ประโยชน์ของการศึกษาพระไตรปิฎก

โครงการพระไตรปิฎกศึกษาเพื่อประชาชนถือเป็นความพยายามครั้งหนึ่ง ที่จะทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งมีเนื้อหามาก มีความละเอียดลุ่มลึก ประกอบกับบริบทที่แตกต่าง ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกผ่านระยะเวลาอันยาวนาน และอาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาได้นั้น มีความน่าสนใจและง่ายต่อการเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เยาวชน โดยการนำเอารูปแบบและวิธีการศึกษาในปัจจุบัน มาประยุกต์ให้พอเหมาะสมกับองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก เสมือนเป็นการแนะนำชักชวนให้เกิดความสนใจที่จะใฝ่ศึกษา เห็นประโยชน์และคุณค่าของพระไตรปิฎกที่จะเกิดขึ้นกับตนเองเมื่อได้ศึกษาและนำไปประพฤติปฏิบัติตนต่อไป

ถ้าอ่านพระไตรปิฎก จะรู้เรื่องคน เรื่องเหตุการณ์สังคมในยุคนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะไม่มีคัมภีร์ของศาสนาไหน บันทึกไว้ละเอียดลออหรือกว้างขวาง เหมือนพระไตรปิฎก

อาจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม

วัตถุประสงค์

  • เพื่อศึกษาเรียนรู้ ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
  • เพื่อศึกษาเรียนรู้ ระบบ และความสำคัญของพระไตรปิฎก
  • เพื่อศึกษาเรียนรู้เนื้อหา และสาระสำคัญของพระไตรปิฎก
  • เพื่อให้สามารถแนะนำพระไตรปิฎกแก่ผู้สนใจทั่วไปได้

ประโยชน์ที่คาดหวังจากการศึกษาคือ เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมา และความสำคัญของพระไตรปิฎก รู้จักลักษณะของเนื้อหา รวมถึงวิธีการทำความเข้าใจพระไตรปิฎก และสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นเรื่องพระไตรปิฎกแก่ผู้สนใจต่อไปได้

จึงได้มีการจัดทำหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ขึ้น โดยได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นตอนสั้น ๆ และจัดให้มีการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพระไตรปิฎก เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง แก่ผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ต่อไป

นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ

นิทรรศการ พระไตรปิฎกนานาชาติ ที่ ติปิฏกสิกขาลัย วัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

นิทรรศการ “พระไตรปิฎกนานาชาติ” จัดขึ้น ณ ติปิฏกสิกขาลัย วัดจากแดง ในวันที่ 13 กันยายน 2563 เนื่องในโอกาสงานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารติปิฏกสิกขาลัย และจัดแสดงต่อเนื่องไปจนถึงวัน ที่ 18 ตุลาคม 2563

การจัดนิทรรศการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ภิกษุ สามเณร ได้ศึกษาเรียนรู้เกิดความเข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร และสามารถเข้าถึง องค์ความรู้ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก ผ่านสื่อมัลติมีเดีย, พระไตรปิฎกฉบับสําหรับประชาชน และ กิจกรรม ต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ทําให้ตระหนักถึงคุณค่าความสําคัญของพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บันทึกรวบรวมพระ ธรรมวินัย อันได้แก่คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา และเป็นองค์พระ ศาสดาของชาวพุทธทั้งปวง

ตัวอย่างภาพนิทรรศการ แสดงถึงประวัติความเป็นมาของพระไตรปิฎก

ผลจากการจัดนิทรรศการได้มีผู้สนใจเข้าชมเป็นจำนวนมากจากประชาชนทั่วไป และการทัศนศึกษาของนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ จากโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับทั้งความรู้ ความสนุกสนาน และแรงบันดาลใจ

นอกจากภาพนิทรรศการ สื่อผสมมัลติมีเดีย และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดในนิทรรศการแล้ว มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน ยังได้แต่งเพลงสำหรับเด็ก ๆ ให้ได้ฟังและร่วมร้องทำกิจกรรมในงานอีกด้วย

  • เพลงพระไตรปิฎก สำหรับเกมตอบคำถาม
  • เพลงพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน
  • เพลงบรรเลงในห้องนิทรรศการ

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 285

[๒๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษ บางพวกในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ โมฆบุรุษเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้วย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแห่งโมฆบุรุษเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญาโมฆบุรุษเหล่านั้น ข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ หมายเปลื้องคํากล่าว ร้ายของผู้อื่นเป็นอานิสงส์ จึงเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด โมฆบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้น อันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีความต้องการด้วยงูพิษ เสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขนหรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตายหรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้นเป็นเหตุเพราะอะไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว แม้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย พวกโมฆบุรุษ บางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ ... อัพภูตธรรม อวทัลละ โมฆ บุรุษเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแห่งโมฆะบุรุษเหล่านั้น

ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นหมายข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ หมายเปลื้องคํากล่าวร้ายผู้อื่นเป็นอานิสงส์ จึงเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด โมฆบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้น อันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว.

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก