้าชั้นดีเยี่ยม เกิดในตระกูลม้าสินธพ มีสีงดงามดั่งสีเมฆหมอกขาวหม่นแกมเขียวรุ้ง ดูรุ่งเรืองเหมือนสายฟ้า กีบเท้าทั้ง ๔ และหน้าผากแดงเหมือนสีครั่งสด มีรูปร่างสูงใหญ่กำยำบึกบึน ทรงพละกำลังแข็งแรงมากเหมือนรูปปั้นที่ช่างตบแต่งปั้นขึ้น สันหลังขาวนวลเกลี้ยงเกลาเป็นมันวาวราวแสงจันทร์ ขนหัวดำเลื่อมเป็นมันงามเหมือนขนคอกา มีแสงสีสุกใสรุ่งเรืองเหมือนแก้วอินทนิล ขนคอขาวอ่อนนวลสดใสเหมือนไส้หญ้าปล้องที่คนนำมาวางเรียงกันไว้แลดูงดงามยิ่ง ม้านั้นสามารถไปทางอากาศได้รวดเร็วเหมือนฤๅษีผู้บำเพ็ญเพียรจนตบะแก่กล้ามีฤทธิ์มีอำนาจมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ฉะนั้น ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราช บันดาลให้ม้าแก้วเหาะมาทางอากาศดูรุ่งเรืองสุกใส เหมือนก้อนเมฆหมอกขาวผสมรุ้งเขียวหล่นหยาดลงจากท้องฟ้า แล้วเข้าไปอยู่ในโรงทองที่ประดับแก้ว ๗ ประการนั้น เจ้าพนักงานจึงนำเรื่องขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ พระยามหาจักรพรรดิราชจึงมีรับสั่งให้ประดับตกแต่งม้าแก้วตัวประเสริฐนั้นด้วยเครื่องประดับมีค่าต่าง ๆ เป็นต้นว่า กระดิ่ง และพรวนทอง เครื่องถนิมอาภรณ์ ซองหาง พานหน้า สำหรับประดับอานแก้วแวววาวสะอาดสุกใส แล้วพาดบนหลังพระยาพาชีนั้น เท้าทั้ง ๔ ใส่พรวนทอง หูทั้งสองใส่ปลอกแก้ว คอใส่สร้อยทองมีแสงสีเรืองรองสว่างสดใสเหมือนสายฟ้า หน้าและกีบเท้าทั้ง ๔ ประดับตกแต่งด้วยทองคำ เครื่องประดับที่ตัวม้านั้นล้วนแต่เป็นทองและแก้ว ๗ ประการทั้งสิ้น รุ่งเรืองผ่องใสยิ่งกว่าแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ครั้นประดับตกแต่งม้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานจึงนำม้านั้นเข้าน้อมเกล้าฯ ถวาย พระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จขึ้นทรงม้านั้น และม้านั้นจึงนำพระองค์เหาะไปทางอากาศพร้อมด้วยข้าราชบริพารและรี้พลโยธาทแกล้วทหารผู้ตามเสด็จ เสด็จเลียบขอบกำแพงจักรวาลเช่นเดียวกับกงจักรแก้วและช้างแก้วนั้น ครั้นแล้วจึงเสด็จกลับคืนสู่พระนครในเวลาอันรวดเร็วยังมิทันสาย ยังไม่พ้นเวลาเสวยพระกระยาหารเช้าเลย

จบเรื่องม้าแก้วเพียงเท่านี้

มณีรัตนะ (ดวงแก้ว)

เจ้าหน้าที่พระราชวังและพวกโหราจารย์ได้เข้าเฝ้าพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้า แล้วกราบทูลว่า เครื่องประดับพระบุญญาบารมีของพระองค์ยังมีไม่ครบถ้วน ขอจงทรงพระราชดำริถึงดวงแก้วคู่พระบารมีของพระองค์ด้วยเถิด พระยามหาจักรพรรดิราชครั้นได้สดับดังนั้น จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยการทรงบริจาคทาน ทรงสมาทานรักษาศีล ๘ ตลอด ๗ วัน ครั้นแล้วทรงพระราชดำริถึงพระบุญญาบารมีที่ได้เคยทรงบำเพ็ญมา และทรงพระดำริถึงธรรมที่ทรงหยั่งรู้มาก่อน แล้วทรงพระราชดำริถึงแก้วมณีซึ่งเคยเป็นแก้วคู่พระบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราชมาก่อน

มณีรัตนะ เป็นแก้วดวงหนึ่ง ยาว ๔ ศอก โตเท่าดุมเกวียนขนาดใหญ่ หัวแก้วทั้งสองด้านมีดอกบัวทองติดอยู่ด้านละสองดอก มีสายแก้วมุกดามากมายติดในกลางแก้ว มุกและดอกบัวทองนั้นขาวงามสดใสยิ่งนักเหมือนอยู่ในกลีบดอกบัวทองนั้น แก้วดวงนี้เป็นพระยาแก้วแห่งแก้ว ๘๔,๐๐๐ ชนิด แก้วเหล่านั้นแต่ละชนิดมีขนาดไม่เท่ากัน บางชนิดมีชนาดเท่าลูกฟัก บางชนิดเท่าลูกตาล บางชนิดเท่าลูกมะตูม บางชนิดเท่าลูกมะนาว บางชนิดเท่าลูกมะม่วง บางชนิดเท่าลูกมะขามป้อม บางชนิดเท่าลูกมะกล่ำ บางชนิดกลม บางชนิดเป็น ๔ เหลี่ยม สุกใสแวววาวยิ่งและมีสีต่างกัน เช่น สีแดง สีขาว สีเขียว สีอ่อน สีแดงก่ำ สีหม่น สีด่าง สีเหลือง ดูเปล่งปลั่งรุ่งเรือง แก้วเหล่านี้มาเป็นบริวารพระยาแก้วดวงนั้น เหมือนพระยาหงส์ทองมัทราชมีหมู่หงส์ ๘๔,๐๐๐ ตัว มาห้อมล้อมเป็นบริวารฉะนั้น

พระยาแก้วดวงวิเศษสถิตอยู่บนยอดเขาพิบูลบรรพต พร้อมด้วยแก้วบริวาร ๘๔,๐๐๐ ชนิดนั้น ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราชดลบันดาลให้แก้วดวงนั้น ไม่สามารถสถิตบนยอดภูเขาตลอดไปได้ จึงเหาะมาพร้อมด้วยแก้วบริวารทั้ง ๘๔,๐๐๐ ดวง รุ่งเรืองสว่างไสวทั่วท้องฟ้าทีเดียว ว่ากันว่าแก้วเหล่านี้จะออกมาเปล่งรัศมีแข่งกับรัศมีพระจันทร์ ก็ต่อเมื่อมีพระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จอุบัติขึ้นเท่านั้น ครั้นเมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชสวรรคตแล้ว แก้วนั้นพร้อมด้วยบริวารจะคืนกลับไปสถิตอยู่บนยอดภูเขาพิบูลบรรพตนั้นตามเดิมเป็นเวลาช้านาน มิได้ออกมาเปล่งรัศมีแข่งกับรัศมีพระจันทร์นั้นอีกเลย รอไปจนกว่าผู้มีบุญญาธิการจะมาเกิดเป็นพระยามหาจักรพรรดิราชในอนาคตภายหน้าอีก และเมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชพระองค์นั้นทรงพระราชดำริถึงแก้วดวงนั้นพร้อมด้วยบริวารจะเหาะไปหาพระองค์แล้วเปล่งรัศมีแข่งกับรัศมีพระจันทร์อีก รัศมีแก้วเหล่านั้นสุกใสแวววาวเหมือนรัศมีพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ

ในขณะที่พระยาแก้วเหาะมา จะมีแก้วบริวารห้อมล้อมมาทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย และด้านขวา แล้วเข้าไปในปราสาทแห่งพระยามหาจักรพรรดิราช พร้อมด้วยบริวารเปล่งรัศมีรุ่งเรืองงดงามยิ่ง เหมือนดวงดาวเปล่งรัศมีห้อมล้อมพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ พระยาแก้วนั้นล่องลอยเข้าไปหาพระยามหาจักรพรรดิราชถึงที่ประทับ เมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระราชประสงค์ใคร่จะทรงทดลองอิทธิฤทธิ์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระยาแก้วมณีรัตน์นั้น จึงมีรับสั่งให้ทำไม้ลำหนึ่งยาว ๑๖ ศอก พอกฉาบด้วยทอง โปรดให้ตีตะเครียวทองใส่พระยาแก้วมณีนั้น ทรงให้เอาสายทองคำผูกแขวนไว้กับปลายไม้ แล้วทรงให้เจ้าพนักงานยกไม้นั้นถือนำหน้าไปก่อน จะปรากฏแสงสว่างรุ่งเรืองส่องให้เห็นหนทางทุกหนทุกแห่ง แม้ในที่มืดทั้ง ๔ ประการ[๔] ก็สว่างไสวไปทั่ว คือมืดเดือนดับกลางคืน มืดป่าทึบรกชัฏ มืดฟ้ามืดฝน และมืดเที่ยงคืนยามดึกสงัด ความมืดเหล่านี้ เมื่อต้องรัศมีพระยาแก้วมณีจะเกิดความสว่างไสวรุ่งเรืองให้มองเห็นทางไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าพระยามหาจักรพรรดิราชพร้อมด้วยข้าราชบริพารและรี้พลโยธาจะเสด็จไปทางใด ทรงมองเห็นทางเสด็จสว่างไสวเหมือนกลางวันทีเดียว ผู้คนทั้งหลายเห็นดังนั้น ต่างออกไปทำธุรกิจของตน ๆ เช่น ชาวไร่ชาวนาก็ออกไปทำไร่ไถนา พวกพ่อค้าแม่ค้าก็ออกไปค้าขาย พวกช่างไม้ช่างถากก็ออกไปตัดไม้ถากไม้ เป็นต้น ทำการงานได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับที่ทำในเวลากลางวันนั้นเอง

การที่คนทั้งหลายได้รู้จักอิทธิฤทธิ์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระยาแก้วมณีนั้นก็ด้วยเดชอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราช บ้านเมืองเกิดความร่มเย็นเป็นสุขยิ่ง เหล่าอาณาประชาราษฎร์จะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสำราญปานประหนึ่งเทพยดาในสวรรค์ชั้นฟ้าทีเดียว

จบเรื่องแก้วมณีโดยย่อเพียงเท่านี้

อิตถีรัตนะ (นางแก้ว)

ด้วยพระบุญญาธิการของพระยามหาจักรพรรดิราชจะมีนางแก้วนางหนึ่งมาเป็นคู่พระบารมี หรือบางครั้งจะมีหญิงผู้ได้ทำบุญกุศลแต่ปางก่อนไว้มากมาเกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ ในตระกูลกษัตริย์ในเมืองมัทราช คนทั้งหลายกล่าวขานกันว่าพระนางประสูติมาเพื่อเป็นพระอัครมเหสีคู่พระบารมีของพระยามหาจักรพรรดิโดยแท้ ถ้าไม่มีนางแก้วผู้มีบุญญาธิการมาเกิดในแผ่นดินนี้ไซร้ เดชอำนาจพระบุญญาบารมีของพระมหาจักรพรรดิจะบันดาลให้นางแก้วในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปมาเป็นพระอัครมเหสีคู่บารมีพร้อมด้วยอาภรณ์เครื่องประดับตกแต่งทุกอย่าง ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รุ่งเรืองสดใสงดงามยิ่ง โดยเหาะมาเฝ้าทางอากาศ เหมือนนางฟ้าเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ฉะนั้น แล้วเข้าเฝ้าพระยามหาจักรพรรดิราช

พระนางแก้วนั้นมีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง พระวรกายไม่สูงไม่ต่ำเกินไป พระฉวีไม่ดำไม่ขาวเกินไป ไม่อ้วนไม่ผอมเกินไป ทรงเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้ได้พบเห็น มีพระฉวีวรรณสะอาดหมดจดเกลี้ยงเกลางดงามยิ่ง ปราศจากมลทินสิ่งเศร้าหมองทุกอย่าง ฝุ่นละอองธุลีแม้น้อยนิดก็มิได้แปดเปื้อนเลย เหมือนดอกบัวถูกน้ำแล้วไม่ติดน้ำฉะนั้น พระสิริรูปโฉมของพระนางแก้วมีลักษณะอันงามครบถ้วนทุกประการ เป็นที่ติดตาตรึงใจของคนทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ แม้กระนั้นก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับความงามของนางฟ้าเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ความงามของพระนางแก้วจัดว่ายังเป็นรอง เพราะรัศมีในพระวรกายของพระนางแก้วมีน้อยกว่าของนางฟ้ามาก เหล่านางฟ้าในสำนักของพระอินทร์มีรัศมีแผ่ซ่านกระจายออกไปไกลมาก ส่วนรัศมีของพระนางแก้วแผ่ซ่านไปไกลได้เพียง ๑๐ ศอกเท่านั้น รอบ ๆ พระวรกายแม้จะมืดสักเพียงใด ไม่ต้องใช้แสงสว่างจากแสงเทียนหรือตะเกียงนำทางเลย พระนางแก้วมีพระพักตร์ผ่องใสโสภาเกลี้ยงเกลายิ่งนัก พระนางมีพระวรกายอ่อนนุ่มดังสำลีบริสุทธิ์ที่วางทับซ้อนกันเป็นร้อยชั้น แล้วชุบด้วยน้ำมันเปรียงโคจามจุรีสีสดใสงดงามยิ่ง พระนางปรนนิบัติพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้าเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยยิ่งนัก ในเวลาที่พระวรกายของพระยามหาจักรพรรดิราชหนาวเย็น พระวรกายของพระนางแก้วอุ่น แต่ในเวลาที่พระวรกายของพระยามหาจักรพรรดิราชร้อน พระวรกายของพระนางแก้วกลับเย็น

อนึ่ง พระวรกายของพระนางแก้วนั้นมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแก่นจันทน์และกฤษณา ซึ่งบดและปรุงด้วยคันธารสอันหอมทั้ง ๔ ประการ[๕] หอมฟุ้งอยู่ตลอดเวลา

ในเวลาที่พระนางแก้วทรงเจรจาหรือทรงแย้มสรวล กลิ่นที่ฟุ้งออกจากพระโอษฐ์หอมเหมือนกลิ่นดอกบัวนิลุบลและจงกลนีที่แย้มบานและหอมฟุ้งอยู่ตลอดเวลา ในยามที่พระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จมาหาพระนางแก้ว เมื่อพระนางแก้วได้ทอดพระเนตรเห็น พระนางจะไม่ประทับนั่งอยู่ จะเสด็จลุกไปทรงต้อนรับพระยามหาจักรพรรดิราช แล้วตามเสด็จไปยังพระแท่นบรรทมแก้ว ทรงนำหมอนทองมาประทับนั่งถวายงานพัด ทรงปรนนิบัติบีบนวดเฟ้นพระบาทและพระกรของพระราชสวามี แล้วเสด็จลงประทับนั่งอยู่เบื้องต่ำ ไม่เสด็จขึ้นเหนือพระแท่นบรรทมแก้วก่อนพระยามหาจักรพรรดิราชแม้แต่ครั้งเดียว และเสด็จลงจากพระแท่นแก้วก่อนพระราชสวามีเสมอ ไม่ว่าพระนางแก้วจะทรงกระทำการสิ่งใดก็จะกราบทูลให้พระราชสวามีทรงทราบก่อนทุกครั้ง และทรงกระทำเฉพาะสิ่งที่พระยามหาจักรพรรดิราชมีรับสั่งให้ทรงกระทำเท่านั้น ทรงไม่ฝ่าฝืนหรือละเมิดพระบรรหารของพระยามหาจักรพรรดิราชแม้แต่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้น กิจการที่พระนางแก้วทรงกระทำจึงเป็นที่โปรดปรานของพระยามหาจักรพรรดิราชทุกประการ แม้จะทูลเจรจาปราศรัยก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระยามหาจักรพรรดิราชยิ่งนัก และผู้ที่จะได้เป็นพระราชสวามีของพระนางแก้วมีเฉพาะพระยามหาจักรพรรดิราชเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่บุรุษเหล่าอื่น พระนางแก้วนั้นทรงมีความจงรักภักดีต่อพระราชสวามีเป็นที่ยิ่ง ไม่ทรงประพฤติล่วงละเมิดนอกพระทัยพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้าแม้แต่น้อยเลย

จบเรื่องนางแก้วโดยย่อเพียงเท่านี้

คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว)

ครั้งนั้นพวกโหราพฤฒาจารย์เข้าเฝ้าพระยามหาจักรพรรดิราชแล้วกราบทูลว่า ตั้งแต่พระองค์ได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชมานั้น เครื่องประดับพระบุญญาบารมีของพระองค์ยังมีไม่ครบถ้วนเลย พระยามหาจักรพรรดิราชจึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยการทรงบริจาคทาน ทรงสมาทานรักษาศีล ครั้นแล้วทรงพระราชดำริถึงผู้มีบุญญาภินิหาร มีอำนาจราชศักดิ์ที่จะมาเป็นขุนคลังประจำพระราชสำนัก ในกาลครั้งนั้นยังมีมหาเศรษฐีคนหนึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ตระกูลเก่าแก่ของมหาเศรษฐีมาแต่โบราณกาล ผู้เป็นขุนคลังนั้นสามารถจะทำการงานให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระยามหาจักรพรรดิราชทุกประการได้

แม้หากพระองค์ทรงพระราชดำริถึงทรัพย์สิ่งใด เพื่อทรงรับมาเป็นสมบัติส่วนพระองค์ ขุนคลังก็สามารถนำมาถวายได้ทุกอย่างตามพระราชประสงค์ และมหาเศรษฐีนั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนพระคลังแก้วประจำพระราชสำนัก ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราชนั่นเอง

ขุนคลังแก้วนั้นมีอำนาจพิเศษประจำตัวอยู่ สามารถมองเห็นหรือได้ยินเสียงสิ่งที่อยู่ไกลลี้ลับได้ เหมือนมีตาทิพย์หูทิพย์ดั่งเทพยดาในสวรรค์ชั้นฟ้าทีเดียว บรรดาแก้วแหวนเงินทองที่อยู่บนแผ่นดินนี้หรืออยู่ใต้แผ่นดินลงไปถึง ๑๖ โยชน์ หรือแม้อยู่ในท้องมหาสมุทร ขุนคลังแก้วนั้นสามารถมองเห็นทุกอย่าง ถ้าเขานึกอยากให้สิ่งใดเป็นต้นว่าแก้วแหวนเงินทองมาเป็นของตน ทุกอย่างก็จะหลั่งไหลมาหาเขาตามใจนึก หรือถ้าขุนคลังแก้วประสงค์จะให้เป็นเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือสิ่งใดอื่นก็ตาม แก้วแหวนเงินทองเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนสภาพไปตามใจนึกของขุนคลังแก้วทุกประการ เขาเข้าเฝ้าพระยามหาจักรพรรดิราชแล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญในราชสมบัติเถิด อย่าได้ทรงวิตกกังวลเลย หากมีพระราชประสงค์ทรัพย์สมบัติใด ๆ ขอได้โปรดเรียกเอาจากข้าพระพุทธเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียวจะจัดหามาถวายทุกอย่าง ถ้าหากพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดหามาถวายให้เพียงพอตามพระราชประสงค์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงคิดระแวงสงสัยเลย ไม่ว่าพระองค์จะพระราชทานทรัพย์สมบัติมากน้อยเพียงใด ขอจงพระราชทานได้ตามพระราชประสงค์เถิด ขออย่าได้ทรงเป็นกังวลพระหฤทัยเลย

เมื่อขุนคลังแก้วรำลึกนึกในใจอยากได้สิ่งใด สิ่งนั้นก็เกิดเพิ่มพูนขึ้นตามใจนึก แก้ว ๗ ประการมีมากมายเต็มท้องพระคลัง เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์แล้ว ขุนคลังแก้วจึงเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลว่า ตั้งแต่บัดนี้ไปเบื้องหน้า ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดหาแก้ว ๗ ประการมาถวายพระองค์ทุกเมื่อ ขอจงพระราชทานแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์เถิด อย่าได้ทรงคิดเสียดายเลย และจงพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเถิด

ครั้งนั้น พระยามหาจักรพรรดิราชมีพระราชประสงค์ใคร่ครวญจะทรงทดลองศักดานุภาพของขุนคลังแก้ว จึงทรงให้จัดตกแต่งเรือพระที่นั่งประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ แล้วมีพระบัญชาให้สร้างปราสาทเงินปราสาททองประดับตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการ ภายในเรือพระที่นั่งนั้น ครั้นแล้วพระองค์จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่ง ประทับนั่งในปราสาท ออกไปถึงกลางมหาสมุทรในวันนั้น มีขบวนเรือสำเภาเงินสำเภาทองและขบวนเรือนาคราชตามเสด็จเป็นบริวาร ๘๔,๐๐๐ ลำ

ลำดับนั้นพระยามหาจักรพรรดิราชรับสั่งกับขุนคลังแก้วว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์ใคร่จะได้แก้ว ๗ ประการ เจ้าจงรีบหามาในกลางมหาสมุทรนี้โดยเร็ว ฝ่ายขุนคลังแก้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดหามาถวายแด่พระองค์ตามรับสั่ง เขาจึงมองลงไปในมหาสมุทร ทันทีทันใดนั้น ตุ่มและไหมากมายล้วนเต็มด้วยแก้วแหวนเงินทองก็ผุดขึ้นเหนือน้ำเต็มท้องมหาสมุทร ขุนคลังแก้วจึงนำเข้าถวายโดยทันที พระยามหาจักรพรรดิราชจึงพระราชทานเป็นบำเหน็จรางวัลแก่บรรดาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ในวันนั้นโดยไม่มีวันหมดสิ้น ขุนคลังแก้วในพระยามหาจักรพรรดิราชมีอิทธิฤทธิ์มากดังกล่าวมานี้

จบเรื่องขุนคลังแก้วโดยย่อเพียงเท่านี้

ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)

พระยามหาจักรพรรดิราชนั้น มีพระโอรส ๑,๐๐๐ พระองค์ พระโอรสเหล่านั้นมีพระปรีชาสามารถแกล้วกล้าอาจหาญทุกพระองค์ ส่วนพระราชโอรสองค์ใหญ่มีพระปรีชาสามารถ เฉลียวฉลาดกว่าพระโอรสองค์อื่น ๆ ทั้งนี้ก็ด้วยพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราชที่ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน จึงทรงมีแก้วคู่พระบารมีอีกประการ คือขุนพลแก้ว อันได้แก่ พระราชโอรสแก้ว พระราชโอรสแก้วนั้นมีพระปรีชาสามารถมาก ทรงหยั่งรู้จิตใจของคนอื่นได้ ทรงรู้คนดีคนชั่ว แม้จะอยู่ไกลถึง ๑๒ โยชน์ก็ทรงหยั่งรู้ความรู้สึกนึกคิดของทุกคนทีเดียว พระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงปฏิบัติราชกิจแทนพระราชบิดา จึงเสด็จเข้าเฝ้าแล้วทรงกราบทูลว่า

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป งานบริหารราชการแผ่นดินและพระราชกรณียกิจอื่นใดของพระราชบิดา พวกข้าพระองค์ขอดำเนินการจัดทำแทน ตามความรู้ความสามารถให้ถูกต้อง ชอบธรรมตามพระราชประเพณี มิให้เป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัย ขอจงทรงพระเกษมสำราญเสวยสุขทุกประการเถิด

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระยามหาจักรพรรดิราชมิได้ทรงกังวลพระทัยในราชการบ้านเมืองและพระราชกิจทุกอย่าง เพราะพระราชโอรสแก้วทรงบริหารการบ้านการเมืองและทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่างพระเนตรพระกรรณ รัตนะคือแก้วอันประเสริฐสำหรับประดับพระบุญญาบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราชผู้มาก ก็มีครบถ้วนทั้ง ๗ ประการ ดังกล่าวมาโดยลำดับแล้วนั้น

พระยามหาจักรพรรดิราชทรงเป็นประมุขแห่งคนทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้ง ๔ ทวีป ซึ่งมีทวีปเล็ก ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวาร ภายในขอบเขตจักรวาลนี้พระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทุกเวลา ผู้ที่ตั้งอยู่ในพระโอวาทคำสั่งสอนของพระองค์ เมื่อสิ้นชีวิตลงจะได้ไปเกิดในสวรรค์ ส่วนผู้ไม่ตั้งอยู่ในพระบรมราโอวาท มีใจบาปหยาบช้าไม่มีศีลธรรมนั้น พระองค์ไม่ทรงโปรดปรานและตรัสเจรจาด้วยเลย

ตราบใดที่พระยามหาจักรพรรดิราชยังทรงพระชนม์อยู่ กงจักรแก้วก็ยังคงสถิตอยู่ประดับพระบารมีอยู่ตราบนั้น ไม่คลาดเคลื่อนลอยไปไหนเลย แต่เมื่อใดพระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จสวรรคต กงจักรแก้วนั้นจึงจะเคลื่อนจากเรือนแก้วที่อยู่ลงสู่ท้องมหาสมุทรซึ่งเคยสถิตอยู่แต่เดิม แก้วคู่พระบารมีของพระยามหาจักรพรรดิราชจะเคลื่อนจากพระยามหาจักรพรรดิราช[๖]ในกรณีต่อไปนี้ คือ ก่อนพระยามหาจักรพรรดิราชจะเสด็จสวรรคต ๗ วัน ก่อนพระยามหาจักรพรรดิราชจะเสด็จออกผนวช ๗ วัน ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๗ วัน

เมื่อใดพระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จอุบัติขึ้นมาอีก กงจักรแก้วก็จะขึ้นจากท้องมหาสมุทร ไปเป็นแก้วคู่พระบารมีของพระองค์เหมือนดังแต่ก่อนมา เมื่อกงจักรแก้วซึ่งเป็นผู้นำของแก้วคู่พระบารมีทั้งหลายคลาดเคลื่อนลอยจากพระยามหาจักรพรรดิราชไปแล้ว แก้วคู่พระบารมีอื่น ๆ ก็มีอันจากไปเสื่อมไปตามลำดับ เช่น ช้างแก้วตระกูลอุโบสถหรือช้างแก้วตระกูลฉัททันต์ก็จะกลับคืนไปสู่ตระกูลของตนตามเดิม ทั้งม้าแก้วตระกูลพลาหกก็กลับคืนไปอยู่ในตระกูลของตนตามเดิมเหมือนกัน ทั้งแก้วมณีพร้อมด้วยแก้วบริวาร ๘๔,๐๐๐ ชนิดก็กลับคืนไปสู่เขาพิบูลบรรพตตามเดิม ส่วนพระนางแก้วนั้นถ้าพระนางเสด็จมาแต่อุตตรกุรุทวีป พระนางก็จะเสด็จกลับคืนสู่อุตตรกุรุทวีปอย่างเดิม แต่ถ้าพระนางแก้วนั้นเสด็จอุบัติในแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้ รัศมีที่เคยแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระนางก็จะดับสูญหายไปสิ้น จะทรงมีผิวพรรณเหมือนหญิงสามัญทั่วไป

ส่วนขุนคลังแก้วซึ่งแต่ก่อนเคยมองเห็นหรือได้ยินสิ่งที่อยู่ไกลได้ ก็กลับมองไม่เห็นหรือได้ยินไม่ได้ไกลดังแต่ก่อน หรือแม้แต่จะคิดอยากได้สิ่งใดก็จะไม่ได้สมใจนึกเหมือนแต่ก่อนอีก ทั้งขุนพลแก้ว คือ พระราชโอรสแก้ว ซึ่งแต่ก่อนทรงเฉลียวฉลาดเฉียบแหลมมากก็กลับลดน้อยลง ทรงไม่สามารถหยั่งรู้จิตใจของใครได้อีกเลย แต่บางครั้งพระราชโอรสแก้วนั้นมีพระบุญญาภินิหารและมีพระบรมเดชานุภาพมาก ทรงได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชสืบแทบพระราชบิดาก็จะทรงหยั่งรู้ธรรมอับประเสริฐทุกอย่างเช่นเดียวกับพระราชบิดา

เมื่อพระยามหาจักรพรรดิราชสวรรคตแล้ว พระบรมศพได้รับการชะโลมด้วยกระแจะจวงจันทน์อันหอม มัดตราสังด้วยผ้าขาวเนื้อละเอียด แล้วนำสำลีอย่างดีที่ตีได้ร้อยครั้งมาห่อชั้นหนึ่ง ใช้ผ้าขาวอันละเอียดมาห่อทับอีกชั้นหนึ่ง แล้วนำสำลีอันละเอียดบริสุทธิ์มาห่อทับอีกชั้นหนึ่ง ห่อสลับกันอยู่อย่างนั้นจนถึง ๑,๐๐๐ ชั้น คือห่อด้วยผ้า ๕๐๐ ชั้น ห่อด้วยสำลี ๕๐๐ ชั้น นำน้ำหอมซึ่งอบได้ ๑๐๐ ครั้งมาสรงพระบรมศพ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระบรมศพบรรจุไว้ในโกศทองประดับด้วยหินดำถมอมีลวดลายและสีสันต่าง ๆ งดงามละเอียดและประณีตยิ่งนัก

อัญเชิญพระบรมศพขึ้นสู่เชิงตะกอน เพื่อถวายพระเพลิงด้วยแก่นจันทน์และกฤษณาทั้งห้า บูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้มากมาย ครั้นถวายพระเพลิงแล้วชาวพระนครจึงนำพระอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่ก่อไว้ในทางสี่แพร่งกลางใจเมือง เพื่อให้คนทั้งหลายได้ไปกราบไหว้สักการบูชา ผู้ใดได้กราบไหว้บูชา ครั้นตายไปจะได้ไปเกิดในสวรรค์เหมือนได้กราบไหว้สักการบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ แต่ผู้ที่กราบไหว้บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ อาจจะได้รับสมบัติ ๓ ประการ คือ มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ ส่วนผู้ที่กราบไหว้สักการบูชาพระยามหาจักรพรรดิราชอาจจะได้สมบัติเพียง ๒ อย่าง มนุษย์สมบัติและสวรรคสมบัติเท่านั้นไม่สามารถได้นิพพานสมบัติ โดยเหตุที่พระยามหาจักรพรรดิราชยังทรงเป็นปุถุชนอยู่นั่นเอง

ถึงแม้พระยามหาจักรพรรดิราชมีพระบุญญาเดชานุภาพมาก มีพระราชอำนาจเหนือข้าศึกศัตรู ทรงสามารถปราบได้ทั่วทั้ง ๔ ทวีป พระองค์ก็ยังเสด็จสวรรคต ไม่ทรงพระชนม์ชีพยั่งยืนอยู่ได้ตลอดกาล ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ พระองค์ก็จะทรงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้อยู่ตราบนั้น แต่เมื่อพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ได้บรรลุธรรมถึงพระนิพพานแล้ว จึงจักพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารนี้ได้

จบเรื่องพระยามหาจักรพรรดิราชเพียงเท่านี้

พระเจ้าอโศกมหาราช

นอกจากพระยามหาจักรพรรดิราชแล้ว มีพระมหากษัตริย์อีกจำพวกหนึ่งมีพระบุญญาบารมีและทรงพระบรมเดชานุภาพมากเทียบเท่าพระยามหาจักรพรรดิราชทีเดียว เช่น พระยาธรรมาโศกราช เป็นต้น พระยาธรรมาโศกราชนั้นได้เสวยราชสมบัติในเมืองปาตลีบุตรมหานคร หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๒๑๙ ปี มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าพระนางอสันธิมิตตา[๗] และทรงมีนางสนมถึง ๑๖,๐๐๐ นาง เมื่อครั้งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้น บรรดาพระราชาและเจ้าพระยาทั้งหลายตามหัวเมืองต่าง ๆ ในชมพูทวีป ต่างมาไหว้แสดงความเคารพด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีของพระองค์นั้นเอง ใช่จะมีแต่พระราชาและเจ้าพระยาเท่านั้นที่เสด็จมาทรงเคารพกราบไหว้ แม้แต่เหล่าเทพยดาและหมู่สัตว์ในอาณาจักรของพระองค์ซึ่งอยู่ต่ำลงไปใต้แผ่นดิน ๑ โยชน์ และสูงขึ้นไปเบื้องบนอากาศอีก ๑ โยชน์ ต่างมากราบไหว้บูชา ห้อมล้อมบำรุงบำเรอทุกคืนวันมิได้ขาด ทั้งนี้ด้วยเดชอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยาศรีธรรมาโศกราชนั้นเอง

เหล่าเทวดาซึ่งสถิตอยู่ในป่าหิมพานต์นำเอาน้ำหอมสะอาดผ่องใสดั่งแก้วผลึก มีรสโอชาอร่อยหวานเย็นจากสระอโนดาตมาทูลเกล้าฯ ถวายวันละ ๑๖ กระออมเป็นประจำมิได้ขาด พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชโปรดเกล้าฯ ให้นำน้ำ ๘ กระออมไปถวายแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ถวายพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎก ๑๖ รูป ๒ กระออม พระราชทานแก่พระอัครมเหสีอสันธิมิตตา ๒ กระออม พระราชทานแก่นางสนม ๑๖,๐๐๐ นาง ๒ กระออม อีก ๒ กระออมให้จัดไว้สำหรับพระองค์ทรงใช้สระสรงและเสวย พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุกวันมิได้ขาดเลย

เทวดาบางพวกนำเถาวัลย์ชื่อนาคลดา อันอ่อนและหอมมาถวายสำหรับเป็นไม้ชำระพระทนต์ทุกวัน พระองค์ทรงให้จัดแบ่งถวายพระสงฆ์วันละ ๖ รูป และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานแก่พระสนม ๑๖,๐๐๐ นาง เป็นประจำมิได้ขาด เทวดาบางพวกนำเอาผลไม้จากป่าหิมพานต์มาถวายทุกวัน ได้แก่ ผลมะขามป้อมอันมีรสหวานหอมยิ่ง เหลืองอร่ามเหมือนทอง ผลสมอที่หอม เหลืองอร่ามเหมือนทอง มะม่วงสุกสีเหมือนทอง มีรสหวานหอม เทวดาบางพวกนำเอาผ้าทิพย์มี ๕ สี สวยงามยิ่งจากสระฉัททันต์มาถวายเป็นพระภูษามาลาฉลองพระองค์ทุกวัน เทวดาบางพวกนำเอาผ้าเช็ดหน้าทิพย์มี ๕ สี สีดำ แดง ขาว เหลือง และเขียว สดใสงดงามยิ่งจากสระฉัททันต์มาถวายให้เช็ดพระพักตร์และพระวรกายทุกวัน ถ้าผ้าทิพย์เหล่านั้นแปดเปื้อนด้วยเหงื่อไคลหรือเก่าหม่นหมองไปไม่ต้องซักฟอกด้วยน้ำเลย เพียงแต่ก่อไฟให้ลุกเป็นเปลว แล้วนำผ้าทิพย์ไปวางในเปลวไฟเท่านั้นจะไม่ไหม้ผ้าเลย เหงื่อไคลและสิ่งสกปรกปฏิกูลต่าง ๆ ที่ติดเปื้อนผ้าก็จะสูญหายไปสิ้น กลับเป็นผ้าสะอาดหมดจด มีสีสดใสงดงามเหมือนผ้าใหม่อย่างเดิม

เทวดาบางพวกนำเอาฉลองพระบาททองทิพย์ มีสีสุกใสงดงาม มาถวายเพื่อทรงเป็นฉลองพระบาท เทวดาบางพวกนำกาน้ำทองทิพย์ มีสีและกลิ่นหอมยิ่งนักมาถวายเพื่อทรงใช้สระสรงพระเกศทุกวัน เทวดาบางพวกนำเอาอ้อยอันหวานหอมและมีรสโอชาอร่อยยิ่งนัก มีลำต้นเท่าลำต้นหมาก จากป่าหิมพานต์มาถวายเพื่อเสวยเป็นพระกระยาหารทุกวัน รวมทั้งผลไม้ต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ ผลมะพร้าว มีรสอร่อย ผลลูกตาล ผลลูกหว้า ผลลูกลาน ผลลูกไทร ผลมะสัง ผลมะหาด และลูกฟักแฟงแตงเต้า ผลไม้เหล่านี้เทวดานำมาถวายพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด

บรรดานกทั้งหลาย มีนกเปล้า นกแขกเต้า นกคล้า และนกจริง เป็นต้น ต่างคาบเอารวงข้าวสาลีที่เกิดริมสระฉัททันต์มาถวาย วันละ ๙,๐๐๐ เกวียน เป็นประจำเสมอ ข้าวนั้นไม่ต้องตำฝัดและร่อนเลย เพราะฝูงหนูป่ามาเกล็ดให้เป็นเมล็ดข้าวสาร ไม่แตกหักแม้แต่เมล็ดเดียว เป็นข้าวต้นเสวยชั้นดี เป็นพระกระยาหารที่พระยาศรีธรรมาโศกราชเสวยเป็นประจำ ทั้งเช้าทั้งเย็นมิได้ขาด

ฝูงผึ้ง (รวง) และ (ผึ้ง) มิ้ม ต่างมาทำรวงรังให้น้ำผึ้งไว้ในโอ่งและกระออม เป็นพระกระยาหารเสวยได้ทุกเมื่อ พวกพ่อครัวแม่ครัวไม่ต้องลำบากใจเกรงว่าจะขาดแคลนฟืนสำหรับหุงต้ม เพราะพวกหมีในป่าฉีกหั่นไม้ให้เป็นฟืนนำมาส่งให้ทุกวัน ทั้งนี้ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีของพระยาศรีธรรมาโศกราชนั้นเอง

บรรดาฝูงนกในป่า มีฝูงนกการเวก นกยูง นกกระเรียน และนกดุเหว่า เป็นต้น ต่างพร้อมใจกันมารำแพนหางตีปีกฟ้อนรำ ส่งเสียงร้องด้วยสรรพสำเนียงอันไพเราะจับใจยิ่ง ถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด นกเหล่านั้นเป็นสัตว์ชั้นเยี่ยมมาจากป่าหิมพานต์ เสียงนกการเวกนั้นไพเราะจับใจยิ่ง เสียงนั้นเหมือนมีมนต์ขลัง สามารถสะกดจิตใจของผู้ได้ฟังต้องหยุดอยู่กับที่ทีเดียว แม้เสือที่กำลังกินเนื้อก็จะลืมกินเนื้อ แม้เด็กที่กำลังวิ่งหนีการถูกไล่ตีก็จะหยุดวิ่งทันที นกที่กำลังบินอยู่ในอากาศก็จะหยุดบิน ปลาที่กำลังว่ายอยู่น้ำก็จะหยุดว่าย เพราะเสียงร้องของนกการเวกไพเราะจับใจน่าฉงนยิ่งนัก

บรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งที่อยู่บนแผ่นดินและในอากาศ ต่างมาบำรุงบำเรอพระยาศรีธรรมาโศกราชอยู่ทุกวันมิได้ขาด เหล่าเทวดาที่สถิตอยู่ในมหาสมุทรนำเอาแก้วแหวนเงินทองมากมายมาถวาย ฝูงนาคราชนำเอาผ้ามีสีแดงใสงดงามดั่งดอกชาตบุษย์อันบริสุทธิ์ไม่ระคนเจือปนด้วยด้ายไหม ไหมเทศ วิเศษดั่งผ้าทิพย์ มาถวายเพื่อทรงห่ม ทั้งเป็นพระภูษาแต่งพระองค์และรองพระบาทอีกด้วย นาคราชบางจำพวกนำเอากระแจะจวงจันทน์เครื่องหอมอันประเสริฐ มาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกวัน พระยาศรีธรรมาโศกราชมีพระบุญญาภินิหารและพระบรมเดชานุภาพมากอย่างนี้แล

พระยาศรีธรรมาโศกราชได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของนิโครสามเณรผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญาเปรื่องปราดเฉลียวฉลาดมาก มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยยิ่งนัก ทรงถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป เป็นจำนวน ๖๐,๐๐๐ สำรับทุกวันโดยทรงเลิกการนำภัตตาหารไปพระราชทานแก่ปริพพาชก (นักบวชนอกพุทธศาสนา) วันละ ๖๐,๐๐๐ คน ที่พระเจ้าพินทุสารราชผู้เป็นพระราชบิดาได้เคยปฏิบัติมาก่อน แล้วนำมาถวายแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทุกวัน[๘]

พระยาศรีธรรมาโศกราชนั้นทรงสร้างอโศการามมหาวิหารในพระราชอุทยานให้เป็นพระอารามที่พำนักพักพิงของพระสงฆ์ บรรดาสิ่งของทุกอย่างที่มีผู้นำมาถวาย จะเป็นของที่เทวดานำมาถวายจากป่าหิมพานต์ก็ดี ของที่มนุษย์และสัตว์นำมาถวายก็ดี พระยาศรีธรรมาโศกราชทรงนำไปบูชาสักการะพระศรีรัตนตรัยก่อนแล้วจึงพระราชทานแก่พระนางอสันธิมิตตาราชเทวี แล้วจึงพระราชทานแก่พระสนม ๑๖,๐๐๐ นาง พระราชทานแก่เทวราช แล้วจึงพระราชทานแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ในพระนครนั้นทุกคนโดยลำดับ

อยู่มาวันหนึ่ง ในเมืองนั้นยังมีหมู่เทวดานำเอาอ้อยลำใหญ่เท่าลำต้นหมากพร้อมด้วยผลไม้มากมายจากป่าหิมพานต์มาถวาย อ้อยเหล่านั้นมีรสหวานอร่อยยิ่งนัก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้หีบอ้อยเหล่านั้นแล้วทรงอังคาสเลี้ยงดูพระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป พร้อมด้วยภัตตาหารในพระราชมนเทียร เมื่อพระสงฆ์ทั้งนั้นกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ถวายอนุโมทนา พระราชาทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก แล้วเสด็จตามไปส่งพระสงฆ์กลับอารามถึงพ้นอัฒจันทร์พระราชมนเทียร ทรงนมัสการพระสงฆ์ถ้วนทุกรูปแล้วตรัสสรรเสริญคุณพระศรีรัตนตรัย จึงเสด็จกลับเช้าสู่พระราชมนเทียร

เช้าวันนั้น พระนางอสันธิมิตตาราชเทวีเสด็จลุกจากที่บรรทม ทรงชำระพระองค์เสร็จแล้ว ทรงจัดเตรียมข้าวยาคูและอาหารนานาชนิด พร้อมด้วยหมากพลูอังคาสเลี้ยงดูพระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป พระนางทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก แล้วทรงกราบไหว้อำลาพระสงฆ์ เสด็จเข้าสู่พระราชมนเทียร พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ประทับนั่งบนแท่นที่ประทับ ทอดพระเนตรเห็นลำอ้อยที่เหล่าเทวดานำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสวามีนั้น จึงทรงปอกอ้อยท่อนหนึ่ง แล้วเสวยท่ามกลางนางพระกำนัลทั้งหลาย

หลังจากเสด็จตามส่งพระสงฆ์แล้ว พระยาศรีธรรมาโศกราชจึงเสด็จเข้าสู่พระราชมนเทียร ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางประทับนั่งอยู่บนพระแท่น กำลังเสวยอ้อยอยู่ท่ามกลางหมู่พระกำนัลใน พระนางมีพระสิริโฉมเปล่งปลั่งงดงามยิ่ง พระราชามีพระราชหฤทัยเสน่หารักใคร่ยิ่งกว่าพระสนมทั้งหมด จึงตรัสสรรเสริญพร้อมทรงพระสรวลตรัสล้อเล่นว่าใครกันหนอมานั่งกินอ้อยอยู่ท่ามกลางนางสนมเหล่านี้ ซ้ำยังมีในหน้าผุดผ่องสวยงามยิ่ง เธอจะเป็นหญิงหรือเป็นนางระบำที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้น จึงสวยงามสุดที่จะพรรณนาได้เช่นนี้ ในขณะที่ตรัสล้อเล่นนั้น พระองค์ประทับยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของพระนางพอดี เมื่อพระนางอสันธิมิตตาราชเทวีได้ทรงสดับพระราชดำรัสของพระราชสวามีดังนั้น จึงทรงพระดำริว่าพระราชสวามีของเรานี้เสวยราชสมบัติมากมาย ทรงได้เป็นใหญ่เหนือพระราชาและเจ้าพระยาทั้งหลายในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ลงไปถึงเบื้องต่ำใต้แผ่นดินลึก ๑ โยชน์ และแผ่เหนือแผ่นดินไปเบื้องบนอากาศ ๑ โยชน์ บรรดาเทวดา พระยาครุฑ พระยานาค พวกยักษ์ คนธรรพ์ กินนร กินนรี วิทยาธร หมาผี หมาใน ราชสีห์ หมี เสือเหลือง และเสือโคร่ง ต่างก็มากราบไหว้บูชาพระองค์ทั้งสิ้น อีกทั้งช้าง ม้า เสนา พลไพร่ ข้าไทก็มากราบไหว้บูชามากมาย แก้วแหวนเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณก็มีพร้อมมูล ข้าวน้ำก็อุดมสมบูรณ์เต็มยุ้งเต็มฉาง พระราชสวามีของเรานี้เสวยราชสมบัติในกลางชมพูทวีป บรรดาพระราชาสมณพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าต่างมาห้อมล้อมเป็นบริวาร ทรงงดงามเหมือนพระอินทร์ท่ามกลางนางฟ้าเทพธิดาทั้งหลาย และการที่พระองค์เสด็จมาทรงเห็นเรากำลังนั่งกินกินอ้อยอยู่แล้วตรัสถ้อยคำนี้กับเรา พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้เหมือนไม่เคยทรงรู้จักเรามาก่อน ทรงกล่าวเยาะเย้ยถากถางเราเล่นว่ามานั่งกินแต่อ้อยอยู่ฉะนี้ พระองค์ทรงดูถูกดูแคลนเราแน่นอน ไม่เช่นนั้นคงไม่ตรัสคำนี้ออกมา เพราะพระองค์มีพระเกียรติยศบุญญาบารมีราชสมบัติมากมาย จึงทรงกล่าวหาว่าเรานี้เป็นคนไม่มีบุญวาสนา ที่เป็นอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอาศัยพระบุญญาบารมีของพระองค์ช่วยอุดหนุนเกื้อกูลนั่นเอง

เมื่อพระนางอสันธิมิตตาทรงพระดำริดังนั้นแล้ว ทรงขัดเคืองพระทัยในพระยาศรีธรรมาโศกราชผู้เป็นพระราชสวามี กราบทูลตอบไปว่า อ้อยลำนี้ไม่มีใครปลูกไว้ หากแต่เกิดขึ้นเองในป่าหิมพานต์ พวกเทวดานำมาถวาย ด้วยอำนาจบุญกุศลของข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กินอ้อยนี้

ฝ่ายพระยาศรีธรรมาโศกราชครั้นได้ทรงสดับถ้อยคำของพระนางอสันธิมิตตาดังนั้น จึงทรงพระราชดำริว่าพระเทวีนี้คิดว่าตัวเองมีบุญวาสนามากและเข้าใจว่าเรานี้พึ่งในบุญของนาง ครั้นแล้วจึงตรัสประชดพระนางว่า นี่แน่ะเจ้าอสันธิมิตตา เจ้าว่าพวกเทวดานำเอาอ้อยจากป่าหิมพานต์มาถวายเจ้าเพราะอำนาจบุญของเจ้า ส่วนราชสมบัติในชมพูทวีปนี้ เจ้าว่าได้มาเพราะบุญของเจ้าแน่หรือ บุญของเจ้านั้นเจ้ายกยอไว้สูงเลิศเลอถึงชั้นอกนิฏฐพรหม แต่บุญของเราเจ้ากลับกดให้ต่ำลงถึงมหานรกอเวจี ถ้าเจ้าคิดว่ามีบุญมากกว่าเราจริงก็จะเป็นการดีมาก พรุ่งนี้เราจะทดลองบุญของเจ้า พระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป จะมาฉันภัตตาหารเช้า หลังจากเสร็จกิจแล้ว เราจะถวายผ้าไตรจีวร ๖๐,๐๐๐ ไตร พรุ่งนี้เช้าเจ้าจงเร่งจัดหาไตรจีวรให้ทันถวายแก่พระสงฆ์ตามกำหนดเวลาให้จงได้ ถ้าเจ้าจัดหามาได้ เราก็จะยอมเชื่อว่าเจ้ามีบุญจริงและบุญของเจ้าได้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีปจริง แต่ถ้าเจ้าจัดหามาให้ไม่ได้นี้ เราก็จะรู้บุญของเจ้าในวันพรุ่งนี้ ตรัสแล้วก็เสด็จไป

เมื่อพระนางอสันธิมิตตาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงเป็นทุกข์พระทัยยิ่งนัก ทรงดำริว่าพระราชสวามีทรงขุ่นเคืองเราเป็นแน่ พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่าเราโกรธเคืองพระองค์ พระองค์จึงตรัสถ้อยคำเช่นนี้กับเรา พระนางเป็นทุกข์พระทัยหนักขึ้น ทรงทอดถอนพระทัยใหญ่ ทรงกระสับกระส่าย บรรทมไม่หลับ ทรงพลิกพระวรกายไปมาเหนือพระเขนยทองตั้งแต่พลบค่ำจนถึงเที่ยงคืนก็บรรทมไม่หลับ ทรงทอดถอนพระทัยใหญ่พร้อมกับทรงรำพึงว่าเราจะหาผ้าไตรจีวรให้ได้ครบ ๖๐,๐๐๐ ไตรมาจากที่ไหนได้

คืนนั้นเป็นคืบวันเพ็ญ เป็นวันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ ในยามเที่ยงคืน ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จะออกเที่ยวตรวจตราดูโลก ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ นั้น คือ ท้าวกุเวรุราช ท้าวธตรฐราช ท้าววิรูปักขราช ท้าววิรุฬหกราช ในคืนเดือนดับและคืนวันเพ็ญ ข้างขึ้นหรือข้างแรม ๘ ค่ำ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ นั้น จะออกเที่ยวตรวจตราดูคนทำบุญทำบาปในแผ่นดินนี้

ครั้งนั้นท้าวกุเวรุราชหรือเรียกอีกนามหนึ่งว่าพระไพศรพณ์มหาราช พร้อมด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่เป็นบริวาร ทรงยานทิพย์เสด็จไปทางอากาศ จากอาฬกมนทาพิมานด้านทิศเหนือสู่ทิศใต้ เสด็จผ่านหน้าพระบัญชรพระราชมนเทียรที่พระอัครมเหสีอสันธิมิตตาบรรทมอยู่ ทรงได้ยินเสียงทอดถอนพระทัยของพระนางซึ่งกำลังทรงปริวิตกกลัวว่าจะหาผ้าไตรจีวรไม่ได้ครบ ๖๐,๐๐๐ ไตรตามที่พระราชสวามีรับสั่งไว้ ครั้นแล้วพระไพศรพณ์มหาราชจึงเสด็จลงจากยานทิพย์แล้วเสด็จเข้าไปใกล้พระนางตรัสว่า ดูกร พระนางอสันธิมิตตา พระนางอย่าได้ทรงเป็นทุกข์เศร้าโศกไปเลย เมื่อชาติปางก่อนพระนางทรงได้ถวายผ้าเช็ดหน้าแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง บุญกุศลของพระนางที่ได้ทรงบำเพ็ญครั้งนั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก อานิสงส์ผลบุญนั้นจะบังเกิดแก่พระนาง ณ บัดนี้แล้ว เชิญเสด็จมารับเถิด ตรัสแก่พระนางดังนั้นแล้ว พระไพศรพณ์มหาราชจึงทรงนำเอาผอบแก้วทิพย์ใบหนึ่งมาด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ ทรงเปิดฝาผอบแก้วแล้วทรงยื่นส่งให้พระนางอสันธิมิตตาเพื่อทอดพระเนตรดูผ้าทิพย์ในผอบแก้วนั้น พร้อมกับตรัสสั่งว่า ถ้าพระนางมีพระประสงค์ใคร่จะทรงได้ผ้า จงได้เปิดฝาผอบผ้าทิพย์นี้ แล้วจงชักเอาผ้าทิพย์ออกจากผอบแก้วนี้เถิด ไม่ว่าพระนางจะทรงต้องการจำนวนเท่าใดก็จะทรงได้รับทุกอย่าง ไม่มีวันหมดสิ้น ครั้นพระไพศรพณ์มหาราชตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่ยานทิพย์เสด็จกลับสู่อาฬกมนทาพิมาน ด้านเหนือของเขาพระสุเมรุ

วันรุ่งขึ้นพระยาศรีธรรมาโศกราชถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว พระมหาราชาถวายสักการบูชาพระสงฆ์ด้วยธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้และกระแจะจวงจันทน์ของหอมเสร็จแล้ว พระนางอสันธิมิตตาทรงนำเอาข้าวตอกดอกไม้เป็นพู่พวงผูกห้อยร้อยเป็นระเบียบด้วยดี มีสีสันต่าง ๆ กัน ตกแต่งส่วนปลายที่ห้อยย้อยลงทุกอย่าง บรรจุใส่เต็มผอบทองใบใหญ่ ทรงเจิมธูปเทียนด้วยเถ้าจุณจันทน์อันหอมเสร็จแล้ว ทรงนำผอบแก้วที่เต็มด้วยผ้าทิพย์ใส่ไว้ในผอบสุวรรณรัตนะอีกใบหนึ่งทรงปิดครอบไว้ด้วยผอบทอง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นางกำนัลในผู้ไว้วางพระราชหฤทัยถือตามเสด็จไป พระนางเสด็จไปอังคาสถวายภัตตาหารพระสงฆ์พร้อมด้วยบริวาร หลังจากพระสงฆ์ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ถวายสักการบูชาพระสงฆ์ด้วยข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนประทีปชวาลาและธูปที่เจิมด้วยขี้เถ้าจุณจันทน์น้ำหอม ตลอดทั้งหมากพลู เสร็จแล้วจึงประทับรอพระราชาอยู่

ครั้งนั้นพระยาศรีธรรมาโศกราชทอดพระเนตรดูพระพักตร์ของพระนางและตรัสว่า อสันธิมิตตา เจ้าจงเร่งนำผ้าไตรมาให้เรา ๖๐,๐๐๐ ชุด ณ บัดนี้ เรากำลังจะถวายทานนี้ เราจะขอพึ่งบุญของเจ้า จะถวายเป็นไตรจีวรแก่พระสงฆ์ให้ครบ ๖๐,๐๐๐ รูป พระนางอสันธิมิตตาทรงน้อมรับพระบรมราชโองการด้วยความยินดี แล้วกราบทูลว่าหม่อมฉันจะถวายผ้าแก่พระสงฆ์ให้ครบทั้ง ๖๐,๐๐๐ รูป ตามพระราชหฤทัยเถิด ครั้นพระนางกราบทูลแล้วมิทรงรอช้า ทรงเปิดผอบสุวรรณรัตนะที่ใส่ผอบแก้วนั้นออก แล้วทรงนำผอบแก้วทิพย์นั้นขึ้นมาทรงถือชูไว้ด้วยพระหัตถ์เบื้องซ้าย ทรงเปิดฝาผอบแก้วด้วยพระหัตถ์เบื้องขวาแล้วทรงวางไว้ ทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวา ชักผ้าทิพย์ออกจากผอบแก้วนั้นทีละผืน ๆ จนได้ครบเป็นไตรจีวรถวายแก่พระสงฆ์ พระนางถวายผืนหนึ่งก่อน พระยาศรีธรรมาโศกราชทรงรับเอาผ้าผืนหนึ่งถวายแก่พระมหาเถระผู้เป็นประธานสงฆ์มีอายุพรรษาแก่กว่าพระสงฆ์ทั้งหลายก่อน ผ้าผืนนั้นมีสีสดใสงดงามประหนึ่งเกิดมาจากต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งมีในอุตตรกุรุทวีป ต่อจากนั้นพระนางจึงทรงชักเอาผ้าออกจากผอบแก้วนั้นถวายพระสงฆ์ตามลำดับจบครบทั้ง ๖๐,๐๐๐ รูป ถึงแม้นพระนางจะทรงนำเอาผ้าออกจากผอบแก้วมากมายเช่นนั้น ผ้าก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมดสิ้นไปเลย ดูยังเต็มผอบแก้วอยู่เหมือนเดิม มิได้บกพร่องแม้แต่น้อยเลย พระยาศรีธรรมาโศกราชทอดพระเนตรเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์เช่นนั้น ทรงยินดียิ่งนักประทับนั่งอยู่ ทรงนมัสการพระสงฆ์ทั้งหลาย ครั้นพระสงฆ์ถวายอนุโมทนาแล้ว ถวายพระพรลาพระองค์จึงเสด็จไปทรงส่งพระสงฆ์ทั้งหลายถึงประตูพระราชมนเทียร ทรงนมัสการไหว้พระสงฆ์แล้วจึงเสด็จกลับคืนสู่พระราชมนเทียรตามปรกติ

ครั้นพระยาศรีธรรมาโศกราชเสด็จเข้าไปภายในพระราชวังแล้ว ได้ตรัสกับพระนางอสันธมิตตาว่า อสันธิมิตตากัลยาณีทิพย์ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป บรรดาถิ่นฐานบ้านเมือง ปราสาทราชวัง เรือนหลวง ช้างม้า ข้าไท ไพร่พล แก้วแหวนเงินทอง และนางสนมกำนัลทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง เราขอมอบคืนให้แก่เจ้าจงเป็นใหญ่เป็นเจ้าแก่พวกเขาเถิด อีกอย่างหนึ่งนับตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้าเจ้ามีความประสงค์จะทำการสิ่งใด ก็จงทำตามความประสงค์ของเจ้า เราจะไม่ขัดใจ จะตามใจเจ้าทุกอย่าง

นับตั้งแต่นั้นมา พระนางอสันธิมิตตาผู้ทรงเป็นบาทบริจาริกาแห่งพระยาศรีธรรมาโศกราช แม้พระนางจะทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทรงกระทำกิจการที่ทรงพระประสงค์ได้ทุกอย่างก็ตาม แต่พระนางก็มิได้ทรงละเมิดพระราชสวามีแม้แต่น้อยสักครั้งเดียว ถ้าหากพระนางจะทรงกระทำใด ๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็จะต้องกราบบังคมทูลก่อน เมื่อทรงได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระนางจึงจะทรงกระทำ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพระยาศรีธรรมาโศกราชยังมิได้เสวย พระนางจะไม่เสวยก่อนพระราชสวามีเลย ถ้าหากว่าพระยาศรีธรรมาโศกราชยังมิได้บรรทม พระนางก็จะไม่บรรทมก่อนเหมือนกัน ครั้นพระราชสวามีบรรทมหลับแล้ว พระนางจึงจะบรรทมตามภายหลัง

แม้พระนางจะบรรทมภายหลังก็มิได้ทรงตื่นบรรทมกายหลังพระราชสวามีเลยสักครั้งเดียว ย่อมทรงตื่นบรรทมก่อนพระราชสวามีทุกเมื่อ

พระนางเจ้าอสันธิมิตตาราชเทวี มีพระราชจริยาวัตรงดงามน่าเลื่อมใส ทั้งทรงพระปรีชาสามารถเฉลียวฉลาดเป็นที่ลือชาปรากฏ ทรงเป็นที่รักของราษฎรและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า มีพระสหายมากมาย แม้จะตรัสเจรจาปราศรัย พระสุรเสียงสำเนียงก็ไพเราะน่าฟัง ทรงพระวิริยะอุตสาหะมาก มิทรงย่อท้อ มีพระราชศรัทธาบำเพ็ญบุญกุศลอยู่เป็นนิตย์ ทรงได้ราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีพระยาศรีธรรมาโศกราช ภายในปราสาทราชมนเทียรนั้นเอง ทรงเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือนางสนมกำนัลทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง

ครั้งนั้น บรรดาหญิงและนางสนมผู้เคยเป็นพระราชามาก่อน คิดกันว่าพระยาศรีธรรมาโศกราชทรงมีความรักเสน่หา ทรงโปรดปรานแต่พระนางอสันธิมิตตายิ่งนัก ต่างก็ไม่พอใจ มีความอิจฉาริษยา จึงพูดตำหนิว่าสมเด็จพระเจ้าเหนือหัวของพวกเราทรงคิดว่าพระนางอสันธิมิตตาผู้เดียวเท่านั้นทรงเป็นยอดหญิง มีพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ทั้งทรงเป็นกุลสตรีกัลยาณีผู้เลิศเลออีกด้วย ส่วนหญิงคนอื่นชะรอยจะไม่เป็นยอดหญิง ไม่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพระนางได้ ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงไม่ทรงมองดูพวกเราเต็มถึงสองพระเนตร ไม่ทรงอาลัยไยดีต่อพวกเราเลย เรื่องนี้ความทรงทราบถึงพระกรรณพระยาศรีธรรมาโศกราช จึงทรงพระราชดำริว่าการที่พวกนางเหล่านี้กล่าวตำหนิเช่นนั้นเพราะพวกเขาเป็นคนโง่เขลา เป็นคนพาล คอยจ้องแต่จะติเตียนนินทาผู้มีบุญว่าเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง อันสตรีผู้มีบุญบารมีได้สร้างสมมามาก ต้องการสิ่งใดก็จะได้สมดังปรารถนา เช่นเดียวกับพระนางอสันธิมิตตานี้ นางพวกนี้ยังไม่รู้จักผู้มีบุญเลย เพราะเป็นคนพาลโง่เขลาเบาปัญญา เราจะแสดงให้พวกเขาได้เห็นประจักษ์ว่าพระนางอสันธิมิตตาเป็นผู้มีบุญจริง ๆ

ในวันหนึ่งพระยาศรีธรรมาโศกราชมีรับสั่งให้นำขนมต้มมา ๑๖,๐๐๐ ลูก ทรงถอดพระธำมรงค์วงหนึ่งออกจากพระกร แล้วทรงใส่เข้าไว้ในขนมลูกหนึ่ง เสร็จแล้วทรงวางขนมลูกที่มีพระธำมรงค์นั้นไว้บนขนมลูกอื่น ๆ ครั้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนางสนมทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง มาชุมนุมพร้อมกัน แล้วจึงตรัสว่า น้องนางทั้งหลาย เจ้าจงเลือกขนมต้มในตะไลทองนั้นไว้คนละ ๑ ลูก เมื่อเลือกได้ครบทุกคนทั้ง ๑๖,๐๐๐ ลูกแล้วก็จะเหลือขนมต้มอยู่อีกเพียงลูกเดียวเป็นลูกสุดท้าย เราจะให้พระนางอสันธิมิตตารับเอาขนมลูกสุดท้ายนั้นไว้ ขนมต้มทั้ง ๑๖,๐๐๐ ลูกกับเศษอีกหนึ่งลูกนั้น เราใส่พระธำมรงค์ของเราไว้ภายในอยู่ลูกหนึ่ง แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าสตรีนางใดมีบุญญาบารมีขอให้หยิบได้ขนมลูกที่มีพระธำมรงค์เถิด พวกเจ้าก็จงพากันตั้งใจอธิษฐานนึกเอาแล้วเลือกหยิบเอาคนละหนึ่งลูกตามใจชอบเถิด

ลำดับนั้นนางสนมทั้งหลายจึงเลือกหยิบเอาขนมต้มในตะไลทองคนละลูกจบครบทั้ง ๑๖๐๐๐ บาง จึงยังคงเหลือขนมต้มอยู่ในตะไลทองเพียงลูกเดียว

พระยาศรีธรรมาโศกราชจึงรับสั่งให้อสันธิมิตตาราชเทวีทรงไปรับขนมต้มลูกสุดท้ายนั้น ทรงพระดำเนินไปด้วยพระราชอิริยาบถอันงดงาม ทรงหยิบเอาขนมต้มลูกนั้นมาทรงถือไว้ในพระหัตถ์ ต่อจากนั้นพระยาศรีธรรมาโศกราชจึงตรัสแก่นางสนมเหล่านั้นว่า พวกเจ้ามีขนมต้มอยู่ ในมือทุกคน จงบิขนมต้มของตนออกมาดู ถ้าผู้ใดได้พระธำมรงค์ของเราจงนำเอามาคืนให้เรา เราจะได้รู้ว่าผู้นั้นเป็นคนมีบุญจริง เมื่อนางสนมทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง บิขนมต้มในมือของตนออกดูก็ไม่พบพระธำมรงค์แม้แต่คนเดียว พระยาศรีธรรมาโศกราชจึงทรงจับเอาขนมต้มลูกที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระนางอสันธิมิตตาราชเทวีมาแล้วทรงบิออกต่อหน้านางสนมทั้งหลาย ตรัสเรียกให้เข้ามาดูใกล้ ๆ ทรงนำพระธำมรงค์ออกจากขนมต้มลูกนั้นต่อหน้านางสนมทุกคน แล้วตรัสว่า พระนางอสันธิมิตตานี้ทรงมีบุญมากกว่าเจ้าทุกคน แต่พวกเจ้าไม่รู้ว่าพระนางได้ทรงบำเพ็ญกุศลมาแล้วแต่ชาติปางก่อน พวกเจ้าตำหนิติเตียนกล่าวขวัญเราว่ารักและโปรดปรานพระนางเพียงผู้เดียว วันนี้เราจึงแสดงบุญของพระนางให้พวกเจ้าได้เห็นประจักษ์กันทุกคน

เมื่อพระนางอสันธิมิตตาได้ทรงสดับพระบรมราชโองการที่ทรงประกาศพระบุญญาบารมีของพระนางให้ปรากฏนั้น พระนางมีพระประสงค์ใคร่จะทรงแสดงบุญบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญแต่อดีตชาติปางก่อนให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งชัด จึงทรงถือผอบแก้วด้วยพระหัตถ์เบื้องซ้าย ทรงชักผ้าทิพย์ออกจากผอบแก้วนั้นด้วยพระหัตถ์เบื้องขวาได้จำนวน ๑๐๐๐ ผืน จึงทรงนำมาถวายพระยาศรีธรรมาโศกราชต่อหน้านางสนมทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง ทรงชักผ้าทิพย์ออกจากผอบแก้วนั้นอีก แล้วพระราชทานแก่เจ้าพระยาผู้ทรงปกครองหัวเมืองชนบทต่าง ๆ องค์ละ ๕๐๐๐ ผืน พระราชทานแก่พระยุพราชรัชทายาทแห่งเจ้าพระยาเหล่านั้นองค์ละ ๑๐๐ ผืน พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ประจำราชตระกูลองค์ละ ๕๐ ผืน พระราชทานแก่พระชายาเจ้าพระยาตามหัวเมืองชนบทต่าง ๆ องค์ละ ๕๐ ผืน พระราชทานแก่องคมนตรีและเสนาบดีคนละ ๕๐ มีน พระราชทานแก่นางสนมทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง คนละ ๒๕ ผืน พระราชทานแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรและพสกนิกรทั้งหญิงและชายทุกคนที่อยู่ในเมืองปาตลีบุตรมหานครนั้นคนละ ๒๒ ผืน

ในกาลครั้งนั้น พระยาศรีธรรมาโศกราชและเจ้าพระยาสามันตราชซึ่งปกครองหัวเมืองรอบนอก ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีทแกล้วทหารไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ที่มาประชุมพร้อมกันอยู่ ณ สถานที่นั้น ต่างก็ได้เห็นพระนางอสันธิมิตตาทรงชักผ้าทิพย์ออกจากผอบแก้วลูกเดียวนั้นไม่รู้จักหมดสิ้นไปเลยดังนั้นรู้สึกฉงนอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ต่างโห่ร้องเปล่งเสียงสาธุการ ถวายพระพรกันกึกก้องไปทั่วแผ่นดินเมืองปาตลีบุตรมหานครทีเดียว

ครั้นพระยาศรีธรรมาโศกราชได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งแปลกซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อนเช่นนั้น ยิ่งทรงอัศจรรย์ใจเป็นทวีคูณ มีพระราชประสงค์ใคร่จะทรงทราบมูลเหตุบุญบารมีของพระนางที่ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ปางก่อน จึงตรัสถามว่า นางอสันธิมิตตาราชเทวี ผอบแก้วที่เราเห็นเจ้าได้มานี้ ดูแล้วช่างน่าพิศวงแก่ใจเราเหลือเกิน เพราะว่าเราไม่รู้เรื่องผอบแก้วนี้มาก่อน เจ้าได้สิ่งวิเศษนี้มาจากไหน เชิญเจ้าจงบอกเรามาเถิด เราจะขอชมบุญเจ้า

เมื่อพระนางอสันธิมิตตาราชเทวีจะทรงแสดงบุญบารมีของพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน จึงทรงกราบทูลว่า เมื่ออดีตชาติปางก่อนนั้น หม่อมฉันได้ถวายผ้าผืนหนึ่งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง พระไพศรพณ์มหาราชทรงเป็นทิพยพยานแก่หม่อมฉัน เมื่อพระองค์มีพระบัญชารับสั่งให้หม่อมฉันจัดหาผ้าไตรจีวรให้ได้ครบ ๖๐,๐๐๐ ไตร เพื่อถวายพระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูปนั้น หม่อมฉันมีความทุกข์โศกร้อนใจเป็นกำลัง นอนกระสับกระส่ายไปมาอยู่บนที่นอน จนดึกดื่นเที่ยงคืนก็หลับไม่ลง คืนนั้นพระไพศรพณ์มหาราชเสด็จผ่านหน้าต่างปราสาทที่หม่อมฉันกำลังนอนอยู่ พร้อมด้วยยักษ์บริวาร ทรงได้ยินเสียงถอนใจคิดหาผ้าไตรจีวรของหม่อมฉันอยู่นั้น จึงเสด็จลงจากยานทิพย์เสด็จเข้าไปตรัสแก่หม่อมฉันว่า พระนางอสันธิมิตตาราชเทวี พระนางทรงอย่าได้มีความทุกข์โศกไปเลย ขอจงทรงนึกย้อนหลังไปถึงอดีตชาติก่อนโน้น ว่าทรงได้ถวายทานเป็นผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ขอพระนางเจ้าอย่าได้ทรงวิตกร้อนพระทัยในเรื่องนี้ไปเลย อานิสงส์ผลบุญของพระนางที่ได้ถวายผ้าเช็ดหน้าแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีตนั้นจะบันดาลให้พระนางทรงได้รับผ้าทิพย์ในบัดนี้ ครั้นตรัสดังนั้นแล้ว พระไพศรพณ์มหาราชจึงพระราชทานผอบแก้วใบหนึ่งใส่ไว้ในมือของหม่อมฉัน พร้อมกับตรัสสั่งว่า ถ้าพระนางมีพระประสงค์ใคร่จะทรงได้ผ้า จงทรงถือผอบแก้วนี้ด้วยพระหัตถ์เบื้องซ้าย ทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวาจับชายผ้าทิพย์ชักออกจากผอบแก้วเถิด นับตั้งแต่หม่อมฉันได้ผอบแก้วนี้มาเป็นสมบัติของตน ไม่ว่าหม่อมฉันจะต้องการผ้าจำนวนเท่าใดหรือสีสันชนิดไหนก็จะได้สมตามใจปรารถนาทุกประการ เช่นถ้าต้องการผ้าสีขาว ผ้าสีแดง ผ้าสีดำ ผ้าสีเหลือง ผ้าสีแดงอ่อน หรือผ้าสีต่างๆ ทุกสี ก็จะได้ดังใจนึกทุกอย่าง ถ้าหม่อมฉันต้องการจะนำผ้าจากผอบแก้วออกปูลาดให้ทั่วพื้นชมพูทวีปซึ่งกว้างได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์นี้ ก็จะสามารถปูลาดได้ทั่วทั้งหมดทีเดียว ผ้าในผอบแก้วจะไม่มีวันหมดสิ้นไปเลย ทั้งนี้เพราะอำนาจผลบุญที่หม่อมฉันได้ถวายผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ชาติก่อนนั้นได้ส่งผลให้หม่อมฉันจนถึงทุกวันนี้

เมื่อพระนางอสันธิมิตตาได้ทรงแสดงผลบุญที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่อดีตชาติแด่พระราชาให้ทรงได้ทราบโดยประจักษ์เป็นที่ชื่นชมแล้ว จึงถวายคติธรรมเป็นสุภาษิตสืบต่อไปว่า บรรดาเทวดาและมนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ยากนักที่จะได้พบพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ผู้ใดมีปัญญาเฉลียวฉลาดรู้หลักธรรมคำสอน เร่งขวนขวายให้ทานรักษาศีลและเจริญภาวนาบ่อย ๆ ก็จะได้บรรลุถึงนวโลกุตรธรรมทั้ง ๙ อย่าง นำตนเข้าสู่ประตูพระนครแห่งนิพพาน ผู้ที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในแผ่นดินนี้หาได้ยากอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่เป็นมนุษย์ได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีใจเลื่อมใสศรัทธา ยึดมั่นในศีลธรรม รู้หลักธรรม เชื่อผลบุญผลบาป ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่เสมอ ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมานี้หาได้ยากยิ่ง อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามนุษย์มีใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อบุญ เชื่อบาป รู้หลักธรรมเป็นอย่างดี ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท นำพระธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติ เช่นนี้ก็จัดว่าหาได้ยากยิ่ง และถ้าได้ฟังธรรมแล้ว จดจำพระธรรมคำสอนนั้นเป็นอย่างดี นำไปแนะนำพร่ำสอนผู้อื่นให้รู้ตามสืบต่อไป อย่างนี้ก็จัดว่าหาได้ยากอย่างยิ่ง การได้อัตภาพหรือร่างกายเกิดมาเป็นคนนี้ก็จัดว่าหาได้ยากยิ่งเช่นกัน เรื่องทุกอย่างตามที่หม่อมฉันได้กราบทูลมานี้ พระองค์ก็ทรงทราบมาแล้วเป็นอย่างดีว่าหาได้ยากยิ่งจริง ๆ ด้วยเหตุนี้แหละ หม่อมฉันจึงทำผิดล่วงละเมิดพระบรมราโชวาท บังอาจทูลถวายข้อแนะนำแก่พระองค์ซึ่งเป็นสิ่งมิบังควรเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอพระองค์จงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระพุทธศาสนา จงทรงเร่งสดับพระธรรมอันประเสริฐ จงทรงรักษาศีล จงทรงทำบุญให้จงหนักในพระพุทธศาสนาเถิด เพราะว่าทั้งหม่อมฉันและพระองค์จะมีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนานั้นดูช่างหายากยิ่งนัก บุญและธรรมที่ได้บำเพ็ญในสำนักของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย เป็นอานิสงส์ผลบุญมากมายยิ่ง ต่อจากนี้ไปเบื้องหน้า ขอพระองค์จงทรงหมั่นบำเพ็ญบุญ จงทรงหมั่นบริจาคทาน จงทรงหมั่นสดับพระธรรม จงทรงหมั่นรักษาศีล ทรงเอาพระทัยใส่ให้ดีอย่าได้ทรงทอดธุระ โปรดอย่าได้ทรงโกรธแค้นผู้ใด จงทรงคบหาพระสหายผู้ดีมีศีลธรรมเถิด อย่าได้ทรงมีความประมาทในธรรมทุกเมื่อเลย

ครั้นพระยาศรีธรรมาโศกราชได้ทรงสดับคำอนุโมทนาเป็นคติธรรมน่านิยมของพระนางอสันธิมิตตาราชเทวีเช่นนั้น จึงตรัสกับพระนางว่านับแต่นี้ต่อไปเราจะเชื่อฟังเจ้า ผิดชอบชั่วดีอย่างไร ขอให้น้องนางผู้มีบุญจงว่ากล่าวตักเตือนเราได้ทุกเมื่อ เราจะเชื่อฟังเจ้าทุกอย่าง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระยาศรีธรรมาโศกราชผู้ทรงพระราชอำนาจนั้นมีพระบุญญาบารมีมาก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ เป็นต้นว่าทรงสร้างพระมหาธาตุ (พระมหาเจดีย์) ๘๔,๐๐๐ องค์ ในกลางชมพูทวีปทั่วทุกพระนคร ทรงสร้างพระมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง (ตำบล) ทรงอังคาสถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป เป็นประจำ วันละ ๖๐,๐๐๐ สำรับ ด้วยประการฉะนี้ พระเกียรติยศเกียรติศักดิ์ตลอดทั้งราชสมบัติของพระองค์บรรดามีที่ทรงจัดไว้สำหรับอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และอังคาสเลี้ยงดูพระสงฆ์เป็นประจำทุกวันนั้นมีมากมาย จัดอยู่ในสมบัติของจุลจักรพรรดิราชทีเดียว

บรรดาผู้มีบุญญาบารมีมาก มีลาภยศอันยิ่งใหญ่ มีสมบัติมากมายในแผ่นดินนี้ก็จะยังมีไม่เท่าราชสมบัติปกติของพระเจ้าจักรพรรดิและจุลจักรพรรดิสักแห่งเดียว แต่ก็ยังมีพระบรมราชผู้มีพระบุญญาธิการ มีพระมหิทธาภินิหารมาก ทรงพระเกียรติยศ พระเกียรติศักดิ์ยิ่งใหญ่ไพศาล และทรงมีราชสมบัติมากมากยิ่งกว่าราชสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิและจุลจักรพรรดิทั้งสองนั้นอยู่ คือพระเจ้ามันธาตุราช พระองค์มีพระบรมเดชานุภาพแผ่คลุมไปถึงเทวโลกทีเดียว เพราะนอกจากพระองค์จะได้เสวยราชสมบัติในมหาทวีปทั้ง ๔ ในมนุษย์โลกแล้ว ยังได้เสวยทิพย์สมบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชและชั้นดาวดึงส์อีกด้วย ทรงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติทิพย์ ทรงมีนางฟ้าเทพธิดาผู้มีรูปโฉมมีในหน้าพริ้มเพราเฉิดฉายงามยิ่งห้อมล้อมเป็นบริวาร อีกทั้งหมู่ เทวดาต่างก็มากราบไหว้สักการบูชาทุกคืนนั้น เหมือนขุนนางทั้งหลายเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิฉะนั้น พระบุญญาบารมีของพระองค์นั้นมีมากมายเหลือล้นสุดที่จะพรรณนา และสามัญชนผู้มีบุญบารมีมาก มีทรัพย์สมบัติและข้าทาสบริวารมาก เทียบได้กับพระราชาผู้ประเสริฐก็มีอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น โชติกเศรษฐี ชาวเมืองราชคฤห์ เป็นต้น

โชติกเศรษฐี

ครั้งนั้นยังมีเศรษฐีคนหนึ่งมีนามว่าโชติกเศรษฐี อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ เขามีปราสาทสูง ๗ ชั้น ประดับตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการ พื้นภายในบ้านเป็นแก้วผลึกอันสุกใสแวววาวงดงามยิ่ง เหมือนหน้าแว่นที่ขัด ๑,๐๐๐ ครั้ง บ้านนั้นล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ๗ ชั้น ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ในระหว่างกำแพงนั้นมีต้นกัลปพฤกษ์เรียงรายเป็นแถวจรดถึงมุมปราสาททั้ง ๔ มุม และมีขุมทองอยู่มุมละ ๑ ขุม ซึ่งกว้าง ๘,๐๐๐ วา ๔,๐๐๐ วา และ ๒,๐๐๐ วา ตามลำดับ ทั้ง ๔ ขุมนั้นลึก ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ทุกขุมเต็มไปด้วยกองเงินกองทองและกองแก้ว ๗ ประการ จนล้นปากขุมขึ้นมาเหมือนกองลูกตาลไว้ แม้จะตักสักเท่าใดก็ไม่มีวันพร่อง แก้วแหวนเงินทอง ที่อยู่ภายใต้ก็จะเกิดพอกพูนจนเต็มขุมดังเดิม เหมือนน้ำไหลซึมออกมา ในมุมปราสาททั้ง ๔ มุมนั้น มีลำอ้อยทองลำใหญ่เท่าลำตาลขนาดใหญ่ ประจำมุมอยู่มุมละ ๑ ลำ เป็นแก้วมณีทองคำล้วน ที่ปากทางเข้าออกประตูกำแพงทั้ง ๗ ชั้น มียักษ์ใหญ่ ๗ คน พร้อมด้วยบริวารเฝ้าอยู่ที่ปากประตู ชั้นนอกมียักษ์ชื่อยมโกลิ พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูถัดไปเข้าไปชั้นที่ ๒ มียักษ์อุปละ พร้อมด้วยบริวาร ๒,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูชั้นที่ ๓ มียักษ์ทมิฬ พร้อมด้วยบริวาร ๓,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูชั้นที่ ๔ มียักษ์วชิรวามะ พร้อมด้วยบริวาร ๔,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูชั้นที่ ๕ มียักษ์สกนะ พร้อมด้วยบริวาร ๕,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตู ชั้นที่ ๖ มียักษ์กตารตะ พร้อมด้วยบริวาร ๖,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูกำแพงแก้วชั้นที่ ๗ มียักษ์ทิศาปาโมกข์ พร้อมด้วยบริวาร ๗,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่

สมบัติของโชติกเศรษฐีนั้นมีมากมายเหลือคณนา ชนทั้งหลายจึงนำเรื่องของเขาขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองนครราชคฤห์ให้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระกรุณาให้นำเศวตฉัตรมาพระราชทานแก่โชติกเศรษฐี แล้วทรงสถาปนาให้เป็นเศรษฐีในเมืองราชคฤหนั้น ภรรยาของโชติกเศรษฐีเป็นนางแก้วมาจากอุตตรกุรุทวีป นางได้นำหม้อข้าวหม้อแกงมาด้วยลูกหนึ่ง พร้อมด้วยก้อนเส้าเท่าลูกฟักมาด้วย ๓ ก้อน ก้อนเส้านี้ชื่อโชติปาสาณ และนำข้าวสารมาด้วย ๓ ทะนาน ข้าวสารพันธุ์ข้าวสาลี (สัญชาติสาลี) ๒ ทะนาน ข้าวนั้นมีกลิ่นหอมและรสอร่อยยิ่งนัก ข้าวสาร ๒ ทะนานหุงให้โชติกเศรษฐีรับประทานได้ตลอดชั่วชีวิตก็ไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อนำเอาข้าวสารมาใส่หม้อ ข้าวสารก็เติมทะนานขึ้นมาเหมือนเดิมไม่หมดสิ้นไป หากจะตักออกใส่เกวียนให้เต็ม ๑๐๐๐ เล่มเกวียน ข้าวสาร ๒ ทะนานก็ไม่พร่อง ยังเติมอยู่เหมือนเดิม เมื่อจะหุงข้าว นำข้าวสาร ๒ ทะนานใส่ลงในหม้อแก้วแล้วยกขึ้นตั้งบนก้อนเส้าแก้วโชติปาสาณชั่วเวลาไม่นาน ไฟจะลุกขึ้นที่ก้อนเส้าแก้วเอง เมื่อข้าวสุกไฟก็จะดับไปเองเช่นกัน เมื่อจะต้มแกงหรือทำขนมข้าวต้มของกินอย่างอื่นก็ทำเช่นเดียวกัน

บรรดาสิ่งของภายในปราสาทและบ้านเรือนของเศรษฐีรุ่งเรืองไปด้วยรัศมีแก้ว โดยไม่ต้องตามประทีปโคมไฟและจุดเทียน ความมั่งมีของโชติกเศรษฐีนี้เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป มหาชนทั้งหลายต่างพากันขึ้นยานคานหามมาดสมบัติของโชติกเศรษฐี โชติกเศรษฐีจึงให้หุงข้าว ๒ ทะนานที่ภรรยานำมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้น เลี้ยงดูผู้คนที่มาดูและเยี่ยมเยียนทั่วถึงทุกคน ให้นำเอาเครื่องถนิมพิมพาภรณ์จากต้นกัลปพฤกษ์มามอบให้ผู้มาดูโดยทั่วถึงทุกคน แล้วจึงเปิดขุมทองกว้าง ๒ วาออกให้ดู พร้อมกับกล่าวว่า ผู้ใดอยากได้แก้วแหวนเงินทองจำนวนเท่าใดจงเก็บเอาได้ตามใจซอบ ผู้คนในชมพูทวีปต่างมาตักเอาโกยเอาแก้วแหวนเงินทองในขุมทองขุมเดียวกันนั้น แก้วแหวนเงินทองก็จะไม่พร่องแม้เพียงฝ่ามือเดียว

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารผู้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองราชคฤห์ทรงมีพระประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรสมบัติของโชติกเศรษฐี จึงเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เมื่อเสด็จถึงปากประตูกำแพงแก้วชั้นนอก ได้ทอดพระเนตรเห็นนางทาสีกำลังปัดกวาดบ้านอยู่ รูปสวยงามมาก นางได้ยื่นมือออกให้พระราชาทรงเหนี่ยวขึ้นที่ปากประตู ความงามของนางทำให้พระราชาทรงเข้าพระทัยว่านางเป็นภรรยาของเศรษฐี ทรงนึกเกรงใจและอาย จึงมิได้ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปจับแขนนางทาสีนั้น

บรรดาสตรีที่ปัดกวาดอยู่ที่ปากประตูด้านนี้ พระราชาทรงเห็นงามทุกคน ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นภรรยาของโชติกเศรษฐีทุกคน จึงมิทรงแตะต้องทาสีเหล่านั้นแม้แต่คนเดียว ต่อมาโชติกเศรษฐีจึงออกมารับเสด็จพระเจ้าพิมพิสารถึงประตูชั้นนอกปราสาท ทูลเชิญให้เสด็จนำหน้า ส่วนตนเดินตามเสด็จ เมื่อพระราชาทรงพระดำเนินเข้าไปโนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพื้นปราสาท ประดับด้วยแก้วมณีรัศมีรุ่งเรืองตลอดทะลุลงไปเบื้องต่ำ เหมือนหลุมที่ลึกลงไปถึง ๗ ช่วงตัว จึงทรงพระราชดำริว่าเศรษฐีนี้ขุดหลุมไว้ล่อให้พระองค์ตกลงไป จึงทรงหยุดยืนคอย ฝ่ายโชติกเศรษฐีเมื่อเห็นพระราชาทรงหยุดยืนเช่นนั้น จึงกราบทูลว่าอันนี้ไม่ใช่หลุมแต่เป็นแก้วมณี ขออัญเชิญพระองค์เสด็จตามมา กราบทูลดังนั้นแล้วเศรษฐีจึงนำเสด็จพระองค์ไป เศรษฐีเหยียบที่ใดพระราชาทรงเหยียบตามที่นั้น ทรงพระดำเนินตามเศรษฐีทอดพระเนตรปราสาทตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นบน

ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเกาะมือตามเสด็จพระราชบิดา ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปราสาทงดงาม จึงทรงพระราชดำริว่าพระราชบิดาของเรานี้ยังไม่นับว่าเป็นใหญ่จริง เพราะยังประทับอยู่ในปราสาทไม้ แต่เศรษฐีคนนี้กลับได้อยู่ในปราสาทแก้ว ๗ ประการ ถ้าเราได้เป็นพระราชาเมื่อใดจะมายึดเอาปราสาทนี้ไปเป็นของเราให้จงได้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จพระดำเนินทอดพระเนตรไปถึงชั้นสุดท้าย ได้เวลาเสวยพระกระยาหารเช้าพอดี พระองค์จึงตรัสแก่เศรษฐีว่าฉันจะกินข้าวเช้าที่บ้าน เศรษฐีกราบทูลรับว่ายินดี

เศรษฐีจึงอัญเชิญพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงสรงน้ำอันหอม แล้วอัญเชิญเสด็จขึ้นประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ทองซึ่งอยู่บนบัลลังก์แก้ว ๗ ประการ อันเป็นบังลังก์ที่เศรษฐีเคยนั่ง ฝ่ายคนครัวจัดเตรียมอาหารและข้าวกิลินปายาส (ข้าวปายาสอุ่น) ใส่เต็มตะไลมีค่าล้านตำลึง แล้วนำมาตั้งไว้เบื้องพระพักตร์ พระพิมพิสารทรงเข้าพระทัยว่าเป็นข้าวสำหรับเสวย จึงทรงล้างพระหัตถ์เพื่อเตรียมเสวย เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกราบทูลห้ามว่า ข้าวนี้ไม่ใช่พระกระยาหาร เป็นข้าวกิลินปายาสที่จัดไว้เพื่อรองตะไลข้าวสำหรับเสวยอีกทีหนึ่ง ป้องกันมิให้ข้าวเย็น ครั้นกราบทูลดังนั้นแล้ว เศรษฐีจึงให้นำข้าวสำหรับเสวย หุงด้วยข้าวสารที่นำมาจากอุตตรกุรุทวีปใส่เต็มตะไลทองอีกลูกหนึ่ง มาตั้งเหนือตะไลข้าวกิลินปายาสนั้น แล้วกราบทูลอัญเชิญพระราชาเสวย พระราชาเสวยแล้วได้รับรสโอชายิ่งนัก ไม่มีอาหารชนิดใดอร่อยเท่า เสวยเท่าใด ๆ ก็ไม่ทรงรู้อิ่ม เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกราบทูลห้ามว่า เสวยมากแล้วขอได้โปรดเสวยแต่พอประมาณเถิด ถ้าเสวยมากอาจทำให้ทรงพระประชวร จะเป็นโทษแก่พระองค์ได้ พระเจ้าพิมพิสารตรัสตอบว่า เศรษฐีคิดเสียดายข้าวที่เรากิน กลัวว่าเราจะกินข้าวท่านหมดเปลืองไปมากหรือ เศรษฐีกราบทูลว่ามิได้เสียดายกลัวจะหมดเปลืองเพราะเพียงข้าวและแกงหม้อเดียว หากรี้พลบ่าวไพร่ข้าไทของพระองค์จะมารับประทานมากเท่าใด ข้าวและกับก็จะไม่พร่องจากหม้อเลย การที่กราบทูลห้ามไว้เพราะกลัวว่า พระองค์จะเสวยพระกระยาหารมากเกินประมาณ การที่พระองค์เสด็จมาเรือนของข้าพระพุทธเจ้า ถ้าทรงพระเกษมสำราญก็นับว่าเป็นโชคลาภ แต่ถ้าพระองค์ทรงมีอันเป็นไปในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายจะพากับตำหนิว่า การที่พระองค์ทรงมีอันเป็นไปนั้น สาเหตุมาจากการเสด็จไปบ้านของโชติกเศรษฐี ถูกเศรษฐีประทุษร้าย

พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสตอบว่าดีแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะกินเพียงเท่านี้ แล้วพระองค์ทรงหยุดเสวยทันที หลังจากนั้นเศรษฐีจึงให้จัดหาอาหารมาเลี้ยงดูข้าราชบริพารที่ตามเสด็จให้อิ่มหน่ำสำราญกับทุกคน ตลอดทั้งชาวเมืองผู้มาเยี่ยมเยียน เศรษฐีก็เลี้ยงดูด้วยข้าวและแกงหม้อเดียว แม้จะตักออกเท่าใดก็ยังเต็มอยู่เหมือนเดิม ไม่มีหมดสิ้น

พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า ท่านเศรษฐีมีภรรยาไหม เศรษฐีทูลตอบว่ามี เป็นนางแก้วมาจากอุตตกุรุทวีป พระราชาถามว่านางแก้วภรรยาท่านอยู่ที่ไหน เศรษฐีทูลตอบว่า นางนอนอยู่ในปราสาท ตอนแรกที่พระองค์เสด็จมาถึง ข้าพระพุทธเจ้ากำลังอยู่ในสุขสมบัติ จึงไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมา

เมื่อกราบทูลดังนั้นแล้ว เศรษฐีก็คิดว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรภรรยาของตน จึงกราบทูลว่าจะไปนำภรรยามาเฝ้า

จากนั้นจึงลุกไปหาภรรยาในปราสาท แล้วกล่าวกับนางว่า พระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งราชคฤห์มหานคร ได้เสด็จมาถึงปราสาทของเราแล้ว ขณะนี้ประทับอยู่ห้องข้างนอก พี่ได้ถวายพระกระยาหารแล้ว เชิญออกไปเฝ้าพระองค์เถิด นางจึงถามว่าพระราชาผู้นั้นเป็นใครจึงจะให้ออกไปถวายบังคม เศรษฐีกล่าวตอบว่าพระองค์ทรงเป็นใหญ่อยู่ในเมืองนี้ ทรงเป็นเจ้าเหนือหัวของพวกเราทุกคน ใครหรือจะไม่รู้จักพระองค์ นางจึงกล่าวว่าน้องอยู่มาทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่ามีเจ้าเหนือหัวปกครองเราอยู่ เพิ่งมารู้วันนี้เอง บุญของเรามีถึงเพียงนี้นับว่ายังน้อยอยู่ จึงมีเจ้าเหนือหัวผู้ยิ่งใหญ่กว่า อาจเป็นเพราะเราทำบุญแต่อดีตชาติปางก่อนมิได้ทำด้วยศรัทธา มาชาตินี้เราจึงมีเจ้าที่เหนือกว่า ถ้าเราทำบุญด้วยศรัทธาอันมั่นคง เราก็จะไม่มีเจ้าเหนือหัวมาปกครอง เพราะท่านจักได้เป็นเจ้าแห่งคนทั้งหลายเสียเอง เหมือนพระราชาพระองค์นี้ นางจึงถามต่อไปว่า เมื่อท่านจะให้ไปเฝ้าพระราชา ควรจะให้ปฏิบัติอย่างไร วางตัวอย่างไร โปรดสั่งมาเถิด เศรษฐีจึงสั่งภรรยาว่าเมื่อเฝ้าแล้วจงนั่งถวายงานพัดเถิด นางออกไปเฝ้าพระราชาแล้วถือพัดใบตาลแก้วถวายงานพัดอยู่ ลมได้พัดเอากลิ่นธูป[๙]ที่อบผ้าทรงและผ้าโพกศีรษะของพระราชามาเข้าตานาง ทำให้นางรู้สึกแสบตา น้ำตาไหลพราก นางจึงยกผ้าขึ้นซับน้ำตา พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงเข้าพระทัยว่านางร้องไห้ จึงตรัสแก่โชติกเศรษฐีว่า ภรรยาของเจ้านี้ไม่น่ารัก นางเห็นเรามาบ้านคงนึกว่าเราจะมาแย่งชิงเอามหาสมบัติของนาง นางจึงร้องไห้ แต่เรามาคราวนี้หวังจะมาชมบุญของเจ้าต่างหาก เจ้าจงปลอบใจอย่าให้นางร้องไห้เลย

เศรษฐีกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองเป็นผู้น้อย นางมิได้ร้องไห้ แต่เป็นเพราะไอกลิ่นธูปซึ่งอบเครื่องทรงของพระองค์มาเข้าตานาง เพราะอบด้วยไฟ ทำให้นางแสบตาน้ำตาไหล เพราะในปราสาทนี้จะหุงต้มหรืออบสิ่งใดก็อาศัยแสงแก้วมณีรัตนะทั้งสิ้น ไม่เคยอาศัยไฟเลย แต่ในปราสาทของพระองค์อาศัยแต่แสงไฟ

เศรษฐีกราบทูลต่อไปว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป พระองค์จะได้ทรงอาศัยแสงแก้ว เลิกอาศัยแสงไฟ ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว เศรษฐีจึงถวายแก้วดวงหนึ่งโตเท่าแตงโมลูกใหญ่ มีค่าเหลือคณนา

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรมหาสมบัติของโชติกมหาเศรษฐีซึ่งมีมากมายเหลือที่จะประมาณแล้ว มีพระราชหฤทัยชื่นชมโสมนัสยิ่ง เสด็จออกจากปราสาทของเศรษฐีกลับสู่พระราชมนเทียรพร้อมด้วยข้าราชบริพาร

พระเจ้าอชาตศัตรูกราบบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาว่า สมบัติมากมายมหาศาลของเศรษฐีนั้น ไม่เหมาะสมกับเศรษฐีผู้อาศัยอยู่ในเมืองของเรานี้ เราควรจะไปชิงเอามาเป็นราชสมบัติทั้งหมด พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่าลูกจะชวนพ่อชิงเอาสมบัติของโชติกเศรษฐีนั้นเป็นการไม่ชอบธรรม เพราะสมบัติเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีของเราทั้งสอง หากแต่สมบัตินั้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจบุญบารมีของโชติกเศรษฐี เพราะได้เคยทำบุญมาแต่ชาติปางก่อน ดังนั้นพระวิษณุกรรมจึงเนรมิตให้ มิใช่ได้มาด้วยเหตุอื่น การที่เราจะชิงเอามาเป็นราชสมบัตินั้นไม่สมควร

เมื่อกาลเวลาล่วงมา พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงคุ้นเคยกับพระเทวทัต นับถือเป็นครู พระเทวทัตได้เสี้ยมสอนยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูชิงเอาราชสมบัติและฆ่าพระราชบิดาเสีย พระเจ้าอชาตศัตรูครั้นได้ราชสมบัติแล้ว ทรงรำพึงในพระทัยว่า คราวนี้จะไปชิงเอาปราสาทแก้วของโชติกเศรษฐีมาเป็นของเราเสีย ทรงพระราชดำริดังนั้นแล้วจึงคุมกองทหารออกไปล้อมบ้านโชติกเศรษฐีไว้ วันนั้นเป็นวันพระ โชติกเศรษฐีรับประทานอาหารแล้วก็ไปยังพระเวฬุวันมหาวิหารเพื่อรักษาศีล ๘ และฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ทรงทราบว่าเศรษฐีไปฟังธรรม ทรงเข้าพระทัยว่าเศรษฐีอยู่ในปราสาท จึงนำรี้พลไปล้อมกำแพงแก้วชั้นนอกไว้ ฝ่ายทหาร ช้างม้า แลเห็นเงาของตนเองบนกำแพงแก้ว เข้าใจว่ามีกองทหารมากมายอยู่ภายในจะยกออกมาสู้รบกับพวกตน ตกใจกลัวไม่กล้าที่จะเข้าไปข้างใน ช้างเอางาแทงปักลงดิน ไม่ยอมเข้าไปในกำแพงแก้วนั้นเลย

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเห็นดังนั้นจึงทรงเร่งขับรี้พลให้เคลื่อนเข้าไป ในทันใดนั้นพระยายักษ์ตนหนึ่งชื่อยมโกลิยักษ์ เป็นยามอยู่เฝ้ากำแพงชั้นนอกพร้อมด้วยบริวารยักษ์หนึ่งพันตน เห็นพระเจ้าอชาตศัตรูพาบริวารเข้าไป จึงร้องถามว่าท่านมาที่นี่ด้วยเหตุผลอันใด ยมโกลิยักษ์และบริวารถือตะบองเหล็กประหนึ่งว่าจะเข้าตี แล้วร้องตวาดขับไล่พระเจ้าอชาตศัตรูและบริวารแตกหนีกระจัดกระจายไป

พระเจ้าอชาตศัตรูตกพระทัยเสด็จหนีเข้าไปในพระเวฬุวันที่ประทับของพระพุทธเจ้า โชติกเศรษฐีเห็นแล้วลุกขึ้นจากอาสนะมาทูลถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า วันนี้เหตุใดพระองค์รีบเสด็จโดยด่วน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงตรัสว่า ท่านเศรษฐีได้ใช้บริวารของท่านต่อต้านรุกรบกับพวกเรา จนพวกเราพ่ายแพ้ แต่ตัวท่านกลับหนีมาก่อน แกล้งทำทีนั่งฟังธรรมทำเป็นไม่รู้เรื่อง เศรษฐีทูลว่าพระองค์ยกทัพมาชิงเอาปราสาทของข้าพระพุทธเจ้าหรือ พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามตอบว่าถูกต้องแล้ว เราต้องการชิงเอาปราสาทแก้วของท่าน เศรษฐีทูลว่าสมบัติใด ๆ ของข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงเศษด้ายที่หูกทอผ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยกให้ ผู้นั้นก็ไม่สามารถเอาไปได้ พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสว่าเศรษฐีเจรจาโอหังเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เศรษฐีทูลว่าหามิได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทำตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่เชื่อในกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้นั้น สมบัติถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ถวายให้ อย่าว่าแต่พระราชาพระองค์เดียวเลย แม้พระราชาผู้มีอำนาจเช่นท่านสักพันพระองค์ก็มิอาจจะยึดเอาสมบัติแห่งข้าพระพุทธเจ้านี้ได้ เพราะว่าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ให้ แต่ว่าเมื่อใดข้าพระพุทธเจ้ายกให้ เมื่อนั้นจึงเอาไปได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อบุญของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะทำให้พระองค์เชื่อดังนี้ แหวนทั้ง ๒๐ วง ในมือข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ นิ้วนี้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ามิได้ถวายแก่พระองค์ พระองค์ก็ไม่สามารถที่จะถอดแหวนออกจากนิ้วของข้าพระพุทธเจ้าได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อก็ขอให้พระองค์โปรดทดลองถอดเอาเถิด

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้สดับคำที่โชติกเศรษฐีกราบทูลเช่นนั้น ทรงพิโรธยิ่งนัก อุปมาดังพญานาคราชถูกค้อนเหล็กตีขนดหาง ขณะที่กำลังประทับนั่ง ทรงกระโดดขึ้นสูง ๑๘ ศอก แล้วเสด็จลงมาประทับยืนที่พื้น แล้วทรงกระโดดขึ้นอีกหนึ่งครั้ง สูง ๗๐ ศอก ทรงมีพละกำลังมากยิ่งนัก แล้วทรงบิดองค์ไปทางขวาเพื่อทรงถอดเอาแหวนในมือโชติกเศรษฐี ทรงล้มลุกคลุกคลาน พระเสโทไหลย้อยทั่วพระวรกาย แม้กระทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่อาจแย่งชิงเอาแหวนออกจากนิ้วเศรษฐีได้ จึงประทับนั่งลงตามเดิม

เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกราบทูลว่า แหวนของข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๐ วงนี้ ขอน้อมถวายแด่พระองค์ ขอเชิญพระองค์ทรงนำภูษามารองรับเถิด พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงปูผ้าฉลองพระพักตร์ลงบนพื้น โชติกเศรษฐีจึงยื่นมือออกไปเหนือผ้านั้นต่อพระพักตร์พระเจ้าอชาตศัตรู ทันใดนั้น แหวนทั้ง ๒๐ วงก็หลุดจากนิ้วมือตกลงบนผ้านั้น

โชติกเศรษฐีจึงกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่า สมบัติของข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ายังมิได้ทูลถวาย พระองค์ก็จะไม่สามารถนำไปได้ แต่ถ้าได้ถวายแล้วพระองค์จึงจะได้นำสมบัติของข้าพระพุทธเจ้า ดังที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว เมื่อโชติกเศรษฐีกราบทูลเช่นนั้นแล้วก็รู้สึกสังเวชใจ จึงกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลอำลาบวชเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงอนุญาต พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงสดับดังนั้น ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง และทรงพระราชดำริว่าปราสาทนั้นจะตกเป็นของเรา จึงตรัสบอกโชติกเศรษฐีว่า ถ้าเศรษฐีจะบวช เราก็อนุญาต ขอเศรษฐีจงบวชเถิด

ดังนั้นโชติกเศรษฐีจึงโกนผมเข้าบวชในพระพุทธศาสนา แล้วบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา มีสมณฉายาว่าพระโชติกเถระ เมื่อบวชแล้วสมบัติทั้งหลายก็อันตรธานหายไปหมดสิ้น เป็นต้นว่านางแก้วซึ่งมีนามว่านางอตุลกายเทวีผู้เป็นภรรยา เทวดานำกลับคืนไปสู่อุตตรกุรุทวีปดังเดิม ปราสาท ๗ ชั้น ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ กำแพง ๗ ชั้น อันล้อมรอบปราสาทแก้วนั้น ต้นกัลปพฤกษ์อันเรียงรายไปรอบทั้ง ๗ ชั้น ขุมเงินขุมทอง ๔ มุมปราสาท หม้อข้าวแก้วมณี สมบัติมากมายซึ่งเกิดมาด้วยบุญโชติกเศรษฐีก็จมลงไปในแผ่นดินหมดสิ้น

เรื่องโชติกเศรษฐีโดยสังเขปก็จบลงเท่านี้

บุญกิริยาวัตถุ

คนทั้งหลายที่เกิดเป็นมนุษย์นั้นนับเป็นความดียิ่ง บางคนร่ำรวย บางคนได้เป็นใหญ่ บางคนได้เป็นเจ้า เป็นพระยาจักรพรรดิราช เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะเคยทำบุญไว้อย่างไร เคยบำเพ็ญศีลบำเพ็ญทานไว้อย่างไร

บุญในกามภูมิมีทั้งหมด ๑๗,๒๘๐ ประการ บุญเหล่านั้นคืออะไรบ้าง คือบุญจำพวกแรกมีแปดประการ (มหากุศล ๘) ได้แก่ ประการแรก คือการรู้จักบุญและบาป ทำบุญด้วยความยินดี ประการที่สอง คือการรู้จักบุญและบาปแต่ไม่ทำบุญ เมื่อมีคนมาชักชวนก็เกิดความยินดีจึงทำบุญ ประการที่สาม คือการไม่รู้จักบุญและไม่รู้จักบาป ไม่มีความยินดีในการทำบาปแต่ยินดีในการทำบุญ ประการที่สี่ คือการไม่รู้จักบุญและไม่รู้จักบาป เมื่อมีผู้ชักชวนให้ทำบุญก็เกิดความละอาย ต่อคำชักชวนจึงทำบุญ ประการที่ห้า คือการรู้จักบุญและบาปและทำบุญด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ประการที่หก คือการรู้จักบุญและบาป ไม่ปรารถนาทำบุญด้วยตนเอง เมื่อมีคนมาชักชวนจึงทำบุญ ประการที่เจ็ด คือการไม่รู้จักบุญและบาป ไม่ยินดีในการทำบาป แต่ได้ทำบุญด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ประการที่แปด คือการไม่รู้จักบุญและบาป ไม่ยินดีในการทำบุญ เมื่อเห็นผู้อื่นทำบุญก็ทำตาม

บุญอีกจำพวกหนึ่ง มีสิบประการ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ได้แก่อะไรบ้าง ประการแรก คือการให้ทาน เป็นต้นว่าให้ข้าวน้ำ หมากพลู ประการที่สอง คือการรักษาศีล ทั้งศีลห้า ศีลแปด และศีลสิบ ประการที่สาม คือการภาวนาเป็นต้นว่าสวดมนต์ สวดพระพุทธคุณ (พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ) และระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มีบุญคุณแก่ตน คำนึงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ประการที่สี่ คืออุทิศส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญแต่เทพยดา มนุษย์ และสัตว์ที่มีคุณแก่ตน ประการที่ห้า คือการอนุโมทนาหรือยินดีด้วยทานที่ผู้อื่นกระทำ และมีใจยินดีศรัทธาต่อทานนั้นด้วย ประการที่หก คือการปรนนิบัติรับใช้บิดามารดา ครูอาจารย์ เช่น รักษาความสะอาดด้วยการปัดกวาดดินบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูป สถูป เจดีย์ พระศรี มหาโพธิ์ ประการที่เจ็ด คือการเคารพยำเกรงบิดามารดา ผู้ทรงอาวุโส ครู อาจารย์ ไม่ประมาทล่วงเกินท่าน ประการที่แปด คือการเทศนาสั่งสอนบุคคลอื่น ประการที่เก้า คือการหมั่นฟังพระธรรมเทศบา หากยังสงสัยไม่เข้าใจให้หมั่นถามผู้รู้ ประการที่สิบ คือมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เชื่อถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เคยอุปการะเลี้ยงดูตนด้วยความสุจริตใจ

บุญสิบประการ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ดังกล่าวแล้วนี้ ประกอบด้วย อารมณ์หกอย่างอันเป็นเหตุให้ทำบุญ ได้แก่ หนึ่ง คือการเห็นรูปด้วยตา ก่อให้เกิดเป็นอารมณ์แล้วจึงทำบุญ สอง คือการได้ยินเสียงไพเราะด้วยหู สาม คือการได้กลิ่นอันหอมด้วยจมูก สี่ คือการได้รับประทาน อาหารสะอาดรู้รสอันโอชาด้วยลิ้น ห้า คือ การได้รับสิ่งสัมผัสที่ดีด้วยกาย หก คือการคิดคำนึงในทางที่ชอบธรรม

อารมณ์หกอย่างดังกล่าวแล้วนี้มีบุญเป็นหลักใหญ่ เป็นเหตุจูงใจให้ทำบุญอันยิ่งใหญ่ (อธิบดี ๔) ซึ่งแบ่งเป็นสี่ประการ คือ หนึ่ง มีความพอใจเที่ยงตรงตั้งมั่นแล้วจึงทำบุญ สอง มีความพยายามขวนขวายในบุญ สาม มีความเอาใจใส่ไม่หวั่นไหวในบุญ สี่ มีความพินิจพิจารณาในบุญ

การทำบุญอันยิ่งใหญ่สี่ประการดังกล่าวแล้วนี้ แต่ละอย่างเกิดจากการกระทำ ๓ ทาง ซึ่งได้แก่ หนึ่ง การกระทำทางกาย (กายกรรม) สอง การกระทำทางวาจา (วจีกรรม) สาม การกระทำทางใจ (มโนกรรม)

การกระทำทั้งสามทางดังกล่าวแล้วนี้ ประกอบด้วยการทำบุญด้วยความตั้งใจจริงสามประการ ได้แก่ อย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างแรงกล้า ภายในใจได้ตั้งเจตนาปรารถนาจะเกิดโนกามภูมิ ได้บุญ ๑๗,๒๘๐ ประการ

บุญ ๑๗,๒๘๐ ได้จากการนำมหากุศล ๘ ตั้ง คูณด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คูณด้วยอารมณ์ ๖ คูณด้วยอธิบดี ๔ คูณด้วยกรรม ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คูณด้วยความตั้งใจจริง ๓ ประการ ก็จะได้ผลลัพธ์ ๑๗,๒๘๐

มีเจตสิกเป็นเพื่อนจิต มาสนับสนุนให้จิตกระทำบุญ ๓๘ จำพวก คือ ๑. ให้เกิดความต้องใจ ๒. ให้เกิดเสวยคือให้ฟังและให้ดู ๓. ให้รู้ ๔. ให้คิด ๕. ให้มั่นคงในบุญ ๖. ให้รักษาเจตสิกอื่น ๆ ไว้ ๗. ให้ผูกสัมพันธ์เจตสิกอื่น ๆ ไว้ด้วยกันอย่างมั่นคง ๘. ให้คิดถึงบุญ ๙. ให้พิจารณาบุญ ๑๐. ให้ตัดสินใจทำบุญ ๑๑. ให้พยายามทำบุญ ๑๒. ให้ชื่นชมในการทำบุญ ๑๓. ให้พอใจทำบุญ ๑๔. ให้ศรัทธาในการทำบุญ ๑๕. มิให้ลืมการทำบุญ ๑๖. ให้ละอายต่อบาปและทำบุญ ๑๗. ให้กลัวบาปและทำบุญ ๑๘. มิให้มีโลภซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำบุญ ๑๙. มิให้มีความโกรธเกลียดซึ่งเป็นเหตุทำลายบุญ ๒๐. ให้มีใจเป็นกลาง ๒๑. ทำกายให้สงบในการทำบุญ ๒๒. ทำใจให้สงบในการทำบุญ ๒๓. ให้กายรีบเร่งในการทำบุญ ๒๔. ใจรีบเร่งในการทำบุญ ๒๕. ทำกายให้อ่อนโยนคล้อยตามในการทำบุญ ๒๖. ทำใจให้อ่อนโยนคล้อยตามการทำบุญ ๒๗. ทำกายให้เหมาะสมกับการทำบุญ ๒๘. ทำใจให้เหมาะสมกับการทำบุญ ๒๙. ทำกายให้คล่องแคล่วต่อบุญ ๓๐. ทำใจให้ว่องไวต่อบุญ ๓๑. ทำกายให้ซื่อตรงต่อบุญ ๓๒. ทำใจให้ซื่อตรงต่อบุญ ๓๓. กล่าวถ้อยคำด้วยความซื่อตรง ๓๔. ให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ ๓๕. ให้ (แสวงหาหรือ) รับประทานอาหารที่ไม่เป็นโทษ ๓๖. ให้มีใจเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย ๓๗. ให้มีใจกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย ๓๘. ให้มีความฉลาด

เจตลัก ๓๘ ประการดังกล่าวแล้วนี้เป็นเพื่อนจิต ให้ทำบุญและบุญนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติ ไม่เพียงแต่ในเมืองมนุษย์นี้เท่านั้น แต่บรรดาเทพยดาสถิตในสวรรค์ชั้นฉกามาพจรภูมิก็ปฏิบัติด้วยเช่นกัน และบุญนั้นมีผลส่งให้ได้เป็นพระอินทร์ในแดนสวรรค์ คือได้ให้สมบัติอันประเสริฐ (ได้แก่มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ) ในกามโลก แต่ยังไม่อาจให้สมบัติในพรหมโลกได้ บุญกุศลของบรรดาพรหมจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป ส่วนที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเพียงบุญกุศลของผู้เกิดในกามาพจรเท่านั้น

ชลามพุขโยนิ

ชลามพุชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากครรภ์ การเกิดของมนุษย์ในโลกที่เกิดในครรภ์มารดา ซึ่งเรียกว่าชลามพุชโยนิ นี้ มีรูปกาย ๒๘ ประการเช่นเดียวกับการเกิดผุดขึ้นเป็นร่าง เจริญขึ้นทันที (อุปปาติกโยนิ) ดังที่เกิดในนรกภูมิ รูป ๒๘ นี้มีทั้งการเกิดโดยลำดับดังกล่าว แล้วยังมีรูปอื่นอีก ๕๓ รูป เมื่อนำมารวมกับรูป ๒๘ ก็จะได้ ๘๑ รูป รูปทั้งหมดดังกล่าวแล้วนี้มีชีวิตเป็นองค์ประกอบ ๗ ประการ คืออะไรบ้าง

ชีวิตซึ่งเป็นองค์ประกอบทั้งเจ็ดนั้นคือ หนึ่ง ชีวิตที่อยู่ในจักษุ มีไว้สำหรับดู สอง ชีวิตที่อยู่ในโสต มีไว้สำหรับให้ได้ยินได้ฟัง สาม ชีวิตที่อยู่ในฆานะ มีไว้สำหรับดมกลิ่น สี่ ชีวิตที่อยู่ในชิวหา มีไว้สำหรับให้รู้รส ห้า ชีวิตที่อยู่ในกาย มีไว้สำหรับให้รู้ความเจ็บปวด หก ชีวิตที่อยู่ในภาวะ มีไว้สำหรับให้รู้รส เจ็ด ชีวิตที่อยู่ในดวงใจ มีไว้สำหรับให้รู้คิด

การมีครรภ์ของบรรดาสตรีนั้นเกิดจากเหตุ ๗ ประการ ได้แก่ หนึ่งบุรุษมาร่วมอยู่ด้วย สอง สตรีมีใจรักบุรุษ ได้นำเสื้อผ้าของบุรุษนั้นมาเชยชมแทนตัวบุรุษ และสตรีก็มีครรภ์ขึ้นขณะที่เชยชมของบุรุษ สาม สตรีบางคนมีใจรักบุรุษ เมื่อใดราคะของชายนั้นตก (อสุจิเคลื่อน) สตรีดูดกินน้ำราคะนั้นก็เกิดครรภ์ขึ้น เช่นเดียวกับนางเนื้อทราย มารดาของฤษีผู้มีชื่อว่า อิสิสิงคะดาบส[๑๐] สี่ สตรีบางคนเมื่อบุรุษลูบคลำเนื้อตัวและท้อง และสตรีนั้นมีใจรักบุรุษก็ตั้งครรภ์ได้ เช่นเดียวกับนางปาลิกาดาบสหญิง ผู้เป็นมารดาของสุวรรณสาม และเหมือนนางพญาผู้เป็นมารดาของพระจันทรโชติ และมารดาของเจ้านันทกุมาร ห้า สตรีบางคนมีใจรักบุรุษและบุรุษนั้นผ่านมาใกล้ สตรีนั้นมีความปรารถนายินดี จ้องดูบุรุษนั้นก็ตั้งครรภ์ได้ หก สตรีบางคนมีความรักความปรารถนา ในบุรุษ เมื่อบุรุษนั้นพูดจาพาที สตรีได้ยินเสียงบุรุษนั้นก็อาจตั้งครรภ์ได้ เช่นเดียวกับนกยางซึ่งมีแต่ตัวเมียไม่มีตัวผู้ เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องก็เกิดไข่ขึ้นได้เอง ในทำนองเดียวกัน แม่ไก่เมื่อได้ยินไก่ตัวผู้ขันก็มีไข่ได้ และเช่นเดียวกัน แม่วัวซึ่งได้ยินเสียงวัวตัวผู้ก็ตั้งท้องได้ เจ็ด การสูดดมกลิ่นตัวผู้ ก็เป็นเหตุให้ตั้งท้องได้ เช่นเดียวกับแม่โคดมกลิ่นโคตัวผู้

ที่ว่ามนุษย์เรานั้นเกิดได้ในกำเนิดทั้งสี่ คือ อัณฑชโยนิ (เกิดจากไข่) ชลามพุชโยนิ (เกิดจากครรภ์) สังเสทชโยนิ (เกิดจากสิ่งโสโครกหรือเหงื่อไคล) อุปปาติกโยนิ (เกิดผุดขึ้น) นั้นเป็นอย่างไร อาจารย์ผู้สอนไว้

อุปปาติกโยนิ

อุปปาติกโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดผุดขึ้น มนุษย์ที่เกิดในกำเนิดนี้มีเรื่องเล่าไว้ว่า สตรีผู้หนึ่งชื่อนางอัมพปาลิกา[๑๑]ซึ่งเกิดเป็นอุปปาติกโยนิ

ท่านเล่าไว้ว่า ในอดีตกาลตั้งแต่กัลป์หนึ่งจนถึงภัททกัลป์ นับย้อนหลังไปประมาณ ๓๐๐ กัลป์ มีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระพุทธสิขี เสด็จลงมาโปรดชาวโลกทั้งหลาย ครั้งนั้นมีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่านางอัมพปาลิกา บวชเป็นภิกษุณีในศาสนาของพระพุทธสิขี นางเป็นคนถือศีลเคร่งครัดมาก เอาใจใส่บำรุงรักษาความสะอาดในวัดด้วยดีตลอดเวลา อยู่มาวันหนึ่งนาง ภิกษุณีผู้นี้ได้กระทำประทักษิณบูชาพระเจดีย์พร้อมด้วยเหล่าสตรีผู้ทรงศีลทั้งหลาย ขณะนั้น พระนางเถรีซึ่งเป็นภิกษุณีองค์หนึ่งเป็นพระอรหันตขีณาสพสูงอาวุโสกว่าภิกษุณีองค์อื่น ๆ ได้เดินนำหน้าเพื่อบูชาพระเจดีย์ นางเดินไปด้วยความรีบร้อน ยังไม่ทันเบือนหน้าจากพระเจดีย์ก็เกิดอาการไอ เสมหะกระเด็นถูกพระเจดีย์ ไม่มีคนอื่นรู้เห็น เพราะนางเดินนำหน้าผู้อื่น แต่นางอัมพปาลิกาเห็นก้อนเสมหะนั้น จึงกล่าวติเตียนว่า หญิงโสเภณีที่ไหนบังอาจถ่มน้ำลายลงเต็มพระเจดีย์อับเป็นที่เคารพสักการะ ข้าเจ็บใจยิ่งนักจนไม่อาจจะเปรียบกับสิ่งใดได้ พอนางด่าว่าแล้วก็จากไป ต่อจากนั้นนางอัมพปาลิกากิครุ่นคิดถึงเรื่องที่มีผู้กล่าวไว้ว่า การเกิดในท้องแม่นั้นมีทุกขเวทนายิ่งนัก จึงรู้สึกไม่พอใจ ไม่ต้องการเกิดในท้องคน ได้ตั้งความปรารถนาขอเกิดผุดขึ้นเอง (ขอเกิดเป็นอุปปาติกโยนิ) ตลอดเวลาที่ยังมีขีวิตอยู่ นางได้บำเพ็ญสมณธรรมเป็นภิกษุณีตราบจนสิ้นชีวิต พอสิ้นชีวิตแล้วนางได้ตกนรกเพราะได้ทำบาปที่ได้ด่าพระมหาเถรีขีณาสพ นางได้ทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกเป็นเวลานานหลายปี พอสิ้นบาปแล้วก็พ้นจากนรกได้ขึ้นมาเกิดเป็นนางโสเภณีได้หมื่นชาติ เพราะบาปที่ได้ด่าว่าพระมหาเถรีเป็นโสเภณี พอสิ้นบาปนี้แล้ว ได้ไปเกิดที่ค่าคบกิ่ง มะม่วงซึ่งขึ้นอยู่ในอุทยานของพระราชาแห่งเมืองไพสาลี ด้วยเดชอำนาจแห่งศีลที่นางเคยบำเพ็ญอย่างเคร่งครัดเมื่อครั้งเป็นภิกษุณีในชาติก่อนนั้น นางจึงมีรูปโฉมโนมพรรณงามทั้งสรรพางค์กาย งามกว่าสตรีทั้งหลายในเมืองไพสาลี พอนางเกิดที่ค่าคบกิ่งมะม่วงเพียงชั่วครู่ นางก็มีร่างกายเติบโตเป็นสาว สมควรมีเหย้าเรือนได้ทันที

ขณะนั้นเหล่าคนสวนเฝ้าอุทยานของราชาก็ได้เห็นนางผู้มีรูปงามยิ่งนั้น จึงพานางไปถวายแด่พระราชาผู้เสวยราชย์ในเมืองไพสาลี คนสวนกราบทูลพระราชาว่า เขาทั้งหลายได้พบนางนี้เกิดที่ค่าคบกิ่งมะม่วง พระราชาตรัสว่าถ้านางเกิดเช่นนั้นก็จะตั้งชื่อนางว่าอัมพปาลิกา

นางอัมพปาลิกาอยู่ในเมืองไพสาลี เหล่าท้าวพญาลูกเจ้าลูกขุนในเมืองเกิดวิวาท บาดหมางใจกัน เพราะต่างก็ต้องการได้นางมาเป็นภรรยา ยิ่งได้เห็นรูปโฉมของนางก็ยิ่งแย่งชิงกันเพื่อจะได้นางมาเป็นภรรยา ด้วยบาปกรรมที่นางอัมพปาลิกาได้เคยด่าพระมหาเถรีขีณาสพนั้นยังไม่หมดสิ้น ยังมีเศษบาปติดตัวนางอยู่ พระราชาตรัสว่า ขณะนี้ท้าวพญาและลูกขุนทั้งหลายในเมืองไพสาลีของพระองค์ได้ก่อการทะเลาะวิวาทเพื่อชิงนางอัมพปาลิกาอย่างไม่รู้จบสิ้น บัดนี้ ข้าจะให้นางเป็น “แพศยา” เพื่อระงับการแตกแยกวิวาทกัน ครั้นแล้วจึงได้ตั้งนางอัมพปาลิกาให้เป็น “นางนครโสเกณี” เป็นสาธารณะเพื่อให้บรรดาท้าวพญา ลูกเจ้า ลูกขุน ใช้ได้ทั่วกันตลอดไป ต่อมานางได้ให้กำเนิดบุตรชายผู้หนึ่ง ตั้งชื่อว่าโกณฑัญญะ นางเป็นบุคคลที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนายิ่งนัก ได้สร้างวัดและวิหารไว้แห่งหนึ่ง แล้วให้บุตรชายคือโกณฑัญญะบวชในพระพุทธศาสนา โกณฑัญญะได้บำเพ็ญสมณธรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ มีความรู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ จนได้พระนามว่าพระโกณฑัญญะเถระ ส่วนนางอัมพปาลิกาก็ได้ฟังพระธรรมเทศนา ณ สำนักพระโกณฑัญญะเถระ จนเกิดศรัทธาแรงกล้าได้บวชในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดก็สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อนางสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปสู่มหานครนิพพาน มนุษย์เรานี้มีผู้เกิดผุดขึ้นเอง หรืออุปปาติกโยนิ ดังเช่นนางอัมพปาลิกาดังกล่าวมานี้

อัณฑชโยนิ

อัณฑชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากไข่ มนุษย์ที่เกิดจากไข่ก็มีเช่นกัน ดังเช่นนิทานที่จะเล่าต่อไปนี้

ครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอยู่ในเมืองใหญ่ชื่อปาตลีบุตร วันหนึ่งพราหมณ์ผู้นี้ได้เดินทางออกจากเมืองเข้าไปในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ได้พบนางกินรีตัวหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ เกิดความรักในนางกินรีนั้นเป็นอันมาก จึงสมสู่กับนางในกลางป่านั้น ต่อมานางกินรีได้ตั้งครรภ์และออกไข่มาสองฟอง นางกินรีก็ฟักไข่จนไข่แตกออกเป็นมนุษย์สองคน คนพี่ให้ชื่อว่าดิสสกุมาร คนน้องให้ชื่อว่ามิตรกุมาร

ครั้นกุมารทั้งสองเจริญวัยขึ้น ก็สังเกตเห็นว่าหน้าบิดามารดาของเขานั้นแตกต่างกันมากจึงรู้สึกสลดใจ ทั้งสองปรึกษากันว่า การเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราทั้งสองควรจะไปบวชเป็นสมณะเพื่อบรรลุนิพพานจะดีกว่า แล้วกุมารทั้งสองก็จากบ้านไปบวชในสำนักพระมหาเถระองค์หนึ่งนามว่าพระพุทธเถระ บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลานาน จนในที่สุดทั้งสองก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปสู่นิพพาน มนุษย์ที่เกิดจากไข่ก็มีเช่นสองพี่น้องดังกล่าวมานี้

สังเสทชโยนิ

สังเสทชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากไคล คนที่จากไคลก็มีเช่นกัน ดังเรื่องของนางปทุมาวดี ซึ่งมีบุตรชายถึง ๕๐๐ คน ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ว่า

เมื่อชาติก่อนนางปทุมาวดีเป็นคนยากจนเข็ญใจ มีอาชีพทำนา วันหนึ่งนางไปไถนาและจะนำอาหารไปส่งสามี ได้เอากระเชอข้าวทูนไว้บนศีรษะ ขณะที่เดินไปตามทาง ได้พบกับพระปัจเจกโพธิเจ้าองค์หนึ่งรูปงามมาก นางจึงมีใจเลื่อมใสศรัทธา คิดว่าจะถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระปัจเจกโพธิเจ้า จึงเอาข้าวใส่บาตร และเอาข้าวตอกกวนกับน้ำผึ้งขึ้นเป็นก้อนได้ ๕๐๐ ก้อน วางลงในบาตรบนข้าวสุก นางแลเห็นดอกบัวหลวงในสระข้างทาง จึงไปเก็บดอกบัวใส่ลงในบาตร และวางไว้ที่พระบาทพระปัจเจกโพธิเจ้าเพื่อถวายบูชาคารวะ นางได้ตั้งปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ที่ได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้าด้วยข้าวตอกกับน้ำผึ้ง ๕๐๐ ก้อนนี้ ขอให้นางได้มีบุตรขาย ๕๐๐ คน และด้วยผลบุญที่นางบูชาด้วยดอกบัวหลวง ขอให้นางเดินไปที่แห่งใดก็ให้มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้าของนางทุกย่างก้าวตลอดทางมิให้ขาด พอกล่าวคำปรารถนาเสร็จก็ไหว้อำลาพระปัจเจกโพธิเจ้าไปทำงานของนางต่อ ในที่สุดเมื่อนางสิ้นชีพแล้ว ได้จากโลกมนุษย์ไปเกิดในสวรรค์เสวยสมบัติเป็นทิพย์ เมื่อสิ้นชีพจากสวรรค์ก็ได้มาเกิดในโลกมนุษย์อีก นางรู้สึกเกลียดครรภ์มารดา ใคร่จะได้เกิดในดอกบัว ดังนั้นการมาเกิดในโลกมนุษย์ครั้งนี้นางจึงได้เกิดในดอกบัวหลวงดอกหนึ่งในสระเชิงเขาหิมพานต์

ครั้งนั้นมีฤษีองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ มักจะลงมาอาบน้ำในสระนี้ทุกวัน ท่านได้เห็นดอกบัวในสระบานทุกดอก ยกเว้นดอกหนึ่งที่ยังไม่บานเป็นเวลานานถึงเจ็ดวัน พระฤษีรู้สึกแปลกใจจึงหักดอกบัวนั้นมา จึงได้เห็นเด็กอ่อนอยู่ในดอกบัวนั้น เป็นเด็กผู้หญิงมีผิวพรรณงามราวทองคำเนื้อสุก พระฤษีมีใจกรุณาต่อเด็กนั้นมากจึงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ให้เด็กน้อยดูดหัวแม่มือกินเนื่องด้วยมีน้ำนมไหลจากหัวแม่มือพระฤษี ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจของพระฤษี และบุญของทารกน้อยนี้ พระฤษีตั้งชื่อนางว่าปทุมาวดี เพราะเหตุว่านางเกิดในดอกบัว

คราวนั้นมีพรานเนื้อผู้หนึ่งเดินทางกลางป่ามาจนถึงป่าหิมพานต์ ได้เห็นนางผู้มีความงามยิ่งนี้ พรานนั้นจึงนำความไปทูลพระเจ้าพรหมหัตผู้ทรงราชย์ ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมหัตจึงเสด็จไปนมัสการพระฤษี ทรงขอนางมาเป็นพระมเหสี ตั้งแต่นางเกิดมา ไม่ว่าจะย่างเท้าก้าวเดินไปที่ใด ก็จะมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้านาง ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้าด้วยดอกบัวหลวง ครั้นนางได้เข้าไปอยู่ในวัง นางก็ตั้งครรภ์จบครบสิบเดือน ได้คลอดบุตรเป็นชายครบจำนวน ๕๐๐ คน ล้วนเป็นเจ้าชายเกิดในพระราชวัง เจ้าชายองค์ใหญ่องค์เดียวที่เกิดอยู่ภายในรก ส่วนโอรสอีก ๔๙๙ คนนั้นอยู่ภายนอก ดังนั้นเจ้าชายองค์ใหญ่จึงได้ชื่อว่าพญาปทุมกุมาร เจ้าชายทั้งห้าร้อยองค์ เมื่อเจริญวัยก็พากันไปบวช ได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งห้าร้อยองค์ ในที่สุดเมื่อสิ้นพระชนมชีพแล้วก็เสด็จสู่นิพพาน เจ้าปทุมกุมารผู้ที่ซึ่งเกิดในรกนั้น เรียกว่าเกิดเป็นชลามพุชโยนิ แต่เจ้าผู้น้อง ๔๙๙ องค์นั้น เรียก ว่าเกิดจากสังเสทชโยนิ บรรดาคนที่เกิดจากไคลก็มีดังที่ได้กล่าวมานี้

เหตุมรณะ ๔

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะสิ้นอายุไปนั้น เนื่องมาจากเหตุสี่ประการ คือ อายุขัย กรรมขัย อุภยขัย และอุปัจเฉทกรรมขัย[๑๒]

ประการที่หนึ่ง อายุขัย คือการตายเนื่องจากสิ้นอายุ จะตายเมื่อยังเด็ก หรือหนุ่มสาวก็ตาม ประการที่สอง กรรมขัย คือการตายโดยไม่สมควรตาย ประการที่สาม อุภยขัย คือการตายเพราะความแก่ชรา เป็นการตายโดยสมควร ประการที่สี่ อุปัจเฉทกรรมขัย คือการตายของบุคคลที่อยู่ดีกินดีแต่มีอันตราย คือมีผู้ตี ฆ่า แทง ตกต้นไม้ ตกน้ำตายอย่างปัจจุบันทันด่วน การตายประเภทนี้บางครั้งถึงแม้จะมีการเยียวยารักษาก็ไม่สามารถรอดชีวิตได้ เรียกว่าเป็นกรรมเหนือกรรม

กรรมที่เป็นต้นเหตุของกรรมทั้งหลายมีสี่จำพวก คือ ชนกกรรม อุปถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรม และอุปฆาฏกกรรม

จำพวกที่หนึ่ง ชนกกรรม คือการเกิดเป็นคน จำพวกที่สอง อุปถัมภกกรรม คือ กรรมทำให้มีความสุขหรือความทุกข์ ทำให้รู้สึกยินดีและยินร้าย จำพวกที่สาม อุปปีฬกกรรม คือ กรรมบีบคั้นขัดขวางผลกรรมอื่น จำพวกที่สี่ อุปฆาฏกกรรม คือกรรมตัดรอนชีวิต (หรือกรรมตัดรอนผลกรรมอื่น)

กรรมวิบากที่ทำให้เกิดทุกข์ก็มีอยู่สี่พวกเช่นกัน กล่าวคือ ปัญจานันตริยกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม

ปัญจานันตริยกรรม คือที่ให้ผลเป็นทุกข์ที่หนักยิ่ง อาสันนกรรม คือกรรมที่ประกอบขึ้นเมื่อใกล้ตาย อาจิณณกรรม คือกรรมที่กระทำเป็นเนืองนิตย์ กฏัตตากรรม คือกรรมที่ทำทั้งที่เป็นบุญและบาปโดยมิได้ตั้งใจ[๑๓]

นอกจากนี้ยังมีกรรมที่ก่อให้เกิดวิบากอีกสี่จำพวก คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม อปราปรเวทนียกรรม และอโหสิกรรม

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือการทำบุญหรือบาปซึ่งมีผลให้เห็นในชาติปัจจุบัน อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมที่จะมีผลให้เห็นในชาติหน้า อปราปรเวทนียกรรม คือ กรรมที่จะมีผลให้เห็นในชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะถึงนิพพาน และอโหสิกรรม คือกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้วไม่มีผลใด ๆ อีก

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อใกล้จะขาดใจตายนั้น ถ้าจะตกนรก ผู้นั้นก็จะเห็นเปลวไฟ ต้นงิ้วเหล็ก เห็นฝูงผีถือไม้ ค้อน หอก ดาบ มาลากตัวไป ถ้าจะตายแล้วได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะแลเห็นก้อนเนื้อ ถ้าจะได้เกิดในสวรรค์ ก็จะเห็นต้นกัลปพฤกษ์ เรือนทอง ปราสาทแก้ว ที่งดงาม เห็นฝูงเทพยดาฟ้อนรำอย่างร่าเริง ถ้าตายแล้วจะได้เกิดเป็นเปรต ก็จะเห็นแกลบและข้าวลีบ กระหายน้ำ เห็นเลือด น้ำหนอง ถ้าตายแล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น นก เนื้อ เก้ง โค หมู หมา ก็จะเห็นป่า ต้นไม้ กอไผ่ เครือเขา และบรรดาสัตว์ป่า สัตว์บ้านต่าง ๆ

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อใกล้จะขาดใจตาย และจะไปเกิดยังโลกอื่น ก็จะรำพึงอยู่ในใจด้วยจิต ๕๑ ดวง และจิต ๕๑ ดวงนั้นคืออะไรบ้าง

จิต ๕๑ ดวง (แบ่งเป็น ๙ กลุ่ม) คือ กลุ่มแรก ภวังคจลนะ ประกอบด้วย อุปปาท ฐิติ ภังคะ ซึ่งก่อให้เกิดความคิด ๖ ประการ กลุ่มที่สอง ปัญจทวาราวัชนะ ก่อให้เกิดความรำพึงทางปัญจทวาร ๓ ประการ กลุ่มที่สาม วิญญาณ ก่อให้เกิดความรู้และความคิด ๓ ประการ กลุ่มที่สี่ สัมปฏิจฉนะ ก่อให้เห็นและรู้ ๓ ประการ กลุ่มที่ห้า สันตีรณ ก่อให้เกิดการพิจารณา ๓ ประการ กลุ่มที่หก โวฏฐัพพนะ ให้ตัดสินได้ในการพิจารณาอารมณ์ ๓ ประการ กลุ่มที่เจ็ด ชวนะ ก่อให้เกิดการเสวยอารมณ์ที่ได้เคยกล่าวไว้แล้ว ๒๑ ประการ กลุ่มที่แปด ตหารัมมนะ ก่อให้เกิดการฟังและเสวยอารมณ์ ๖ ประการ กลุ่มที่ ๙ ภวังคะ ก่อให้เกิดความตายขึ้นในใจผู้ตาย ๓ ประการ อันเป็นขั้นสุดท้ายของการตาย ดวงจิตทั้ง ๙ กลุ่มนี้ รวมเป็น ๕๑

สัตว์ทั้งหลายมีชวนะจิต ๗ อันเป็นมหันตอารมณ์ เมื่อขาดใจตายแล้วก็จะจากไป แต่ปัญจสกนธ์ (หรือขันธ์ทั้งห้า) มีได้ติดตามไปด้วยเลย ส่วนที่ติดตามผู้ตายไปก็คือบุญและบาปเท่านั้น ถ้าผู้ใดเกิดใหม่แล้วได้รับความลำบากก็เพราะมีผลบาป ผลบาปและผลบุญนั้นจะทำให้เกิดดีหรือเข็ญใจ มีผิวพรรณงดงามหรือไม่งดงาม อายุยืนหรือไม่ยืน บางคนเกิดเป็นเจ้าคนนายคน บางคนเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ บางคนมีสติปัญญาฉลาด บางคนโง่เขลาเบาปัญญา ผู้ใดเรียนพระอภิธรรมด้วยตั้งใจเด็ดเดี่ยว ก็จะมีความรู้อย่างแท้จริง ส่วนผู้ที่มิได้เรียบมิได้ฟัง พระอภิธรรมก็ย่อมเป็นการยากที่จะรู้จริงและเข้าใจได้

เรื่องราวของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในแดนมนุษย์ ได้นำมาเล่าอย่างย่อ ๆ ในบทที่ห้า (หรือปัญจมกัณฑ์) ก็จบลงเพียงเท่านี้

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก