ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ

สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

  การปกครองระบอบเผด็จการมีหลักการสำคัญคือ การควบคุมอำนาจ และเสรีภาพด้านต่างๆของประชาชน โดยทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เพื่อตีกรอบสังคมให้อยู่ในระเบียบแบบแผนตามที่ผู้นำประเทศได้กำหนด

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ตัวชี้วัด

  ส 2.2 ม. 3/1 อธิบายระบอบการปกครองแบบต่างๆ ที่ใช้ในยุคปัจจุบัน

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. นักเรียนสามารถอธิบายความหมายและหลักการของการปกครองระบอบเผด็จการได้อย่างถูกต้อง

2. นักเรียนสามารถตีความหลักการปกครองระบอบเผด็จการได้อย่างมีเหตุผล

3. นักเรียนอภิปรายถึงความสำคัญของหลักการการปกครองระบอบเผด็จการต่อสังคมได้อย่างมีเหตุผล

การวัดผลและประเมินผล

1. วิธีการ

  1.1 สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้

  1.2 ถาม – ตอบ

   1.3 ทำใบงานที่ 34

2. เครื่องมือ

   2.1 แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน

   2.2 คำถาม

  2.3 ใบงานที่ 34

3. เกณฑ์

  3.1 ตอบคำถามถูกต้อง

  3.2 ผ่านเกณฑ์ในระดับพอใช้ขึ้นไป

ระบอบเผด็จการ
        ระบอบเผด็จการ มีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียว หรือคณะเดียวหรือพรรคเดียว โดยบุคคล หรือคณะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้อำนาจนั้นควบคุมบังคับประชาชนได้โดยเด็ดขาด หากประชาชนคนใดคัดค้านผู้นำหรือคณะผู้นำก็จะถูกลงโทษให้ทำงานหนักหรือถูกจำคุก
ระบอบเผด็จการมี 3 แบบ คือ เผด็จการทหาร เผด็จการฟาสซิสต์ และเผด็จการคอมมิวนิสต์ ดังต่อไปนี้
        1. ระบอบเผด็จการทหาร หมายถึง ระบอบเผด็จการที่คณะผู้นำฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม (ผ่านทางพลเรือนที่พวกตนสนับสนุน) และมักจะใช้กฎอัยการศึกหรือรัฐธรรมนูญที่คณะของตนสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยทั่วไปคณะผู้นำทหารมักจะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราว ระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือหลังจากล้มเลิกระบอบประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดภัยคุกคามบางอย่างต่อความมั่นคงของรัฐ ส่วนมากแล้วเมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ สงบลง คณะผู้นำทางทหารก็มักจะอ้างสาเหตุต่าง ๆ นานาเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศต่อไปอีก ไม่ยอมที่จะคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนโดยง่าย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหภาพพม่าในปัจจุบันนี้เป็นต้น แต่ทว่าเมื่อเวลายิ่งผ่านเนิ่นนานออกไปกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนรวมทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ ก็จะทำให้คณะผู้นำทางทหารกุมอำนาจการปกครองไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็จำเป็นต้องคืนอำนาจให้ประชาน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ในบางประเทศก็เกิดความวุ่นวาย มีการต่อสู้ระหว่างกำลังของประชาชนกับกำลังของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการปกครองที่ผ่านมา มักจะจบลงโดยชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาชน เช่นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่โรมาเนีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ตัวอย่างของการปกครองแบบเผด็จการทหาร เช่น การปกครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นระยะที่พลเอกโตโจและคณะนายทหารใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง หรือการปกครองของไทยระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ในระหว่างวันที่ 20ตุลาคม 2501 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 อำนาจการปกครองประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ ซึ่งนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ส่วนในปัจจุบัน(พ.ศ. 2541) ก็มี เช่น การปกครองของสหภาพพม่าภายใต้การนำของพลเอกตาน ส่วย เป็นต้น
        2. ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่ผู้นำคนหนึ่ง  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจและกองทัพให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ ผู้นำในระบอบการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์มักจะมีลัทธิการเมืองที่เรียกกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิชี้นำในการปกครอง และมุ่งที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการถาวร โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบนี้เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยให้ประเทศของตนมีความเจริญก้าวหน้าโดยเร็ว ตัวอย่างของการปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เช่น การปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินีเป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2473 – 2486 การปกครองของเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2476 – 2488 หรือการปกครองของสเปนสมัยจอมพลฟรังโกเป็นผู้นำระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2518 เป็นต้น
        3. ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่พรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวได้รับการยอมรับ หรือสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ และกองทัพให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยทำให้ชนชั้นกรรมาชีพ เป็นอิสระจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุน รวมทั้งทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า และเข้มแข็งทัดเทียมกับต่างประเทศได้เร็วกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีความแตกต่าง จากระบอบเผด็จการทหารอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบอบเผด็จการทหารจะควบคุมเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น แต่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์จะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมละการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ด้วยเหตุนี้นักรัฐศาสตร์จึงเรียกระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อีกอย่างหนึ่งว่า ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
หลักการของระบอบเผด็จการ
           1. ผู้นำคนเดียวหรือคณะผู้นำของกองทัพ หรือของพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียวมีอำนาจสูงสุด และสามารถใช้ อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ
           2. การรักษาความมั่นคงของผู้นำหรือคณะผู้นำ มีความสำคัญกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่ จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้นำอย่างเปิดเผยได้
           3. ผู้นำหรือคณะผู้นำสามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต หรือนานเท่าที่กลุ่มผู้ร่วมงานหรือกองทัพยังให้การสนับสนุน ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้นำได้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ
           4. รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการ ทางการปกครองเหมือนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแต่เพียงรากฐานรองรับอำนาจของผู้นำหรือคณะผู้นำเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้สมัครที่ผู้นำหรือคณะผู้นำส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน รัฐสภาก็จะประชุมกันปีละ 5 – 10 วัน เพื่อรับทราบและยืนยันให้ผู้นำหรือคณะผู้นำทำการปกครองต่อไป ตามที่ผู้นำหรือคณะผู้นำเห็นสมควร
ข้อดีและข้อเสีย ของระบอบเผด็จการ
ข้อดีของระบอบเผด็จการ ได้แก่
1. รัฐบาลสามารถตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เช่น สามารถออกกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในรัฐสภา ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำหรือคณะรัฐมนตรีมักจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาไว้ล่วงหน้าให้ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับบางอย่างได้เอง
2. แก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิผลกว่าระบอบประชาธิปไตย เช่น สั่งการปราบการจลาจล การก่ออาชญากรรม และการก่อการร้ายต่าง ๆ ได้อย่างเฉียบขาดมากกว่า โดยไม่จำต้องเกรงว่าจะเกินอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ เนื่องจากศาลในระบอบเผด็จการไม่ได้มีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีเหมือนในระบอบประชาธิปไตย
ข้อเสียของระบอบเผด็จการ ได้แก่
1. เป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ซึ่งย่อมจะมีการผิดพลาดและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องได้โดยไม่มีใครรู้หรือกล้าคัดค้าน
2. มีการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งประทุษร้ายต่อชีวิตของคนหรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ปกครอง
3. ทำให้คนดีมีความสามารถที่ไม่ใช่พวกพ้อง หรือผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ปกครองไม่มีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง
4. ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่และขาดสิทธิเสรีภาพ ย่อมจะไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่และอาจพยายามต่อต้านอยู่เงียบ ๆ หรือมิฉะนั้นบางคนก็อาจจะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นพวกปัญญาชน ทำให้ประเทศชาติขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ
5. อาจนำประเทศชาติไปสู่ความพินาศได้ เหมือนดังฮิตเลอร์ได้นำประเทศเยอรมนี หรือพลเอกโตโจได้นำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผลปรากฏว่าทั้งสองประเทศประสบความพินาศอย่างย่อยยับ หรือตัวอย่างเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เห่งอิรัค ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศคูเวต และไม่ยอมถอนตัวออกไปตามมติขององค์การสหประชาชาติ จนกองกำลังนานาชาติต้องเปิดฉากทำสงครามกับอิรักเพื่อปลดปล่อยคูเวต และผลสุดท้ายอิรักก็เป็นฝ่ายปราชัยอย่างย่อยยับ ทำให้ประชาชนชาวอิรักต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ทั้งนี้เป็นเพราะการตัดสินใจผิดพลาดของผู้นำเพียงคนเดียว
        เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการต่างก็มีข้อดีและข้อเสียดังกล่าว จึงทำให้ชนชั้นนำและประชาชนจำนวนหนึ่งในประเทศต่างๆ เลือกใช้ระบอบการปกครองที่พวกตนคิดว่าเหมาะสมกับประเทศของตนในขณะนั้น และสามารถช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศของตนตามแนวทางที่พวกตนเชื่อได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา บางประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของตนจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน เป็นต้น ส่วนบางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบเผด็จการทหาร เช่น พม่า นิการากัว เอธิโอเปีย เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน บางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หรือเผด็จการทหารเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เช่น เกาหลีเหนือ เป็นต้น
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
        สังคมทุกสังคมจะเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นได้ ย่อมต้องมีระเบียบวินัยและผู้นำของสังคมเป็นหลักในการปกครอง ผู้นำของสังคมระดับประเทศโดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทรงมิได้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง แต่มีองค์การหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ กันไป พระราชอำนาจทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฐานะประมุขของรัฐ หรือในฐานะอื่น ได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ

      //sites.google.com/site/kruchaiyooooo/rabxb-karmeuxng-kar-pkkhrxng/3-rabxb-phedckar

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก