ข้อสอบ วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ม. 2


ลักษณะของวัฒนธรรมไทย

วิดีโอ YouTube


        ความหมายของวัฒนธรรมมีหลายอย่าง เช่น หมายถึงขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ได้รับการปรุงแต่งให้ดีแล้ว หรือสิ่งที่ได้รับการยอมรับและยกย่องมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น ค่านิยม ความคิดเห็นวิทยาการต่าง ๆ เป็นต้น
        วัฒนธรรมไทยในแต่ละท้องถิ่น จะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ และยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ตลอดเวลา
        ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่สืบสานต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน มีวัฒนธรรมหลักที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย ได้แก่1. ศาสนา คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็มิได้กีดกันผู้ที่นับถือศาสนาอื่นแต่อย่างใด
2. ภาษา คนไทยมีภาษาและตัวอักษรไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.1826
        3. ประเพณีไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และได้สืบทอดกันมาจนถึงลูกหลาน ที่เรียกกันว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนั่นเองเช่น การไหว้ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นต้นสังคมไทยประกอบด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันออกไป
วัฒนธรรมของผู้คนจึงมีความแตกต่างกันออกไปในระดับต่าง ๆ ดังนี้
        1) วัฒนธรรมในระดับภูมิภาคของสังคมไทย แบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็น 4 ภาคใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้
            (1) วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน เช่น ประเพณีตานก๋วยสลาก ประเพณีปอยหลวง การกินขันโตก พิธีสืบชะตาเมือง เป็นต้น

            (2) วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมที่เก่าแก่ มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีผีตาโขน ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและหมอลำ เป็นต้น

            (3) วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง เนื่องจากอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีชีวิตผูกพันอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีทำขวัญข้าว การบูชาแม่โพสพ การลงแขกเกี่ยวข้าวและลำตัด เป็นต้น

            (4) วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประชากรมีความแตกต่างกันทางด้านศาสนาเป็นกลุ่ม ๆ มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมประเพณี จึงมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาค เช่น ประเพณีการชักพระ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ การเต้นรองเง็ง หนังตะลุง และรำมโนราห์ เป็นต้น

        2) วัฒนธรรมพื้นบ้านของสังคมไทย
        วัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะสืบทอดกันมาด้วยการพูดจา บอกเล่า สั่งสอน หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันและการรวมกลุ่ม รวมพลังกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันตามความเชื่อนั้น ๆ สามารถอธิบายได้ 4 ประเภท ได้แก่
            (1) มุขปาฐะต่าง ๆ เช่น ตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน สุภาษิต ที่ถือเป็นคติสอนใจการดำเนินชีวิต คำพังเพย ปริศนาคำทาย เพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น
            (2) ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม ความเชื่อมีทั้งความเชื่อดั้งเดิมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เช่น การนับถือผี เป็นต้น และความเชื่อที่มีเหตุผลตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมักเป็นแบบผสมผสานร่วมกัน
        (3) หัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ในแต่ละท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันไป ทั้งด้านการใช้วัสดุ เทคนิคและการถ่ายทอดสืบต่อกัน เช่น งานจักสาน งานถักทอ งานปั้น งานแกะสลัก และงานวาดภาพ เป็นต้น
        (4) ภาษาไทยพื้นบ้าน คนไทยทุกภาคส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นปกติ แต่มีสำเนียงและการใช้คำแตกต่างกันมากน้อยแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมใกล้เคียงด้วย ภาษาไทยพื้นบ้านที่ใช้กันอยู่ในกลุ่มท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ ภาษาล้านนา ภาษาไทยใหญ่ ภาษาไทยอีสาน ภาษาไทยภูเขา เป็นต้น
        วัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและพื้นบ้านของไทยมีความสำคัญที่ชาวไทยทุกคนควรช่วยกันฟื้นฟู ปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศชาติ เพื่อเป็นเอกลักษณ์คู่กับชาติไทยสืบไปวัฒนธรรมมาจากการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงไม่ควรดูถูกวัฒนธรรมของชาติอื่น
วัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมของประเทศในเอเชีย

วิดีโอ YouTube


วัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม
        ประชากร
            การกระจายของประชากร ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ กล่าวคือ บริเวณที่ประชากรเบาบางเป็นบริเวณที่แห้งแล้ง และหนาวเย็นเกินไป เช่น ในไซบีเรียและภาคกลางของทวีปหรือเป็นบริเวณที่เป็นภูเขาสูงสลับสับซ้อน ได้แก่ เขตทะเลทรายในเอเชียตะวันตกเฉียง ใต้ ส่วนบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ได้แก่ บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรและตามลุ่มแม่น้ำต่างๆ เช่น ลุ่มแม่น้ำฮวงโห ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำคงคา ลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ลุ่มแม่น้ำสินธุ เป็นต้น และในเกาะบางเกาะที่มีดินอุดมสมบรูณ์ เช่น เกาะของประเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น
        เชื้อชาติ ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดประกอบด้วยหลายเชื้อชาติด้วยกัน ได้แก่
            เชื้อสายมองโกลอยด์ แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวกมองโกลอยด์เหนือ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ได้แก่ ชาวทิเบต ชาวจีน ชาวญี่ปุ่น และชาวเกาหลี และพวกมองโกลอยด์ใต้ อยู่ทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียได้แก่ ชาวไทย พม่า ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งชนกลุ่มน้อยแถบภูเขาในประทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และชนกลุ่มน้อยในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เชื้อสายคอเคซอยด์ เป็นพวกผิวขาว หน้าตารูปร่างสูงใหญ่อย่างชาวยุโรปแต่ตาและผมมีสีดำ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้และทางภาคเหนือของอินเดีย ได้แก่ ชาวอาหรับ ชาวปากีสถาน ชาวอินเดีย และประชากรในประเทศเนปาล และภูฏาน
เชื้อสายนิกรอยด์ เป็นชาวเอเชียผิวดำ ได้แก่ ชาวพื้นเมืองทางภาคใต้ของอินเดีย (ดราวิเดียน) และชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในส่วนต่างๆของเอเชีย ได้แก่ พวกเงาะซาไก เซมัง ปาปวน ส่วนใหญ่พวกนี้มีรูปร่างค่อนข้างเล็ก ผมหยิก ได้แก่ประชากรที่อาศัยทางภาคใต้ของอินเดีย ในศรีลังกา ในคาบสมุทรมลายูและในหมู่เกาะต่างๆของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
        ภาษา ทวีปเอเชียมีภาษาที่ใช้กันนับพันภาษาซึ่งจำแนกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
            กลุ่มภาษาตุรคิก ใช้กันทางภาคใต้ของสหพันธรัฐรัสเซีย
            กลุ่มภาษาสลาวิกเป็นภาษาของชาวรัสเซียกลางและตะวันตกเฉียงใต้
            กลุ่มภาษาตุงกูสิก ใช้กันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
            กลุ่มภาษาจีน เป็นกลุ่มภาษาที่ประชากรส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียใช้พูดกัน และภาษาจีนกลุ่มอื่นๆซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในประเทศจีน เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น
            กลุ่มภาษาอินโด-อารยัน เป็นกลุ่มภาษาในเอเชียใต้
            กลุ่มภาษาอิเรเนียน เป็นกลุ่มภาษาที่ใช้พูดกันแถบที่ราบสูงอิหร่าน
            กลุ่มภาษาทิเบต-พม่า ได้แก่ภาษาทิเบต และภาษาของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
            กลุ่มภาษามองโกล ได้แก่ภาษามองโกเลีย และภาษาที่ใช้กันในไซบีเรียของสหพันธรัฐรัสเซีย
        ปัจจุบันนี้ภาษาในทวีปเอเชียบางกลุ่มมีผู้ใช้มากขึ้นเช่นภาษาของจีน โดยเฉพาะภาษาแมนดาริน ขณะเดียวกันภาษาบางกลุ่มกลับมีจำนวนผู้ใช้น้อยลง เช่นกลุ่มภาษาตุงกูสิกที่ใช้กันทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ส่วนอินเดียมีภาษาถิ่นมากมายและเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลานานรัฐบาลจึงให้ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฮินดีเป็นภาษาทางราชการ
        ศาสนา
            ศาสนาที่สำคัญของโลกทุกศาสนาต่างเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ซึ่งมีแหล่งกำเนิด ดังนี้
            เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นต้นกำเนิดของศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์และอิสลาม ศาสนายูดาย เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นต้นกำเนิดของ ศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลกขณะนี้ โดยได้เผยแผ่ไปสู่ยุโรป และซีกโลกตะวันตกอื่นๆและชาวยุโรปนำมาเผยแผ่สู่ทวีปเอเชียอีกครั้งหนึ่ง ศาสนาอิสลาม เกิดภายหลังศาสนาคริสต์ประมาณ 600 ปี เป็นศาสนาที่สำคัญของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนานี้ยังได้เผยแผ่เข้าสู่ภาคเหนือของอินเดีย ดินแดนทางตอนเหนือของอ่าวเบงกอล คาบสมุทรมลายู และประเทศอินโดนีเซียเอเชียใต้ เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู มีความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ของโลกเมื่อประมาณ 5000ปี และเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของชาวอินเดีย กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ส่วน พระพุทธศาสนาเกิดก่อนศาสนาคริสต์ประมาณ 500 ปี และถึงแม้จะเกิดในอินเดีย แต่ก็มีชาวอินเดียนับถือพระพุทธศาสนาน้อย แต่มีผู้นับถือกันมากในทิเบต ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และกัมพูชาเอเชียตะวันออก เป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิขงจื้อ เต๋า และชินโต ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่จีน ก็ปรากฏว่า หลักธรรมของศาสนาพุทธสามารถผสมผสานเข้ากับคำสอนของขงจื้อได้ดี ส่วนในญี่ปุ่นพระพุทธศาสนายังมีปัญหากับปรัชญาและความคิดในศาสนาชินโตอยู่บ้าง ลักษณะทางเศรษฐกิจ
        ทรัพยากรที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของทวีปเอเชีย ได้แก่ แร่ธาตุ เอเชียเป็นทวีปที่อุดมด้วยทรัพยากรแร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งกระจายอยู่ใน
ภูมิภาคต่างๆที่สำคัญมีดังนี้
            ถ่านหิน ทวีปเอเชียมีถ่านหินมากที่สุดในโลกคือ ประมาณ 3 ใน 5 ของปริมาณถ่านหินสำรองของโลก แหล่งสำคัญอยู่ในประเทศจีน อินเดีย ไซบีเรีย และในคาบสมุทรเกาหลี
            เหล็ก มีสินแร่เหล็กอยู่ถึง 2 ใน 3 ของปริมาณเหล็กสำรองของโลก แหล่งสำคัญมีในจีน อินเดีย
            ดีบุก ทวีปเอเชียผลิตแร่ดีบุกได้มากที่สุดในโลก ได้แก่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย
            ปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ ทวีปเอเชียเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญที่สุดในโลก แหล่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติได้แก่ บริเวณอ่าวเปอร์เชีย ทะเลเหลือง ทะเลจีนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีงามระหว่างกัน
        วัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยในการสร้างความสัมพันธ์อันดี
           1.วัฒนธรรมทางด้านศาสนา คือ การปฏิบัติตนตามหลักศาสนา เช่น เมื่อประเทศเพื่อนบ้านเดือดร้อนแล้วรีบให้ความช่วยเหลือ ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้        2.วัฒนธรรมทางด้านภาษา คือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางด้านภาษากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำความเข้าใจ และถ่ายทอดวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกขึ้น
        3.วัฒนธรรมด้านขนบธรรมเนียมประเพณี คือ การเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การจัดประเพณีไหลเรือไฟของชาวไทยและชาวลาว



        4.วัฒนธรรมทางด้านการศึกษา คือ การส่งเสริมให้ประชากรไทยได้มีการศึกษาเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลึกซึ้ง
        5.วัฒนธรรมด้านเนติธรรม คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีความสำคัญเสมอด้วยกฏหมายหรือการกระทำใดๆที่ไม่มีกฏหมายห้ามไว้แต่ผิดหลักศีลธรรม ความคล้ายคลึงและความแตกต่างของวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชีย
        ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ รากฐานทางวัฒนธรรมและการนับถือศาสนา ซึ่งจะสรุปให้เห็นเป็นภาพรวมได้ ดังนี้
        1. ศาสนา ศาสนาสำคัญที่เผยแผ่เข้ามาและได้รับการยอมรับนับถือจากชนชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ล้วนนับถือ ดังนั้นประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา ลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ของพม่า ลาว กัมพูชา ก็จะคล้ายคลึงกับคนไทย เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนตร์ไหว้พระ การให้ความเคารพพระสงฆ์ การนิยมให้บุตรหลานเข้ารับการอุปสมบท เป็นต้น
สำหรับประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีวัฒนธรรมแบบอิสลาม ประเทศฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนา ประเทศสิงคโปร์และเวียดนาม นับถือหลายศาสนา โดยนับถือลัทธิธรรมเนียมตามแบบจีนเป็นหลัก
        2. ภาษา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพูด เขียน คล้ายคลึงกับไทยก็คือ ลาวเพียงชาติเดียวเท่านั้น ส่วนชาติอื่น ๆ ก็จะใช้ภาษาของตน ไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยที่ภาษาอังกฤษและภาษาจีนจะเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อกันได้ทั่วทั้งภุมิภาค
        3. ประเพณี พิธีกรรม หากชาติใดที่มีรากฐานการนับถือศาสนาเป็นพระพุทธศาสนา ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะคล้ายคลึงกับของไทย เช่น การทำบุญเลี้ยงพระ การเวียนเทียนเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีเข้าพรรษา เป็นต้น ส่วนประเพณีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา พบว่าหากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ก็จะมีประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เพียงแต่รายละเอียดของการจัดพิธีจะแตกต่างกันออกไป
ขณะเดียวกันวัฒนธรรมไทยในการแสดงความเคารพ โดยการไหว้ของคนไทย ชาติเหล่านี้ก็จะมีธรรมเนียมการไหว้เช่นเดียวกัน
สำหรับชาติอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรุไน จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบอิสลาม เวียดนามกับสิงคโปร์จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบจีน และมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน ส่วนชาติที่มีแบบแผนประเพณี พิธีกรรมเหมือนอย่างตะวันตก คือ ฟิลิปปินส์
        4. อาหาร อาหารของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข้าว พืชผัก และเนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การปรุงอาหารโดยมากจะใช้เครื่องเทศประเภท กะทิ น้ำมันรสชาติจัดจ้าน โดยอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอยู่อย่างหลากหลาย สีสันดูน่ารับประทาน รสชาติเผ็ดร้อน ประเทศที่รับประทานอาหารไม่แตกต่างจากคนไทยก็ยังคงเป็นพม่า ลาว กัมพูชา ขณะเดียวกันก็มีอาหารจากชาติอื่น ๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามาเผยแพร่ด้วย
        5. การแต่งกาย ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไม่นับชุดพื้นเมืองและชุดประจำชาติแล้ว จะแต่งกายไม่แตกต่างกัน กล่าวคือสังคมเมืองในปัจจุบัน ผู้ชายสวมเสื้อ กางเกง ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง แต่ในชนบทผู้หญิงจำนวนมากก็ยังคงสวมใส่ผ้าซิ่นกันอยู่ ทั้งนี้ชุดประจำชาติของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่อดูแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าชุดแต่งกายนั้น ๆ เป็นของชนชาติใด
        กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมไทย เป็นสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย อย่างไรก็ตามประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีดินแดนติดต่อกัน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย จะมีวัฒนธรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกันหรือมีมติความเชื่อและประเพณีที่เหมือนหรือคล้ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศาสนา เช่น พระพุทธศาสนา เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ส่วนศาสนาอิสลามในมาเลเซีย ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับจังหวัดชายแดนทางภาคใต้แต่กลับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไป เช่น สิงคโปร์ บรูไน ก็จะทำให้มีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างกับของไทย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติแล้ว วัฒนธรรมยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ความรู้สึกเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก