ตัวอย่างโครงการฝึกอบรมอาชีพ

โครงการฝึกอบรมอาชีพสตรี  ประจำปีงบประมาณ 2563
กองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง

1. ชื่อโครงการ  โครงการฝึกอบรมอาชีพสตรี 

2. หลักการและเหตุผล

       ในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิต   การประกอบอาชีพมีการแข่งขันค่อนข้างสูง มีการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสภาพบ้านเมืองในปัจจุบันที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโดยทั่วไปได้ปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนทั่วไปจึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การประกอบอาชีพในปัจจุบันจึงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงรายได้หลักเพียงอย่างเดียว การสนับสนุนให้ประชาชนโดยทั่วไปมีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มพูนรายได้ ตลอดจนการพึ่งพาตนเอง โดยใช้หลักการและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในตำบลบางเพรียงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ซึ่งหลังจากเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะมีเวลาว่าง

        โครงการฝึกอบรมอาชีพสตรี ประจำปีงบประมาณ 2563 จัดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาอบรมและฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการของสตรีในท้องถิ่นฝึกอาชีพให้สตรีมีความสามารถในการพัฒนาตนเองด้านรายได้ เพิ่มรายได้ให้ตนเองและครอบครัว ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมพื้นบ้านให้คุณภาพและสามารถเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งในครั้งนี้เป็นการจัดฝึกอบบรมในหลักสูตรการสานเส้นพลาสติก เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้สตรีร่วมกันใช้ถุงผ้า หรือตะกร้าสานในการไปจับจ่ายซื้อสิ่งของในตลาดแทนการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะและช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน เนื่องจากเส้นพลาสติกมีความทนทานสามารถใช้งานได้ในระยะยาว การฝึกอบรมครั้งนี้ได้มีกลุ่มอาชีพที่ประสบความสำเร็จขององค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง มาถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคการฝึกปฏิบัติให้แก่สตรีที่เข้ารับการอบรมด้วย

        เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542  หมวด 2  การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ  มาตรา 16 (6) การส่งเสริม การฝึกและการประกอบอาชีพและพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน) มาตรา 66 กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตรา 67(6) ในการส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และ   ผู้พิการ และมาตรา 68(7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร กองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมอาชีพสตรี ประจำปีงบประมาณ 2563

3. วัตถุประสงค์

3.1  เพื่อให้สตรีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีอาชีพ มีรายได้สำหรับการดำรงชีพ และเลี้ยงดูครอบครัว

3.2  เพื่อให้สตรีได้มีการสร้างกลุ่มอาชีพที่หลากหลายเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน

3.3  เพื่อส่งเสริมให้สตรีได้พัฒนาศักยภาพสามารถสร้างธุรกิจในระดับตำบล ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้นำไปสู่การเป็นสินค้าโอทอป (OTOP) ระดับประเทศได้

3.4 เพื่อให้สตรีได้มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพในตำบลบางเพรียง

3.5  เพื่อให้สตรีมีช่องทางในการส่งเสริมการตลาดมากขึ้น  ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าของกลุ่มให้เป็นรู้จัก

3.6  เพื่อให้สตรีในยุค 4.0 สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจได้

4. เป้าหมาย  สตรีในพื้นที่ตำบลบางเพรียง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวนรวมทั้งสิ้น 70 คน

5. วิธีดำเนินการ

5.1  เสนอขออนุมัติจัดทำโครงการ

5.2  กำหนดหลักสูตรที่ต้องการฝึกอบรม

5.3  ประสานงานวิทยากร / กลุ่มเป้าหมาย                            

5.4  ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ

5.5  จัดฝึกอบรมด้านอาชีพให้แก่สตรีตำบลบางเพรียง/กลุ่มอาชีพที่ต้องการต่อยอด หรือประชาชนผู้สนใจที่จะตั้งกลุ่มอาชีพใหม่

5.6  จัดฝึกอบรมส่งเสริมด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการศึกษาหาความรู้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด

5.7  สรุปและประเมินผลโครงการ

6. ระยะเวลาดำเนินโครงการ       วันที่ 5-7 สิงหาคม 2563

7. สถานที่ดำเนินการ     ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง

8. งบประมาณ

เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แผนงานสังคมสงเคราะห์  งานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ (โครงการฝึกอบรมอาชีพสตรี) ตั้งจ่ายไว้ 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)

9. หน่วยงานที่รับผิดชอบ กองสวัสดิการสังคม  องค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง    

10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

10.1  สตรีมีอาชีพเสริม มีรายได้เลี้ยงชีพและเลี้ยงดูครอบครัว ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

10.2  กลุ่มอาชีพมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น สามารถเพิ่มฐานการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า

10.3  เกิดการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจระดับตำบล นำพาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปสู่การเป็นสินค้า    โอทอป (OTOP) ระดับประเทศ

10.4  สตรีในชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีความรักความสามัคคี เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และได้มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนสินค้าในตำบลบางเพรียง

10.5  สตรีมีการใช้ทักษะ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้เข้มแข็งและยั่งยืน มีเทคโนโลยีช่วยในการเพิ่มช่องทางที่จะส่งเสริมทางการตลาด ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก